xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเครดิตขาย IPO ที่ 28.00-29.00 บาท ระดมทุน 1 หมื่นล้าน จองซื้อวันที่ 23-26 ม.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ธนาคารพาณิชย์ที่เข้ามาระดมทุนในรอบ 10 ปี โชว์กลยุทธ์การเติบโตในงาน IPO Public Roadshow พร้อมเดินหน้าเสนอขายหุ้นไอพีโอ “CREDIT” รวมจำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมสู่เส้นทางแห่งการลงทุนกับธนาคารไทยเครดิต โดยจัดสรรหุ้นไอพีโอให้นักลงทุนรายย่อยร่วมจองซื้อวันที่ 23-26 มกราคมนี้ กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น 28.00-29.00 บาท/หุ้น ผ่าน 10 บริษัทหลักทรัพย์และธนาคารชั้นนำ โดยนักลงทุนรายย่อยจะชำระเงินที่ราคา 29.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาเสนอขายสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น และจะได้รับคืนส่วนต่างค่าจองซื้อคืนหากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคา 29.00 บาทต่อหุ้น ขณะที่มีผู้ลงทุนสถาบัน Cornerstone Investors สนใจเข้ามาลงทุนคิดเป็นประมาณ 40% ของหุ้น IPO

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) (CREDIT)
กล่าวในงานนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน (Road show) การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ว่า ปัจจุบันธนาคารไทยเครดิต เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร กลุ่มลูกค้าดังกล่าวมีจำนวนมากและถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ธนาคารไทยเครดิตถือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มี NIM (Net Interest Margin) สูงสุดในอุตสาหกรรมที่ 8.2% มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม และอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงสุดในอุตสาหกรรม

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563-2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370.9 ล้านบาท 8,493.6 ล้านบาท 11,052.4 ล้านบาท และ 9,783.8 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 1,372.9 ล้านบาท 1,935.0 ล้านบาท 2,352.5 ล้านบาท และ 2,816.7 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) เท่ากับ 18.0% 20.7% 18.9% และ 21.8% ตามลำดับ สำหรับปี 2563-2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารมีจำนวนเท่ากับ 68,562.4 ล้านบาท 97,728.7 ล้านบาท 121,298.0 ล้านบาท และ 138,435.1 ล้านบาท ตามลำดับ อัตราเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 33.0% ต่อปี (2563-2565) โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคาร ทั้งสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย และสินเชื่อบ้าน มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ 4% ซึ่ง 60% ของ NPL ได้รับการค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ทั้งนี้ การเข้ามาระดมทุนในครั้งนี้จะเพิ่มศักยภาพในการบริหารงาน โดยวัตถุประสงค์การระดมทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคาร เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ รวมทั้ง การปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และวัตถุประสงค์อื่นๆ โดยมีธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

"เราเริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2550 รวม 17 ปี โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนและแตกต่างเป็นกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการรายย่อยมีลูกจ้างแค่ 3-50 คน หรือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลทางการเงินที่ไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงถือเป็นตลาดที่มียังมีโอกาสเติบโตสูง ขณะเดียวกัน ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างดี พร้อมได้นำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อการบริหารความเสี่ยง และการบริหารจัดการต้นทุน โดยปัจจุบัน 80% ของพอร์ตสินเชื่อเป็นกลุ่มสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย"

นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคาร และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.2 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคาร กำหนดช่วงราคาขายเบื้องต้นที่ 28.00-29.00 บาทต่อหุ้น มีมูลค่าการเสนอขาย 9,716-10,063 ล้านบาท และคาดว่าจะเข้าซื้อขาย 9 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลปี 2567-2570 ที่ 5-20% ของกำไรสุทธิ หลังจากนั้นเป็นไปตามนโยบายของธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิตมีนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนธนาคารไทยเครดิต รูปแบบผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors รวมจำนวน 6 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณไม่เกิน 140,352,490 หุ้น ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมด สะท้อนความเชื่อมั่น ประกอบด้วยผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในประเทศ จำนวนประมาณไม่เกิน 23,646,600 หุ้น คือ 1.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 2.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด และ 3.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จำกัด เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในต่างประเทศ จำนวนประมาณไม่เกิน 116,705,890 หุ้น คือ 1.บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation (IFC)) 2.ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) และ 3.E.SUN Commercial Bank, Ltd.

ธนาคารเตรียมเปิดให้จองซื้อสำหรับนักลงทุนรายย่อย ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม 2567 และเตรียมเปิดให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ 31 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2567 ผ่านช่องทางบริษัทหลักทรัพย์ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย 3 ราย คือ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จํากัด บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

"แม้ว่าภาวะตลาดในช่วงนี้จะผันผวน แต่ไม่บ่อยนักที่จะมีธนาคารพาณิชย์เข้ามาซื้อขายในตลาด และจากที่มีนักลงทุนสถาบันอยากเข้ามาลงทุนในสัดส่วนถึง 40% สะท้อนถึงความเชื่อมั่น ดังนั้น แม้ว่าตลาดจะผันผวน แต่ยังเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนจะได้เข้าลงทุนในหุ้นธนาคารพาณิชย์ได้ในรอบหลายปี"
กำลังโหลดความคิดเห็น