xs
xsm
sm
md
lg

“ริเวียร่า” ถนนเลียบชายหาดเปิดหน้าดิน-ทำเลลงทุน จับตาอสังหาฯ เชิงท่องเที่ยวผุด รร.รับดีมานด์ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เส้นทางถนนเลียบชายหาดของประเทศไทยอาจจะมีไม่มากนัก เพราะมีชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง รวมไปถึงหน่วยงานราชการ ทหารอยู่ในฝั่งของชายหาด และมีมานานมากแล้วในหลายๆ พื้นที่ ดังนั้น ถนนในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งของประเทศไทยบางส่วนจึงไม่สามารถพัฒนาหรือก่อสร้างให้เลียบชายหาดได้ตลอดแนว แต่จะมีบางช่วงบางตอนที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นถนนเลียบชายหาดอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นถนนที่มีความต่อเนื่องกันไม่ยาวมากนัก

“นอกจากนี้ ถนนเลียบชายหาดหรือถนนที่เชื่อมต่อกันในบางพื้นที่มีขนาดเล็กเพราะไม่ใช่ถนนเส้นทางหลัก แต่เป็นถนนของคนในพื้นที่ที่ใช้กันมานานแล้วเท่านั้น อาจจะมีคนภายนอก หรือนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บ้างแต่ไม่มากนัก และมีความไม่สะดวก หรืออาจจะไม่ปลอดภัยในบางช่วงของเส้นทาง รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นชายหาด หรือชายทะเลของบางทำเลอาจจะไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากการเดินทางที่อาจจะไม่สะดวก เพราะถนนมีขนาดเล็กทำความเร็วมากไม่ได้ และมีความคดเคี้ยว” นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าว

สุรเชษฐ กองชีพ
เนื่องจากต้องลัดเลาะไปตามที่ดินของคนในพื้นที่ซึ่งในปัจจุบันมีตัวเลือกของเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวที่การเดินทางสะดวกกว่ามาทดแทน จึงอาจจะทำให้ถนนเลียบชายหาดในบางพื้นที่ เช่น ถนนในจังหวัดเพชรบุรีที่เลียบชายหาดเจ้าสำราญ และหาดปึกเตียน เสื่อมความนิยมลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะเริ่มกลับมาบ้างแล้วในช่วงที่ตำบลคลองโคน จังหวัดสมุทรสงครามได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ยังเทียบไม่ได้กับชะอำ หัวหิน หรือปราณบุรี

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงถนนเลียบชายหาด หรือมีการเรียกกันแบบสวยหรูว่า "ถนนไทยแลนด์ริเวียร่า" ว่ากำลังมีการก่อสร้างถนนเลียบชายหาดของประเทศไทย และเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2566 เพราะกรมทางหลวงชนบทได้ประกาศว่าถนนเลียบชายหาดของประเทศไทยมีการก่อสร้างและพัฒนาจนสามารถเปิดให้บริการได้แล้วเป็นระยะทางกว่า 514.616 กิโลเมตรโดยเริ่มจากจังหวัดสมุทรสงคราม ไล่ลงไปทางภาคใต้ของประเทศไทยผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง โดยกรมทางหลวงชนบทเริ่มดำเนินการก่อสร้างถนนเส้นทางนี้มาตั้งแต่ปี 2552 โดยอาจจะเป็นการก่อสร้างถนนเส้นทางใหม่ที่เชื่อมต่อกับถนนที่มีอยู่แล้ว และขยายถนนที่มีอยุ่ก่อนแล้วให้มีเขตทางและพื้นผิวการจราจรกว้าง และมีความทันสมัยมากขึ้น อีกทั้งเชื่อมต่อกันเป็นเส้นทางเดียวกัน และเพื่อให้สามารถเดินทางต่อเนื่องได้ในระยะทางไกลๆ

การที่ถนนเลียบชายหาดมีการเชื่อมต่อกันเป็นระยะทางต่อเนื่องกันหลายจังหวัด อีกทั้งถนนมีเขตทางและผิวกาจราจรที่กว้างและสะดวกสบายในการขับรถยนต์ในระยะทางไกลๆ รวมไปถึงสามารถทำความเร็วได้ในระดับที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้น เพียงแต่คงยังอีกนานกว่าที่ถนนนี้จะได้รับความนิยมหรือเป็นสนใจจนกลายเป็น 1 ในเส้นทางหลักของการเดินทางลงไปภาคใต้ของคนในกรุงเทพมหานคร หรือจากจังหวัดอื่นๆ แต่เพียงเท่านี้อาจจะนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการเปิดพื้นที่ ชุมชน หรือแหล่งท่องเที่ยวที่เคยได้รับความนิยมในอดีตกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง เช่น หาดปึกเตียน หรือหาดเจ้าสำราญในอดีตเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลที่เป็นที่รู้จักมาน แต่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นชื่อ เพราะด้วยการเดินทางในปัจจุบันที่ใช้ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4  ทำให้ไม่ผ่านทั้งหาดปึกเตียน และหาดเจ้าสำราญ เมื่อผ่านไปนานหลายปี จนพื้นที่ของทั้ง 2 หาดนี้เริ่มเป็นที่พูดถึงน้อยลง


ถ้าถนนเลียบชายหาดที่เชื่อมต่อกับถนนพระรามที่ 2 ที่จังหวัดสมุทรสงครามได้รับความนิยมมากขึ้น และต่อเนื่องกันมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ก็เป็นไปได้ที่การเดินทางลงไปชะอำ หัวหิน หรือปราณบุรีอาจจะมีคนจำนวนไม่น้อยมาใช้เส้นทางนี้มากขึ้น เพราะสามารถหาร้านอาหารเพื่อพักรับประทานอาหารกลางวันที่คลองโคน หรือในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากหาดปึกเตียน และหาดเจ้าสำราญได้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน รวมไปถึงโรงแรมที่พักได้มีรายได้มากขึ้น แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัด และแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต่างๆ จะได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของทั้งนักท่องเที่ยว และการลงทุนต่างๆ ที่อาจจะเพิ่มขึ้น แหล่งที่ในอดีตเป็นที่รู้จักแล้วเงียบเหงาไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาจจะได้รับการฟื้นฟู และกลับมาคึกคักอีกครั้ง

นักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือการท่องเที่ยวแบบที่เข้าถึงวิถีชุมชน อาจจะกลายเป็นอีก 1 กลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจพื้นที่ตามแนวเส้นทางของถนนเลียบชายหาด เพราะยังมีความเป็นวิถีท้องถิ่นอยู่ค่อนข้างมาก การที่ถนนเส้นทางนี้มีความสะดวกมากขึ้นจะช่วยให้การเข้าถึงชุมชนหรือวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะชุมชนริมทะเลในจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี ส่วนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แทบไม่เหลือความเป็นชุมชนดั้งเดิมแล้วสำหรับพื้นที่ตลอดแนวถนนเลียบชายหาด เพราะมีการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย โรงแรม หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบใหม่ๆ หมดแล้ว และมีมานานมากกว่า 30-40 ปีแล้ว

เมื่อการเดินทางสะดวกมากขึ้นในอนาคตอาจจะมีรถโดยสารระหว่างจังหวัดที่สามารถเดินทางจากกรุงเทพมหานครมาได้สะดวก และมีจำนวนเที่ยวรถที่หลากหลายช่วงเวลาก็เป็นไปได้ที่อาจจะเห็นชาวต่างชาติเข้ามาในพื้นที่ของถนนเลียบชายหาดมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี เพราะชาวต่างชาติส่วนใหญ่เน้นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ พวกเขาต้องการสัมผัสอะไรที่มีความเป็นวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น และต้องการสัมผัสอะไรที่ยังไม่มีการปรุงแต่ง ซึ่งในชะอำ หัวหิน หรือปราณบุรีมีการเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีชุมชนท้องถิ่นมากเกินไปในปัจจุบัน ชาวต่างชาติบางส่วนจึงเลือกที่จะหลีกหนีจากทั้ง 3 แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว แล้วเลือกที่จะเดินทางไกลขึ้นไปห้วยยาง บ้านกรูด หรือทับสะแกซึ่งยังมีความเป็นชุมชนท้องถิ่น และมีความเงียบสงบ แต่ไม่ได้ขาดความเจริญ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อยู่


ช่วงหลายปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยในจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์บ้างแต่ยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนของคนไทยที่เข้ามาท่องเที่ยวในทั้ง 3 จังหวัดนี้ โดยชาวต่างชาติน้อยกว่าจำนวนคนไทยอาจจะมากถึง 4-5 เท่าตัวเลย ซึ่งการจะยกระดับการท่องเที่ยวหรือรายได้จากการท่องเที่ยวให้มากขึ้นนั้นจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้มากกว่าปัจจุบัน เพราะชาวต่างชาติมาเพื่อท่องเที่ยวจริงๆ คนไทยอาจจะเป็นเพียงคนที่เดินทางผ่านไปมาเท่านั้น เพราะมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน

อีกทั้งความชอบ หรือรสนิยมในการท่องเที่ยวของคนไทยอาจจะเลือกพื้นที่อื่นๆ มากกว่าชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ในแนวเส้นทางของถนนเลียบชายหาดในจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ แต่พื้นที่อื่นๆ ของเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชมพรอาจจะได้รับความสนใจมากกว่า เช่น ชะอำ หัวหิน เขาเต่า ปราณบุรี บ้านกรูด เป็นต้น โรงแรมที่พักที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านี้เมื่อมีคนเข้าพักมากขึ้นรายได้มากขึ้นก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับปรุง หรือปรับเปลี่ยนให้สวยงามหรือลดทอนความเงียบเหงาลงไปจากเดิม พื้นที่หรือชุมชนรอบๆ โรงแรมจะกลับมามีความคึกคักมากขึ้น และถ้าธุรกิจโรงแรมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็มีความเป็นไปที่อาจจะมีการพัฒนาโรงแรมที่พักใหม่ๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อโรงแรมเริ่มกลับมามีคนเข้าพักมากขึ้น พนักงานหรือจำนวนคนที่เข้ามาในพื้นที่จะมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนแล้ว ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ หรือชุมชนอื่นๆ
ซึ่งคงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะถนนมีการเชื่อมต่อกันเป็นระยะทางรวมกันกว่า 500 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ต้องมีปัจจัยด้านอื่นๆ ประกอบด้วย 
ไม่หมือนในกรุงเทพมหานครที่เพียงแค่สร้างถนนใหม่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ทันทีเมื่อถนนเปิดให้บริการนั่นเพราะกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑลมีความต้องการในเรื่องของการใช้ประโยชน์บนที่ดินมากกว่า และมีคนที่พร้อมจะลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว


นายสุรเชษฐ กล่าวว่า ตอนนี้ที่ดินติดชายหาดในพื้นที่ปึกเตียนอาจจะมีราคาขายที่ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อตารางวา แต่ในอนาคตคงมากขึ้นแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าการท่องเที่ยวในพื้นที่มีความคึกคักมากแค่ไหน เพียงแต่คงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 3 ปีขึ้นไปจึงจะเห็นความแตกต่างแบบชัดเจน และยังมีที่ดินเปล่าที่รอการพัฒนาอีกมากมาย รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกหลายแห่งที่อาจจะได้รับการบูรณะหรือพลิกฟื้นกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งในอนาคต

ก่อนหน้านี้ อาจจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวหรือคนเข้าไปในพื้นที่บ้างแต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้หลายธุรกิจขยายตัวมากแบบพื้นที่อื่นๆ แต่ในอนาคตเมื่อปัจจัยหลายๆ อย่างส่งผลบวกต่อพื้นที่มากกว่าที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้ที่ศักยภาพของที่ดินจะมากขึ้น และมีผลต่อเนื่องถึงความน่าสนใจในพื้นที่  ซึ่งอาจจะมีโครงการที่อยู่อาศัยเข้ามาเปิดขาย เพราะพื้นที่ตามแนวเส้นทางถนนเลียบชายหาดโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีที่มีหาดเจ้าสำราญ และหาดปึกเตียนอยู่ในพื้นที่ก็มีความน่าสนใจ อาจจะไม่สวยงามเทียบเท่าชะอำหรือหัวหิน แต่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพียงแต่ปัจจุบันอาจจะยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกและความน่าสนใจไปเมื่อเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียง



กำลังโหลดความคิดเห็น