นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO)แจ้งผลการดำเนินงานงวดประจำปี 2566 มีกำไรสุทธิ 7,302 ล้านบาท จากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 7,224 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 1.07%
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับงวดปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 7,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับปี 2565 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อที่ขยายตัวถึง 7.2% ในกลุ่มสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มธุรกิจจำนำทะเบียนผ่านช่องทาง “สมหวัง เงินสั่งได้” ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.6% แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 93.9% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาด และการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุน FIDF กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 6.4% จากธุรกิจตลาดทุนที่ผันผวนรุนแรง ทั้งค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลงอย่างมาก รวมถึงการรับรู้ผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน (FVTPL) ประกอบกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ชะลอตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.7% ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนตามแผนการเติบโตในระยะยาวของบริษัท ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) อยู่ที่ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย โดยมีอัตราส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ที่ 189.8% เพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงในปัจจุบันและการคาดการณ์ในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับงวดปี 2566 อยู่ที่ 17.1%
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 234,815 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% จากปี 2565 จากสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ที่เติบโตถึง 33% ที่เน้นการเติบโตในลูกค้ากลุ่มธุรกิจพลังงาน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียน “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่เพิ่มขึ้นกว่า 25% จากแผนการเปิดเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อชะลอตัวจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรถยนต์ ในส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.22% ของสินเชื่อรวม ส่วนหนึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตไปยังกลุ่มสินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทนสูง ประกอบกับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง โดยบริษัทยังคงดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง พร้อมติดตามและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ประกอบกับการบริหารความเสี่ยงและตั้งสำรองอย่างรัดกุม
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.3% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.9% และ 3.5% ตามลำดับ
นายศักดิ์ชัยกล่าวอีกว่า ในปี 66 ถือว่าเป็นปีที่มีความท้าทาย โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากดอกเบี้ยขาขึ้นและการกลับมาจ่ายเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินสู่ระดับเดิมที่ 0.46%ทำให้ต้นทุนเงินทุนเพิ่มขึ้นกว่า 90% ทำให้ NIM ลดลงเล็กน้อย รวมถึงค่าใช้จ่ายโดยรวมที่สูงขึ้นได้รับผลกระทบจากการขยายสำนักอำนวยสินเชื่อในต่างจังหวัดประมาณ 200 แห่งตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งจะช่วยการเติบโตในอนาคตต่อไป ทำให้กำไรสุทธิในปีนี้เติบโตเล็กน้อย