นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 34.50-35.25 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้ (15 ม.ค.) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.15 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในกรอบ 34.87-35.15 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ซึ่งพอดัชนี PPI ออกมาชะลอลงต่อเนื่องและต่ำกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดพอคลายกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจชะลอลงช้า จนทำให้เฟดไม่รีบลดดอกเบี้ยตามคาด โดยภาพดังกล่าว ได้กลับมากดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงและหนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ทำให้เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ทั้งนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ หลังเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงขึ้น
สัปดาห์ที่ผ่านมา การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และของไทยได้ส่งผลให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน พร้อมจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และการแถลง Policy Briefing ของธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าการอ่อนค่าอาจเริ่มชะลอลงหลังราคาทองคำรีบาวนด์ขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงขึ้น ทว่า เงินบาทอาจผันผวนไปตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งต้องติดตามการแถลง Policy Briefing ของ ธปท. ในวันจันทร์นี้ และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ควรรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) และสกุลเงินเอเชียได้พอสมควร
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราคงมองว่าเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ จนทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟด
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม เช่น Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward