นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ธ.ค.) ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.86 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.90 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 34.68-34.91 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด เช่น ประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 รวมถึงดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียต่างออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งผลให้เฟดสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตามคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม (Risk-On) ซึ่งลดความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ยังได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมาอาจชะลอลงได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ว่าจะมีทิศทางชะลอตัวลงตามคาดหรือไม่ ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในโซน 34.65-34.85 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ทั้งนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ อาจช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อได้ เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยเข้าซื้อหุ้นไทยเพื่อลุ้น Year-end Rally ต่อได้บ้าง โดยแรงซื้อหุ้นไทยดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้ ทว่า เราเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้ ซึ่งอาจลดทอนผลของแรงซื้อหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ เรามองว่าบรรดาผู้นำเข้าอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้เงินบาทอาจยังไม่ผ่านโซนแนวรับ 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ เช่น อัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนพฤศจิกายน โดยต้องจับตาว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคการบริการที่ไม่รวมผลของราคาที่อยู่อาศัย (Core Services ex Housing) ซึ่งข้อมูลที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิดจะชะลอตัวลงต่อเนื่องได้หรือไม่ เพราะหากอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวกลับเร่งตัวขึ้นอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง ซึ่งอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งอังกฤษ เช่น ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤศจิกายน โดยหากภาพการใช้จ่ายของผู้คนในอังกฤษยังคงขยายตัวได้ดีอาจช่วยลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ BOE ลงได้บ้าง ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้ หรือหากยอดค้าปลีกขยายตัวดีกว่าคาดอาจช่วยหนุนให้เงินปอนด์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้างเช่นกัน