xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 35.00-โมเมนตัมการแข็งค่าเริ่มแผ่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.65-35.20 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.10 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้(18ธ.ค.66)ที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลง”
จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 34.77-35.01 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้านสำคัญ ก่อนที่จะย่อตัวลงต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์นั้นมาจากถ้อยแถลงของ John Williams ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (FOMC) ที่ได้ระบุว่า “เฟดยังไม่ได้หารือกันเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ย และยังคงให้ความสำคัญต่อคำถามว่า นโยบายการเงินมีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้เฟดบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้หรือไม่” ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้สวนทางกับการส่งสัญญาณของประธานเฟดล่าสุด ที่ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้เร็วและลึกในปีหน้า
ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ผลการประชุมเฟดล่าสุด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าได้ราว 6 ครั้ง หรือ -150bps ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งจะกระทบต่อมุมมองแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาดได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าเริ่มแผ่วลง จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้เงินบาทอาจติดโซนแนวรับแถว 34.70 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป คือ 34.50 บาทต่อดอลลาร์) อนึ่ง เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง เนื่องจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็มีแนวโน้มไหลเข้าตลาดหุ้นไทยได้ หลังนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยกว่า +5.4 พันล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนโซนแนวต้านที่สำคัญ คือ โซน 35 บาทต่อดอลลาร์ (โซนแนวต้านถัดไป 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์) ทั้งนี้ ต้องจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และที่สำคัญทิศทางราคาทองคำ เนื่องจาก โฟลว์ธุรกรรมทองคำยังคงส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้พอสมควร

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ หากผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดลง ตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจออกมาดีกว่าคาดหรือถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่เน้นย้ำว่าเฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ยลง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ถ้า BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นตามคาด
กำลังโหลดความคิดเห็น