xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) ปัญหาหนี้ ITD ส่อลาม จับตาแผนแก้ไขภาครัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อตลาดหุ้นกู้ยังปั่นป่วน จับตาวิกฤต “อิตาเลียนไทย” ไร้เงินปิดหนี้หุ้นกู้ 5 ล็อตใหญ่ เมื่อทุนหมุนเวียนมีปัญหา กระทบความเชื่อมั่นโครงการในมือ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน แถมแผนแก้ไขยิ่งทำให้ D/E พุ่ง ทำให้คิดถึง “เปรมชัย” ล่าสุดทุกฝ่ายเฝ้าติดตามมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นจากภาครัฐ หลังทั่วตลาดผวา คาดความปั่นป่วนยังไม่จบแค่นี้ จ่อลุกลามปัญหาหนี้ ITD ส่อลาม

สถานการณ์ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) ณ เวลานี้ดูเหมือนจะไม่ใช่สถานการณ์ของบริษัทเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่มันกลับเป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายให้ความใส่ใจ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นมันลามเป็นวงกว้างมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยในปัจจุบัน

เหตุการณ์ในครั้งนี้เริ่มจาก ITD ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า หุ้นกู้ 5 รุ่นของบริษัทจะขยายเวลาออกไปอีก 2 ปี ได้แก่ รุ่น ITD24DA มูลหนี้ 2,455 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5.8% รุ่น ITD24DB มูลหนี้ 1,215 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% รุ่น ITD242A มูลหนี้ 2,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.25% รุ่น ITD254A มูลหนี้ 6,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.5% และรุ่น ITD266A มูลหนี้ 2,785 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6.20% โดยทั้ง 5 รุ่นนั้นมีมูลค่ารวมกัน 14,455 ล้านบาท

งานนี้ ITD มีแผนที่จะขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี แลกกับเงื่อนไขในปีแรก บริษัทจะเพิ่มดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.25% ต่อปี และเพิ่มดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.50% ในปีที่ 2 โดยจะชำระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเพียงครั้งเดียวในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่ ทำให้ ITD ต้องมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 108.4125 ล้านบาท จากเดิมที่มีภารดอกเบี้ยจ่ายทั้งสิ้น 810.81 ล้านบาท ซึ่งแผนดังกล่าวจะดำเนินการได้ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ในวันที่ 17 ม.ค.2567 ปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบมาถึง ITD แล้วโดยเฉพาะราคาหุ้นที่ลดลงอย่างหนัก

แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อจากนี้ นั่นคือ เมื่อการลงทุนในหุ้นกู้ปัจจุบันเจอวิกฤตปัญหา ถือเป็นวิกฤตที่ต่อเนื่องมาจากปี 2566 นั่นย่อมทำให้ความน่าสนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทยถดถอยลงตามไปด้วย เพราะสถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นนักลงทุน

และอาจทำให้การออกจำหน่ายหุ้นกู้รุ่นใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน (Roll Over) ของ ITD และบริษัทจดทะเบียนแห่งอื่น มีความเสี่ยงที่จะไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อนักลงทุนชะลอเข้าลงทุนในหุ้นกู้ รวมไปถึงอาจลุกลามไปการซื้อขายหุ้นโดยรวมบนกระดานหลักทรัพย์ด้วยเช่นกัน

ทุนหมุนเวียนมีปัญหา 

ชนวนเหตุของปัญหาในครั้งนี้ ITD แจงว่า ในปี 2566 มีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท เช่น สถานการณ์สงครามในต่างประเทศ ราคาวัสดุ และน้ำมันที่สูงขึ้น การประกาศขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลต่อต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลล่าช้า ส่งให้โครงการภาครัฐต่างๆ ที่ชะลอตัวลงจากแผนงานเดิม ทำให้บริษัทมีปริมาณงานลดลงไม่เป็นไปตามประมาณการ

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ITD ต้องเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ ทั้งเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอผ่อนผันการชำระหนี้ และเลื่อนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท รวมไปถึงการขอกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำมาใช้ในโครงการงานต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยบริษัทคาดหวังหากประสบความสำเร็จ จะทำให้บริษัทผ่านพ้นปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

กระทบโครงการในมือ 

ดังนั้น การขาดสภาพคล่องด้านทุนหมุนเวียนของบริษัท ยังลุกลามไปถึงศักยภาพในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ในมือ เพราะผู้ว่าจ้างบางโครงการเริ่มสงสัยว่า ITD จะดำเนินงานของตนให้แล้วเสร็จได้ตามกำหนดของระยะเวลาในแต่ละโครงการได้หรือไม่

มีรายงานว่า ปัจจุบัน ITD มีโครงการในมือ (Backlog) รวมกันสูงถึง 370,000 ล้านบาท โดยโครงการที่มีผลชี้วัดสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และอนาคตของบริษัท ได้แก่ 

1.โครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง (สัญญา 3) วงเงิน 4,814 ล้านบาท 

2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 92,512 ล้านบาท 

3.โครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (สัญญา 1) วงเงิน 22,347 ล้านบาท 

4.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนกรุงเทพฯ หนองคาย เฟสแรก (สัญญา 4-5) วงเงิน 9,264 ล้านบาท

5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม งานโยธาส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) งานเดินรถทั้งระบบ (มีนบุรี-บางขุนนนท์) มูลค่า 140,000 ล้านบาท 6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 78,000 ล้านบาท และ 7.งานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค ของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จังหวัดชลบุรี วงเงิน 7,387 ล้านบาท เป็นต้น

ตัวเลข D/E อ่วม! 

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ผู้ถือหุ้นของ ITD ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอด้วย นั่นคือ เมื่อมีการเลื่อนชำระหนี้ และมีการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่ม ย่อมอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น

สิ่งนี้ทำให้ ITD ต้องการขอผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ration) ตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิโดยให้มีผลตั้งแต่สิ้นปี 2566 จนถึงรอบบัญชีปี 2568 และผ่อนผันให้บริษัทดำเนินการเจรจาหรือเข้าทำสัญญากับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดสิทธิของ ITD ระบุไว้ว่า ต้องมีอัตราส่วน D/E Ratio ไม่เกิน 3 เท่า

โดย ITD แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ขณะนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งกำลังพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่บริษัท ซึ่งจะมีผลกระทบกับข้อกำหนดสิทธิในการดำรงอัตราส่วน D/E Ratio ณ ไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 2.893 เท่า แต่หากได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่ จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวสูงกว่า 3 เท่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามอง

ศักยภาพ ITD เมื่อไร้ “เปรมชัย” 

หากย้อนดูงบการเงินของ ITD ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง ยกเว้นช่วง 9 เดือนปี 2566 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 379 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการขายสินทรัพย์ออกไปจึงทำให้งบมีกำไร ขณะที่งบปีอื่นๆ ขาดทุนสุทธิทุกปี เริ่มตั้งแต่ ปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) กำไรสุทธิ 379 ล้านบาท ปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 4,759 ล้านบาท ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 155 ล้านบาท ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,104 ล้านบาท และปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 37.34 ล้านบาท

จากสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัท ทำให้หลายฝ่ายมองว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของ ITD เริ่มขึ้นจากศาลทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกล่าวหานายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ ITD กรณีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก หรือ “คดีเสือดำ” มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี 14 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เมื่อธันวาคม 2564 โดยต้องยอมรับว่าการขาดหัวเรือใหญ่มีผลต่อการดำเนินงานของบริษัท อย่างมีนัยสำคัญ 

ผลกระทบทั้งหัวและก้อย 

นั่นเพราะเงินกู้ที่ ITD ต้องการขยายเวลาอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของเจ้าหนี้ โดยเฉพาะหากเม็ดเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ยืมมาอีกทีเพื่อปล่อยกู้ นั่นหมายถึงไม่เฉพาะแต่ ITD เพียงบริษัทเดียวที่วิกฤต แต่อาจลุกลามไปถึงบรรดาสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้บริษัท

ขณะเดียวกัน หากไม่เป็นไปตามที่ ITD คาดหวังไว้ อาจเกิดการ Default หรือการเกิดกระบวนการเรียกให้ชำระหนี้โดยพลัน (Call Default) ซึ่งหากเกิดขึ้น บริษัทอาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องเพื่อเรียกชำระหนี้ จนทำให้บริษัทจำเป็นต้องขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้ นั่นย่อมส่งผลกระทบไปถึงความน่าเชื่อถือและสภาพคล่องของบริษัท จนอาจถึงขั้นเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ และนั่นอาจเป็นเพียงการเริ่มต้นของการ “ล่ม” จนไม่อาจควบคุมได้ และนั่นทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ ITD จำนวนมากได้รับผลกระทบ

สิ่งนี้กลายเป็นมูลเหตุสำคัญให้หลายฝ่ายเริ่มจับตากลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่นิยมใช้ “หุ้นกู้” เป็นเครื่องมือทางการเงินของบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เพราะหวั่นวิตกว่าอาจเกิดปัญหาเช่นเดียวกับ ITD ในอนาคตและอาจลุมลามไปถึงบริษัทอื่นๆ ด้วย

ตลาดหุ้นกู้ระส่ำ

ย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา (2566) ถือว่าเป็นปีที่ตลาดหุ้นกู้ระส่ำระสายมากที่สุด นั่นเพราะมีหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนหลายรายไม่สามารถชำระดอกเบี้ย หรือคืนเงินต้นได้ จากปัญหาขาดสภาพคล่อง จนสร้างความกังวลให้นักลงทุนและมีผลให้แผนระดมทุนด้วยหุ้นกู้ของหลายบริษัทไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน ในปี 2567 พบว่า จะมีหุ้นกู้เอกชนระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระคืนกว่า 890,000 ล้านบาท โดยหุ้นกู้กลุ่ม High Yield ที่มีอันดับเครดิตตํ่ากว่า BBB- และหุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต (Non Rating) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% หรือ 89,000 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงว่าอาจไม่สามารถขายหุ้นกู้ใหม่เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม หรือ Rollover Bond ที่จะครบกำหนดได้ จนส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีกระแสข่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาไปถึงแนวทางแก้ไข ด้วยวิธีก่อตั้งกองทุนดูแลหุ้นกู้ขึ้นให้ความช่วยเหลือ เพราะหวั่นว่าปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทจดทะเบียนจะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งยิ่งสร้างความหวั่นวิตก และทำให้นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่า ปัญหาของ ITD ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้อาจไม่ส่งผลบานปลายไปทั้งระบบ และนั่นทำให้นักลงทุนหลายรายอยากให้แผนขอยืดชำระหนี้ในครั้งนี้ของบริษัทได้รับการยอมรับ ดีกว่าไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย

จับตาตั้ง "กองทุนพยุงหุ้นกู้"

สถานการณ์เช่นนี้ กดดันให้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หันมาให้ความสนใจต่อตลาดหุ้นกู้เอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะบรรดาหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด อาจมีปัญหาเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ จนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ทำให้จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและทีมงานด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ล่าสุด มีรายงานว่ากระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สมาคมตราสารหนี้ไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน อยู่ระหว่างการหาแนวทางดูแลปัญหาหุ้นกู้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสภาพคล่อง และเกิดการเบี้ยวหนี้ จนกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดหุ้น และระบบเศรษฐกิจโดยรวม

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายงานว่าต้องติดตามทางรัฐบาล/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมหาแนวทางดูแลหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อสภาพคล่องและเกิดการเบี้ยวหนี้

ทั้งนี้ แบ่งเป็น 2 แนวทางคือ 1.ตั้งกองทุนดูแลหุ้นกู้เฉพาะที่มีเครดิตเรตติ้ง หรือ 2.ตั้งกองทุนดูแลทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ มองเป็นปัจจัยบวกกับกลุ่ม Finance และอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้อง Rollover หุ้นกู้ปีนี้

ท้ายสุด ไม่ว่าชะตากรรมของ ITD ต่อความสามารถในการชำระหนี้หุ้นกู้จะออกมาเป็นเช่นไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วยเตือนให้นักลงทุนรับรู้ว่า ปี 2567 ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังมีอยู่ โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้หุ้นกู้ของภาคเอกชน ซึ่งนับวันขนาดของบริษัทยิ่งเพิ่มขึ้น สะท้อนมาถึงความน่าสนใจในตลาดหุ้นไทยที่ลดลง และสิ่งที่ทุกคนเฝ้าจับตาดู หนีไม่พ้นการแก้ปัญหาจากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้ระยะเวลา หรือมาตรการแบบใดในการฟื้นคืนศรัทธาที่สูญเสียไปอย่างต่อเนื่อง






กำลังโหลดความคิดเห็น