ส่องหุ้น “มิสแกรนด์ อินเตอร์ฯ” หลังร้อนแรงจัดจนตลาดหลักทรัพย์ฯต้องติดเบรก เมื่อราคาหุ้นพุ่งสุดโต่ง บน P/E Ratio ระดับ 38 เท่า สูงกว่า บจ.อื่นที่ดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกัน หวั่นพารายย่อยไป “อิงดอย” ชี้กลยุทธ์ดึงขาใหญ่ร่วมถือหุ้นช่วยเพิ่มแรงดึงดูด แถมหุ้นที่เทรดมีน้อยดันราคาขยับไว จับตาแรงขายรายใหญ่หลังปลดล็อก 30 วัน ขณะนักลงทุนบางส่วนเลือกยืนดูห่าง ๆ แบบห่วงๆ
ร้อนแรงจนต้องโดนตลาดหลักทรัพย์ฯแตะเบรก สำหรับ บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI ของ"ณวัฒน์ อิศรไกรศีล" โดยเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.66 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ออกมาเตือนนักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขายหุ้น MGI เนื่องจากราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยมูลค่าการซื้อขายที่สูงตลอด 5 วันทำการที่เริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai รวม 255.56% จากราคา IPO ที่ 4.95 บาท และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่ 995.36 ล้านบาท โดยเฉพาะวันที่ 18-19 ธันวาคม 2566 ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นไปที่ราคาเพดานของวัน (Ceiling) จนไม่เหลือปริมาณหุ้นเสนอขาย (Offer) ทั้ง 2 วันทำการ
ขณะที่การซื้อขายเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.66 ราคาถูกลากขึ้นไป สูงสุดที่ 20.10 บาท หรือเพิ่มขึ้น 29.68 % แม้ตลาดหลักทรัพย์ฯจะออกมาเตือนถึงความเสี่ยงของ MGI แล้วก็ตาม
ล่าสุด (22 ธ.ค.66) ราคาหุ้น MGI ปิดที่ 16.40 บาท ด้วยอัตรา P/E ที่ระดับ 38.96 เท่า กล่าวได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงของการสร้างยอดดอยลูกแรกของราคาหุ้น MGI เมื่อราคามีการย่อตัวลงมาต่อเนื่อง 2 วันล่าสุด (21-22 ธ.ค.66) และยังมีความเป็นไปได้ที่ราคาอาจย่อตัวลงเพิ่มเติม จนทำให้มีการหยอกเย้ากันในหมู่นักลงทุนที่เข้าไปร่วมกระแสความร้อนแรงของหุ้น MGI ว่า “น้องอิง”ไม่ได้พาราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นไป “อิงฟ้า” เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่พาไป “อิงดอย”ไปด้วยแล้วเช่นกัน
ขาใหญ่ถือหุ้นเพิ่มแรงดึงดูด
ขณะเดียวกัน ยังมีการหยอกเย้ากันขำๆ ว่าการย่อยตัวของราคาหุ้นจนสร้างยอดดอยแรกของ MGI ในเวลานี้ เพราะโดนทุบจากโปรแกรมเทรดดิ้ง (Robot trade) มากกว่าโดนทุบโดยขาใหญ่ที่ได้หุ้นในราคาต้นทุน ทั้งที่ความจริงต้องชื่นชมแผนการปั้นบริษัทเพื่อนำเข้ากระดานเทรดมากกว่า เนื่องจากรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่นอกเหนือจากเจ้าของกิจการยังมีนักลงทุนรายใหญ่หลายรายเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย ซึ่งช่วยเรียกความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยเป็นอย่างมาก
ตลท.จับตาลากแล้วทุบ
อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ MGI จากหุ้นน้องใหม่ที่ปลุกความคึกคักของหุ้นจองให้กลับสู่ความสนใจของนักลงทุน และจากหุ้นน้องใหม่ที่น่าจะซื้อขายเก็งกำไรกันอย่างปกติธรรมดา แต่ตอนนี้ MGI ได้ถอดร่าง กลายเป็นหุ้นอันตราย และมีอัตราความเสี่ยงในการเก็งกำไรสูงมาก โดยเฉพาะปรากฏการณ์ราคาที่เด้งขึ้นเด้งลงเหมือนลูกปิงปองเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 66
ขณะที่ พฤติกรรมการลากขึ้นและทุบลงของราคาหุ้น MGI ในวันดังกล่าว อยู่ในสายตาของตลาดหลักทรัพย์ฯตลอด จนตัดสินใจประกาศมาตรการเตือนนักลงทุน เมื่อเห็นชัดถึงความเสี่ยงตายของนักเก็งกำไรรายย่อย
โดยความร้อนแรงของราคาและมูลค่าการซื้อขาย MGI ในช่วงที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่น่าสืบค้นเบื้องหลังการถ่ายทำ เพราะราคาหุ้นขึ้นลงหวือหวามาก ถึงขั้นอาจทำให้นักเก็งกำไรช็อกคากระดานได้ ในช่วงที่ทุบลงมาเหลือ 13.60 บาท
รายย่อยชะลอเข้า
สำหรับ ณ เวลานี้ หุ้น MGI ถูกมองใน 2 มุม เริ่มที่คนที่มองโลกสวยจะเห็นว่า บริษัทมีแฟนคลับ ผู้ติดตามจำนวนมาก และพร้อมจะสั่งซื้อสินค้าในเครือมิสแกรนด์ โดยเฉพาะเมื่อ มีดารามานำเสนอขาย แนวโน้มผลประกอบการจึงมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ส่วนคนที่มองโลกด้วยความระมัดระวัง กลับเห็นว่า MGI แทบไม่มีธุรกิจที่มี ความมั่นคงอย่างยั่งยืน จึงมีความเสี่ยงที่จะลงทุน
จนทำให้เวลานี้มีนักลงทุนบางส่วนไม่ขอเข้าไปร่วมเอี่ยวกับหุ้น แต่ขอทำเพียงส่งแรงใจผ่านกระดานเทรด เหมือนส่งแรงใจเชียร์ผ่านหน้าจอทีวีลุ้น “มง” จะลงหรือไม่ลงมากกว่า ในอาการ “ยืนดูอยู่ห่างๆแบบห่วงๆ”
นั่นเพราะแม้ราคาหุ้นในปัจจุบันจะย่อตัวลงมา แต่เมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบันของบริษัทก็ถือว่าราคายังสูงเกินไป บนพื้นฐานที่โอกาสในการเติบโตของผลประกอบการยังไม่เห็นแรงก้าวกระโดดที่มากพอ จนเตลิดเปิดเปิงไปว่า ที่พุ่งจนฉุดแทบไม่อยู่เพราะ“เสี่ยๆเขามาปั่น เอาใจสาวงาม”
หุ้นเหลือเทรดน้อยดันราคาง่าย
ย้อนกลับมาที่การเตรียมการนำหุ้น MGI เข้าซื้อขาย หลายฝ่ายเชื่อว่า เกมนี้ถูกวางแผนมาอย่างดี โดยหุ้นที่ เสนอขายจำนวน 60 ล้านหุ้น มีข่าวว่า ส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้นักลงทุนขาใหญ่ แบ่งปันกันไปคนละนับล้านหรือหลายล้านหุ้น ภายใต้ข้อตกลงว่า จะต้องไม่ขายหุ้นออก ภายในระยะเวลา 1 เดือน
โดยหุ้นที่ขาใหญ่ได้รับจัดสรร ภายใต้ข้อตกลงไม่ขายหุ้นภายในเวลา 1 เดือน มีจำนวนประมาณ 40 ล้านหุ้น จึงเหลือเพียงประมาณ 20 ล้านหุ้น ที่ไม่มีข้อตกลงผูกมัด ห้ามขายใน 1 เดือน ซึ่งถือเป็นปริมาณที่น้อยมาก ดังนั้นเมื่อมีแรงซื้อเข้ามา ราคาจึงพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง จนเป็นการเก็งกำไรที่เกินเลย หรือมีใครทำอะไรที่ทำให้หุ้นวิ่งแรงเกินจริงหรือไม่ หรือว่า MGI มีอนาคตที่สดใส จนนักลงทุนต้องวิ่งเข้าใส่ ไล่ช้อนซื้อโดยไม่คำนึง ถึงราคา
ขณะที่ค่า พี/อี เรโช MGI กระโดดไปเฉียด 39 เท่า ไม่น่าจะเป็นราคาที่ถูกแล้ว นำไปสู่การเตือนนักเก็งกำไรรายย่อยต้องจำไทม์ไลน์ให้ดี ว่าเมื่อนับถอยหลังให้ครบ 30 วันที่ MGI เข้าซื้อขายเมื่อไหร่ อาจมีแรงกระแทกการขายหุ้นจากรายใหญ่ออกมาก็ได้
ทั้งนี้ หากย้อนดูผลการดำเนินงานของ MGI ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากปี 2563 มีรายได้รวม 338.80 ล้านบาท ปี 2564 อยู่ที่ 345.10 ล้านบาท ปี 2565 อยู่ที่ 319.86 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 428.93 ล้านบาท กำไรสุทธิ 77.13 ล้านบาท เทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้รวม 218.68 ล้านบาท กำไรสุทธิ 36.58 ล้านบาท โดยถือเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่นำเวทีนางงามเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย
ส่องศักยภาพ MGI
ขณะที่ “ณวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MGI กล่าวว่า ธุรกิจนางงามไม่ใช่จุดยืนเดียว แต่เป็นจุดเริ่มต้นการต่อยอดธุรกิจมากมาย เพราะ MGI เป็นบริษัทแรกที่มีเครือข่าย 77 เวที 77 จังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งขายลิขสิทธิ์ไปยังต่างประเทศอีก 90 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสัดส่วนรายได้งวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มาจากธุรกิจพาณิชย์สัดส่วนมากสุด 40.86% ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ 12.63% ธุรกิจสื่อและบันเทิง 19.06% ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน 23.12% รายได้ค่าเช่าช่วง MGI Hall 3.51% และรายได้อื่นๆ 0.82% โดยบริษัทตั้งเป้ารุกขยายธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งมีการเติบโตสูง
เมื่อประเมินธุรกิจพาณิชย์ (Commerce)ของ MGI พบว่า เป็นการทำตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆ ภายใต้แบรนด์ Miss Grand MGI และ NangNgam มีกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกาย กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอม กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า รวมทั้งแตกไลน์กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริม ได้แก่ น้ำพริกปลาสลิด
ขณะเดียวกันปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสินค้า OEM โดยบริษัทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สูตรการผลิตทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ กาแฟลดน้ำหนักตรามิสแกรนด์ ผลิตภัณฑ์คอลลาเจนอิงฟ้า และชาเขียวชนิดผง ตราชาล็อต บาย มิสแกรนด์
ส่วนธุรกิจประกวดนางงาม ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำหนดการประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์ในไตรมาส 2 ของทุกปี และจัดการประกวดมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนลในไตรมาส 4 ของทุกปี และถือเป็น 1 ใน 5 เวทีระดับ Grand Slam Beauty Pageant ร่วมกับ Miss Universe, Miss World, Miss Supranational และ Miss International และเป็นเวทีเติบโตเร็วที่สุดในโลก ทั้งในแง่สปอนเซอร์ ฐานผู้ชมและความนิยม
นั่นทำให้ MGI มีปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ ฐานแฟนคลับเติบโตแข็งแกร่ง โดยในปี 2566 เวที Miss Grand International มียอดผู้ชมทางโทรทัศน์และออนไลน์รวมกว่า 1,000 ล้านคน ทำให้ MGI มีฐานแฟนคลับจำนวนมากที่สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน MGI มีแผนขยายตลาดสู่ต่างประเทศมากขึ้น โดยในปี 2567 ตั้งเป้าจะจัดประกวด Miss Grand International ในประเทศใหม่ๆ อย่างน้อย 5 ประเทศ ซึ่งจะเพิ่มฐานแฟนคลับและโอกาสทางธุรกิจให้กับ MGI มากขึ้น
ทั้งนี้ MGI มีธุรกิจที่หลากหลายครอบคลุมทั้งการประกวดนางงาม การผลิตและจำหน่ายสินค้า การจัดอีเวนต์ และธุรกิจสื่อ ทำให้บริษัทมีรายได้จากหลายช่องทาง และลดความเสี่ยงในการพึ่งพารายได้จากเพียงช่องทางเดียว ทำให้คาดว่า MGI จะมีการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 คาดว่ารายได้จะเติบโต 20% และกำไรสุทธิจะเติบโต 30%
โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้ ประมาณ 284 ล้านบาท เพื่อลงทุนปรับปรุง ตกแต่งอาคารสำนักงาน 40 ล้านบาท การลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า และผลิตรายการ เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ในทุกช่องทาง 50 ล้านบาท การลงทุนพัฒนาขีดความสามารถของระบบสารสนเทศ (Information Technology) 20 ล้านบาท และที่เหลือใช้เป็นป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ 174 ล้านบาท
ราคาหุ้นร้อน-P/Eจริงหรือ?
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการเคลื่อนไหวที่ร้อนแรงของราคาหุ้น MGI ทำให้นักลงทุนหลายรายอดคิดไม่ได้ว่า ราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวอยู่ ณ ขณะนี้ร้อนแรงเกินไปหรือไม่?
นั่นเพราะ บริษัทกำหนดราคาเสนอขาย หุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาหุ้นละ 4.95 บาท โดยราคาดังกล่าวพิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัท (P/E Ratio) เท่ากับ 11.76 เท่า
ส่วนคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65-30 ก.ย.66 เท่ากับ 88.40 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (Fully Diluted) ซึ่งเท่ากับ 210 ล้านหุ้น จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น เท่ากับ 0.4209 บาท
ขณะที่ P/E ของบริษัทจดทะเบียนอื่นที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึง หรือใกล้เคียงกันกับบริษัท เช่น บมจ.เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ (APCO) ดำเนินธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเสริมความงามจากสมุนไพรธรรมชาติ จดทะบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 5.20 บาท และมี P/E ระดับ 26.93 เท่า โดยมีรายได้รวม 9 เดือนปี2566 ระดับ 240.86 ล้านบาท กำไรสุทธิ 88.35 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 37.19%
ด้าน บมจ.คาร์มาร์ท (KAMART) ประกอบธุรกิจนำเข้า และจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน MGI อันดับ 3 ด้วยสัดส่วน 2.86%) ล่าสุดมีราคาอยู่ที่ 13.20 บาท มี P/E ระดับ 26.36 เท่า โดยมีรายได้รวม 9 เดือนปี2566 ระดับ 1.80 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 430.13 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 23.95%
ถัดมา บมจ.โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล (KISS) ดำเนินธุรกิจจ้างผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านความงามและสุขภาพ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุดมีราคาอยู่ที่ 4.42 บาท มี P/E ระดับ 21.44 เท่า โดยมีรายได้รวม 9 เดือนปี2566 ระดับ 686.47 ล้านบาท กำไรสุทธิ 84.58 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 15.20%
ขณะที่ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ดำเนินธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจให้บริการเวลาเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้า ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และธุรกิจการบริหารจัดการลิขสิทธิ์นางงามจักรวาล จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุดมีราคาอยู่ที่ 0.52 บาท มี P/E ระดับ 0.93 เท่า โดยมีรายได้รวม 9 เดือนปี2566 ระดับ 2.31 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 141.23 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 4.89%
ขณะเดียวกันในด้านการจัดอีเวนต์ และธุรกิจสื่อ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจคล้ายคลึงกัน เช่น บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ซึ่งดำเนินธุรกิจบันเทิงครบวงจร จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุดมีราคาอยู่ที่ 6.35 บาท มี P/E ระดับ 24.62 เท่า โดยมีรายได้รวม 9 เดือนปี2566 ระดับ 4.16 พันล้านบาท ขาดทุน 36.68 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิลดลง 0.46%
และ บมจ.อาร์เอส (RS) ประกอบธุรกิจพาณิชย์ รวมถึงธุรกิจคอนเทนต์ และความบันเทิง จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุดมีราคาอยู่ที่ 13.70 บาท มี P/E ระดับ 10.82 เท่า โดยมีรายได้รวม 9 เดือนปี2566 ระดับ 2.94 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 1.36 พันล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 45.89%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากบรรดาบริษัทจดทะเบียนแห่งอื่นที่มีการดำเนินธุรกิจคล้ายคลึงกับ MGI ในด้านต่างๆ พบว่า บริษัทส่วนใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่ MGI จดทะเบียนในตลาด เอ็ม เอ ไอ โดยกลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอาง มีค่า P/E บริเวณ 21 – 26 เท่า ขณะที่ด้านธุรกิจสื่อ,บันเทิง,และพาณิชย์ มีค่า P/E บริเวณ 10-24 เท่า ซึ่งสะท้อนว่า P/E ของ MGI อยู่ในระดับที่สูงกว่าธุรกิจอื่นๆที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงราคาหุ้นของบริษัทปัจจุบันสะท้อนแรงคาดหวังของนักลงทุนไว้สูงมาก นับเป็นสัญญาณที่หากใครจะเข้าลงทุนต้องระมัดระวัง และยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น