xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ชี้เศรษฐกิจไทยโตช้า เสี่ยงถดถอยเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) (KBANK) เปิดเผยในการสัมมนา 'วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่จัดขึ้นโดยธนาคารกสิกรไทย' ว่า ในปีนี้ธนาคารได้คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในกรณีฐานที่ระดับ 3.1% และหากรวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตการเติบโตจะอยู่ที่ 3.6% จากปี 2566 ที่คาดการณ์จีดีพีไทยเติบโต 2.5% แต่ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือ ตลาดเห็นโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 15%

"เศรษฐกิจไทยในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เราโตช้าถ้าเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจประเทศอื่น สิ่งที่เราขาด คือ การลงทุนภาคเอกชน หากเรามีแค่มาตรการมากระตุ้นก็คงช่วยได้แค่ในระยะสั้น เราต้องปรับโครงสร้างในหลายด้านเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว ซึ่งเห็นได้จากปีก่อนต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง เพราะการลงทุนเอกชนลดลง ซึ่งการลงทุนเอกชนคิดเป็น 18% ต่อจีดีพี ส่วน EPS โตอยู่ที่ 6.7% ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับอดีต และเพื่อนบ้าน ดังนั้น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ"

ส่วนปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับไม่เกิน 40,000 ล้านดอลลาร์ มาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งในขณะนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการออกมาตรการสกัดไม่ให้เงินบาทแข็งค่าจนเกินไป ส่วนการที่ธปท. มองว่าดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทำให้ตลาดคาดว่า ใน 1 ปีดอกเบี้ยจะทรงตัว และไม่เปลี่ยนการคาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยจะลงได้ลึก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้น ธนาคารคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 2/24 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน โดยคาดว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแตะระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้

"เราต้องดูเฟดว่าจะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยที่ชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ดี ฟันด์โฟลว์คงไม่ไหลมาภูมิภาคนี้ แต่หากบอนด์ยิลด์ต่ำฟันด์โฟลว์จะไหลกลับมา โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนปลายไตรมาส 2 นี้ สิ่งที่สำคัญคือ ไทยต้องมีแรงดึงดูดมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจีดีพี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุน ถ้าไม่มีการลงทุนภาคเอกชนก็คงไม่เกิด กำไรบริษัทจดทะเบียนจะลดลงในอนาคต ซึ่งปัจจุบันฟันด์โฟลว์จากต่างชาติมองว่าจะยังไหลออกจากไทยอย่างต่อเนื่อง หลังไทยยังไม่มีความชัดเจน และมีความไม่แน่นอนทั้งเรื่องการเติบโตของจีดีพี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และระยะยาว ตลอดจนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และการลงทุนภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยต่างๆ อาจปรับคาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทยลงในที่สุด

สำหรับเศรษฐกิจโลก นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ยังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งความไม่แน่นอนจากนโยบายดอกเบี้ยในธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ปัญหาเงินเฟ้อ และความขัดแย้งในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลกระทบต่อการค้าโลก รวมไปถึงจีนที่เจอปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจจีนอ่อนแอ ซึ่งหากทางจีนยังไม่มีมาตรการ หรือการแก้ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อดุลการค้าไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น