นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ม.ค.) ที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.60 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.29-35.45 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด Christopher Waller ยังคงย้ำจุดยืนว่า เฟดอาจยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วอย่างที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันเงินบาทในช่วงนี้เช่นกัน ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทถูกชะลอลงบ้างจากแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทว่าควรจับตาอย่างใกล้ชิดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ชัดเจน หรือไม่ เพราะการปรับตัวอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงโซน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทได้ผันผวนอ่อนค่าแรงกว่าที่เราประเมินไว้พอสมควร ทำให้เราต้องปรับมุมมองใหม่ว่า ในช่วงนี้เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก หลังผู้เล่นในตลาดได้ทยอยคลายกังวลต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเรามองว่าปัจจัยสำคัญที่อาจกดดันเงินบาท คือ ทิศทางเงินดอลลาร์ บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ และทองคำ ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ว่าจะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอย่างไร
โดยหากผู้เล่นในตลาดเลิกเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึก (อาจเห็นโอกาสการลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ลดลงต่ำกว่า 50%) อาจหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ กดดันเงินบาทและราคาทองคำ โดยเงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทะลุระดับแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวชัดเจนจะเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงโซน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ทั้งนี้ ในส่วนการประเมิน Valuation ของเงินบาท เราพบว่าแถวโซน 35.80-36.00 บาทต่อดอลลาร์ เงินบาทถือว่าอยู่ในระดับที่ Undervalued พอสมควร (Z-score ของ REER ต่ำกว่า -0.75) ทำให้โซนดังกล่าวอาจเป็นจุดกลับตัวในระยะสั้นของเงินบาทได้
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทยังไม่ชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น ซึ่งเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก (แนวรับถัดไปคือ 35.00 บาทต่อดอลลาร์)
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน เช่น อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือน เช่น ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production)
ส่วนทางฝั่งยุโรป รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษและยูโรโซน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดของผู้เล่นในตลาด ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของทั้ง ECB และ BOE ได้