xs
xsm
sm
md
lg

ADVANC ระยะยาวสดใส หลังกินรวบ 3BB และ JASIF

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเมินทิศทาง ADVANCE หลังรวบ 3BB และ JASIF เข้ามาอยู่ในอาณาจักร คาดส่งผลดีระยะยาวหลังล้างขาดทุน หนุนรายได้-กำไรตั้งแต่ไตรมาส4/66 เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเติบโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะรายได้จาก ARPU และการลดค่าใช้จ่ายทับซ้อน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินแนวโน้มธุรกิจ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ว่า ประมาณการไตรมาส 4 ปี 2566 จะเข้าสู่ช่วง Peak ตามฤดูกาล โดยบริษัทกำหนดส่งงบ ในวันที่ 6 ก.พ.2567 และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 7.73 พันล้านบาท ลดลง 5% จากปีก่อนแต่เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ หากไม่รวมกำไรจากการขายหุ้น 33% ใน Rabbit Line Pay (RLP) (434 ล้านบาท) กำไรจากธุรกิจหลักจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.73 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อนและ 2% จากไตรมาสก่อน จากการกำหนดราคา แพ็กเกจส่วนใหญ่ได้สมเหตุสมผลมากขึ้น และประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการต้นทุน

ควบรวม TTTBB และ JASIF ช่วยเพิ่มกำไร

ดังนั้น หากผลประกอบการเป็นไปตามที่คาด กำไรสุทธิในปี 2566 ของ ADVANC จะอยู่ที่ 2.98 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน เนื่องจากเป็นไตรมาสแรกที่เริ่มรับรู้ผลการดำเนินงาน ของ TTTBB และ JASIF (ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.) แต่คาดว่าจะถูกฉุดโดยส่วนแบ่งขาดทุน TTTBB และ SG&A ที่เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสก่อน รวมถึงคาดว่ารายได้มือถือจะยังดีโดยเพิ่มขึ้น 0.6% เทียบไตรมาสก่อน

ส่วน Blended ARPU คาดว่าจะขยับขึ้นเป็น 218 บาท (จาก 216 บาท ในไตรมาส 3 ปี256) เพราะมีการใช้งานโรมมิ่ง ต่างประเทศ ช่วงท่องเที่ยว และออกแคมเปญใหม่เช่น Prepaid 399 บาท ใช้เน็ทได้ 100GB ทำให้เชื่อว่า ADVANC จะเสียฐาน ลูกค้าน้อยลงไตรมาสนี้โดยลดลงเพียง 60,000 ราย (จากที่ลดลงถึง 8.67 แสนรายใน ในไตรมาส 3 ปี2566)

ขณะเดียวกันคาดว่ารายได้ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (FBB) จะเพิ่มถึง 70% เทียบไตรมาสก่อน เพราะรับรู้รายได้ TTTBB และการที่ลูกค้าใช้แพ็กเกจที่มีมูลค่าสูงขึ้น นอกจากนี้คาดว่า ยอดขายเครื่องมือถือจะพุ่งสูงขึ้น และได้อานิสงส์จากการที่ค่าไฟฟ้าลด 11% จากไตรมาสก่อน ทำให้กำไรที่เพิ่มเทียบไตรมาสก่อน มาจากการปรับราคาในตลาด และการจัดการต้นทุน นั่นหมายถึงผลขาดทุนหลักของ TTTBB จะอยู่ที่ 500 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไร JASIF จะอยู่ที่ 143 ล้านบาท

ส่วนไตรมาสแรกปี 2567F คาดว่ากำไรจะดีขึ้นต่อจากการที่ลูกค้าใช้แพ็กเกจมือถือ และ FBB ที่มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงรับรู้ผลการดำเนินงาน TTTBB & JASIF เต็มไตรมาส ทั้งนี้แพ็กเกจที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันของ AISและ TRUE น่าจะจูงใจให้ลูกค้ายังคงใช้แบรนด์เดิมต่อไป นั่นทำให้ ปรับเพิ่มกำไรสุทธิปี 2566-2568F ขึ้น 5%/2%/4% สะท้อนถึงกำไรจากการขาย RLP ในไตรมาส 3 ปี 2566 และส่วนแบ่งกำไรของ JASIF และ TTTBB โดยประเมินว่า TTTBB จะส่งผลขาดทุน 500 ล้านบาท ถึง 1 พันล้านบาท ในปี 2566-67F ก่อนที่เป็นกำไรราว 500 ล้านบาท ในปี 2568F

ขณะที่ JASIF คาดว่าจะส่งผลกำไรราว 1 พันล้านบาทต่อปี อิงจากการถือหุ้น 19% และต้นทุนดอกเบี้ยที่ 1.0-1.1 พันล้านบาทต่อปี (หนี้ 3.3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.3%) ดังนั้น จึงยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" โดยประเมินราคาเป้าหมายใหม่ที่ 260.00 บาท (ใช้ WACC ที่ 6.7%) จากเดิม 258.00 บาท

โดยคาดว่า ARPU ของทั้งบริการมือถือ และFBB น่าจะยังแข็งแกร่งจากการปรับโครงสร้างราคาในตลาด, การ Upselling แพ็กเกจที่มีมูลค่าสูง และ Synergy นำไปสู่ DPS ในงวด 2H/66F จะ อยู่ที่ 4.90 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ 2%

ปรับปรุงไม่หยุดนิ่งช่วยเพิ่มรายได้

ด้าน บล.ทิสโก้ จำกัด ระบุ แนวโน้มธุรกิจ ADVANC คาดว่า บริษัทจะยังคงส่งมอบผล การดำเนินงานหลักที่มีเสถียรภาพในไตรมาส 4 ปี2566 โดยกำไรน่าจะเห็นการเติบโตที่แข็งแกร่งเทียบไตรมาสก่อน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวสำหรับธุรกิจมือถือ และโมเมนตัมเชิงบวกในธุรกิจ FBB

โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4ปี 2566 อยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน แต่เติบโต 6% เทียบปีก่อน หากไม่รวมกำไรครั้งเดียวจาก การขาย Rabbit Line Pay (RLP) หรือ 432 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2566 คาดว่ากำไรหลักจะอยู่ที่ 7.8 พันล้านบาทเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ADVANC ตระหนักถึงการปรับปรุงการดำเนินงานหลักในธุรกิจ มือถือและอินเทอร์เน็ตบ้าน (FBB) แม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้างจากต้นทุนตามฤดูกาล โดยจะมีผลให้บริษัทรับรู้รายได้มือถือเพิ่มขึ้น 0.8% เทียบไตรมาสก่อน ในขณะที่ ARPU บนมือถือจะเพิ่มขึ้นเป็น 127 บาท ในไตรมาส 4 ปี 2566 จาก 125 บาทในไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับปัจจัยบวกที่สนับสนุน ARPU ในไตรมาส 4 ปี 2566 ได้แก่ การ ท่องเที่ยวขาออก จำนวนผู้โดยสารใน ช่วงฤดูท่องเที่ยว และโครงการริเริ่มการขยายขนาดแบบชำระเงินล่วงหน้าหลาย ประการ เช่น โปรโมชั่นเน็ตฟรี 10-20GB สำหรับแพ็กเกจ >200 บาท และเปิดตัว แพ็กเกจเติมเงินใหม่ 399 บาท เล่น เน็ตได้ 100GB

ยอดสูญเสียสมาชิกเริ่มลด

นอกจากนี้คาดว่าการสูญเสียสมาชิกสุทธิจะดีขึ้นไตรมาสเป็น -180,000 ผู้ใช้ จาก 876,000 ผู้ใช้ในไตรมาส 3 ปี 2566 ส่วน FBB คาดว่ารายรับจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก 46% จากไตรมาสก่อน จากการ Roll-Over แพ็กเกจที่สูง และการควบรวมบัญชีครึ่งไตรมาสของ TTTBB ในด้านต้นทุน

ทำให้คาดว่าค่า ใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ที่สูงตามฤดูกาล และต้นทุนทางการ เงินจากการเข้าซื้อกิจการ TTTBB จะสามารถบริหารจัดการได้ โดย EBITDA น่าจะเพิ่มขึ้น 1% เทียบไตรมาสก่อน

ส่วนภาพรวมธุรกิจในปีหน้าคาดว่า ผลการดำเนินงานหลักของ ADVANC จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1 ปี 2567 ธุรกิจมือถือและ FBB ควรได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการรับรู้ แพ็กเกจ Toll-Over ที่สูง และไม่ควรแย่ลงเนื่องจาก ADVANC และ TRUE เสนอราคาเทียบเคียงได้แพ็กเกจ

อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะเห็นต้นทุนไฟฟ้าและการเงินที่สูงขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อกำไรคงคำแนะนำ ซื้อ"" สำหรับ ADVANC มูลค่าที่ เหมาะสมเท่ากับ 250.00 บาท

กำไรมีลุ้นเติบโตดันปันผลเพิ่ม

ขณะที่ บล. เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แนะนำ "ซื้อ" บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เพื่อรับแนวโน้ม กำไรเติบโตและปันผล 4% ในปี 2567 เนื่องจากคาดว่ากำไรจะเติบโตแข็งแกร่งในไตรมาส 4ปี 2566E และปี 2567E พร้อมรับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลปี 2567E ที่4% ทำให้ราคาเป้าหมายอิงวิธี DCF ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 251 บาท (7.8% WACC, 2.0% Terminal Growth)

โดยกำไรหลักที่เติบโตแข็งแกร่งในไตรมาส 4 ปี 2566E หรือเพิ่มขึ้น 17.5% จากปีก่อนและ 2.9% จากไตรมาสก่อน ได้รับแรงหนุนจาก ARPU ที่เพิ่มขึ้นและการลดค่าใช้จ่าย ทำให้คาดการณ์ ARPU ธุรกิจมือถือเติบโต 2.5% เทียบไตรมาสก่อน ในไตรมาส 4 ปี 2566E ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นไตรมาส 3 ติดต่อกัน ส่วนกำไรหลักปี 67E คาดว่าจะเติบโต 5% จากการแข่งขันที่ผ่อนคลายลง

นำไปสู่คาดการณ์กำไรหลักไตรมาส 4 ปี2566 ที่ 7.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.5% จากปีก่อนและ 2.9% จากไตรมาสก่อน โดยการเติบโตที่แข็งแกร่งเทียบปีต่อปี น่าจะมาจากการเติบโตของรายได้จากบริการหลักที่เติบโต 2.5% (ไม่รวม TTTBB) และค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ลดลง 15% ส่วนการเติบโตของกำไรหลัก 2.9% เทียบไตรมาสก่อน ได้รับแรงหนุนหลักจากการเติบโตของรายได้1.7% และค่าไฟฟ้าที่ลดลง

ทั้งนี้ กำไรหลักไตรมาส 4 ปี2566 นั้นได้รวมผลขาดทุนสุทธิ 114 ล้านบาท จากการรวบงบการเงินของ TTTBB (ถือหุ้น 100%) และ JASIF (ถือหุ้น 19%) ตั้งแต่วันที่15 พ.ย. 2566 แล้ว ทำให้ ได้เพิ่มประมาณการกำไรหลักขึ้น 1% นับจากปี 66E เป็นต้นไป หลังจากปรับประมาณการ รายได้ใหม่แล้วเสร็จคาดการณ์กำไรหลักปี 2567E จะเติบโต 5% จากการเติบโตของรายได้บริการหลักที่ 2.6% (ไม่รวม TTTBB) ส่วนการเติบโตของรายได้จากธุรกิจมือถือคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น 1.8% ในปี 2567E จาก 0.9% ในปี 66E จากการแข่งขันที่ผ่อนคลายลง และคาดว่าการลดโควตา อินเทอร์เน็ตในเดือนสิงหาคม 2566 จะส่งบวกเต็มที่ต่อ ARPU ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากแพ็กเกจระบบเติมเงินจะมีอายุการใช้งาน 6 เดือน

แผนควบรวมส่งผลดีระยะยาว

ด้าน บล.ดาโอ (ประเทศไทย) แนะนำ "ซื้อ" แต่ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 259.00 บาท (เดิม 250.00 บาท) อิง DCF (WACC 8.7%, Terminal growth 2%) สะท้อนมูลค่าเพิ่มหลังควบรวม 3BB เนื่องจากมีมุมมองเป็นบวก จากการควบรวม 3BB แล้วเสร็จซึ่งจะสร้าง synergy benefit ให้กับ ADVANC ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการควบรวมกับ 3BB คาดใช้เวลาในการทำ integration ราวหนึ่งปีครึ่งถึงสองปีจึงเสร็จสมบูรณ์ ขณะเดียวกันคาดว่า synergy benefit เกิดจากการทำ cross-sell และ up-sell หนุน ARPU ช่วยให้รายได้ในส่วน broadband เติบโต 5-8% รวมถึงค่าใช้จ่าย CAPEX ลดได้ราวปีละ 1-2 พันล้านบาท และ OPEX คาด ลดลง 400-800 ล้านบาท ส่งผลให้ 3BB จะกลับมามีกำไรได้ในปี 2025E (จากปัจจุบันขาดทุนราว 2 พันล้านบาท)

นั่นทำให้ปรับประมาณการกำไรปกติปี 2567-2568 E ลงจากเดิมเฉลี่ยราว 2% มาที่ 2.9 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน และ 3.1 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน ตามลำดับ สะท้อนการรวม 3BB ซึ่งผลการดำเนินงานที่ยังขาดทุนและภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการควบรวม แต่ระยะยาวประเมินว่า synergy benefit จะช่วยเพิ่มกำไรให้กับ ADVANC อย่างน้อย 3 พันล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปี 2026E จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจาก ARPU uplift และการลดค่าใช้จ่ายทับซ้อน (อิงสมมติฐาน COGS+SG&A ของ 3BB ลดลง 15% และ ARPU uplift +2%)

ทั้งนี้ราคาหุ้น ADVANC กลับมา underperform SET เล็กน้อยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาหลังจาก outperform มาตลอด เนื่องจากการเป็นหุ้น defensive ในช่วงที่ตลาดผันผวนก่อนหน้า ควบคู่กับการทำดีลควบรวม 3BB แล้วเสร็จทำให้หุ้นปรับตัวลง อย่างไรก็ตามประเมินหุ้นยังสามารถกลับไป outperform ได้จากการแข่งขันที่ลดลงและการใช้งาน 5G มากขึ้นหนุน ARPU ทำให้กำไรกลับมาเติบโตต่อเนื่อง

บริการเครือข่ายยังเป็นรายได้หลัก

ที่ผ่านมา บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส มีโครงสร้างรายได้ตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 แบ่งเป็นบริการโทรศัพท์มือถือ 68% รายได้ขายซิมและขายโทรศัพท์มือถือ 17% อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 4% รายได้ค่าเช่าอุปกรณ์และ IC 8% และรายได้บริการอื่น ๆ 3%

ก่อนหน้านี้ ADVANC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี2566 มีกำไรสุทธิ 8.14 พันล้านบาท ขยายตัว 35.05% จากไตรมาส 3 ปี2565 และเพิ่มขึ้น 13.46% จากไตรมาส 2 ปี2566 ที่มีกำไรสุทธิ 7.18 พันล้านบาท หากไม่รวมรายการครั้งเดียว เช่น กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ที่ 123 ล้านบาท กำไรจากการขายหุ้น Rabbit Line Pay (RLP) ที่ 434 ล้านบาท ผลขาดทุนจากการขายทรัพย์สินที่ 64 ล้านบาท และค่าลดหย่อนภาษีที่ 60 ล้านบาท กำไรปกติอยู่ที่ 7.59 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากไตรมาส 3ปี 2565 และ 5.2% จากไตรมาส 2 ปี 2566 จากต้นทุนที่ลดลง ซึ่งรวมทั้งค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A), ค่าใช้จ่ายด้านการขายและการตลาด (S&M) และส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์มือถือ

สำหรับรายได้ปกติของ ADVANC อยู่ที่ 3.41 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% จากไตรมาส 3ปี2565, เพิ่มขึ้น 0.5% จากไตรมาส 2ปี2566 ส่วนรายได้โทรศัพท์มือถือ (86% ของรายได้ปกติ) เติบโตขึ้น 0.7% จากไตรมาส 3ปี2565 แต่ลดลง 0.6% จากไตรมาส 2ปี2566 ตามจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือไตรมาส 3 ปี2566 รวมอยู่ที่ 44.45 ล้านราย ลดลง 2.7% จากไตรมาส 3ปี 2565 และ 1.9% จากไตรมาส 2 ปี2566

ขณะที่ ARPU รวม อยู่ที่ 216 บาท เพิ่มขึ้น 1.9% จากไตรมาส 3ปี2565 และ 1.4% จากไตรมาส 2ปี2566 โดยรายได้ระบบเติมเงินปรับลดลงอีก 1.1% จากไตรมาส 3/65 และ 0.8% จากไตรมาส 2ปี2566 ขณะที่รายได้ระบบรายเดือนยังขยายตัวขึ้น 2% จากไตรมาส 3ปี2565 แต่ลดลง 0.5% จากไตรมาส 2ปี2566

ส่วนรายได้อินเทอร์เน็ตบ้าน (FBB) (9% ของรายได้ปกติ) เพิ่มขึ้น 18.9% จากไตรมาส 3ปี2565 และ 5.7% จากไตรมาส 2ปี2566 จากฐานสมาชิกที่มากขึ้น 14.1% จากไตรมาส 3ปี2565 และ 2.2% จากไตรมาส 2ปี2566 มาอยู่ที่ 2.38 ล้านราย และ ARPU ที่ฟื้นตัวขึ้น 2.4% จากไตรมาส 3ปี2565 และ 3.4% จากไตรมาส 2ปี2566 มาอยู่ที่ 428 บาท

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ ADVANC คือ ผลของการรวมกิจการกับ TTTBB นั่นทำให้ ADVANC จะมี coverage ครอบคลุมที่สุดในประเทศไทย ที่ 124 ตารางกิโลเมตร มากกว่าคู่แข่งที่ 118 ตารางกิโลเมตร โครงข่ายดังกล่าวผ่าน 13.3 ล้านครัวเรือน จากทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือน ทั่วประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีส่วนแบ่งการตลาดปรับเพิ่มขึ้นเป็น 46% (revenue market share) จากระดับเดิมที่ 20% พร้อมจำนวนฐานลูกค้าขยับขึ้นเป็น 4.7 ล้านราย เทียบกับทั้งตลาดที่ 11 ล้านราย ส่วนด้าน Synergy ของดีล มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของ Penetration rate ของตลาด Broadband จากระดับ 49% ADVANC ประเมินระยะยาวจะอยู่ที่อย่างน้อย 70% รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของ ARPU ในตลาด Broadband จากก่อนหน้า ADVANC เข้าตลาดหลังคู่แข่งทำให้ต้องตัดราคารุนแรงเพื่อแย่งลูกค้า ดังนั้นจากนี้จะพยายามยกระดับ ARPU ให้ใกล้เคียงกับ TTTBB และการลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อน เช่น การลด CAPEX ในระยะยาวที่ซ้ำซ้อน มีรายงานว่า ADVANC ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2566 ที่ 1.91 แสนล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิที่ 2.92 หมื่นล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 253 บาท

งบการเงิน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่มา : ตลาดหุ้นไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น