นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ งาน Sustainability Forum 2024 ในหัวข้อ Financial Dynamic for Sustainability ว่า ภาคเศรษฐกิจ และสถาบันการเงินไทยมีความจำเป็นต้องปรับตัวทั้งเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ และปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ภาครัฐได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนตั้งแต่ COP26 ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 เพื่อกระตุ้นให้ประเทศขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งในการจะนำพาประเทศให้เติบโตโดยคำนึงถึงมิติสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศนี้ ภาคการเงินจะต้องมีบทบาทเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถปรับตัวได้ทันการณ์
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับภาคการเงิน รวมทั้งยังมีความไม่แน่นอนในหลายด้าน ทำให้การสนับสนุนหรือการจัดสรรเงินทุนยังเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่ และตรงจุด
นายรณดล กล่าวว่า หลักการที่สำคัญในการปรับตัวบนบริบทของประเทศไทย คือ การคำนึงถึงจังหวะเวลา และความเร็วที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งต้องสร้างสมดุลระหว่างการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน และการป้องกันผลข้างเคียงเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ โดยการดำเนินการจะต้อง "ไม่ช้าเกินไป" จนเกิดผลกระทบจนไม่สามารถแก้ไขได้ และ "ไม่เร็วเกินไป" จนระบบเศรษฐกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้การปรับตัวเป็นไปอย่างเหมาะสม ภาคสถาบันการเงินต้องสามารถประเมินปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งมิติความเสี่ยง และโอกาส และผนวกไว้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ
โดยในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยยกระดับการคำนึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงินแล้ว 2 เรื่อง
เรื่องที่ 1 คือ การจัดทำหลักปฏิบัติที่ดี หรือมาตรฐานการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน (Standard Practice) โดยออกแนวนโยบาย เรื่อง การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ.66 เพื่อให้สถาบันการเงินผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่ 1) การกำหนดโครงสร้างความรับผิดชอบ ให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูงดำเนินการผลักดันในองค์กร 2) การกำหนดกลยุทธ์ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อม 3) การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม แบบต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และ 4) การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยได้จัดทำคู่มือปฏิบัติ (Industry Handbook) ที่พัฒนามาช่วยให้ธนาคารพาณิชย์อ้างอิงตัวอย่างแนวทางที่สากลแนะนำและปฏิบัติใช้ รวมทั้งยังระบุกระบวนการที่สำคัญที่สถาบันการเงินควรรีบดำเนินการ โดย ธปท. จะสนับสนุนและติดตามให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการดำเนินการที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยง
เรื่องที่ 2 คือ การจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Taxonomy) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการกำหนดนิยามความเป็นสีเขียวของทุกภาคส่วนให้เข้าใจและยอมรับตรงกัน เพื่อลดปัญหา Greenwashing โดย ธปท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อผลักดันให้มีมาตรฐานกลางที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และสอดคล้องกับหลักสากล และได้เผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ครอบคลุมภาคพลังงานและภาคชนส่ง ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.66 โดยตัวชี้วัดของกิจกรรมกลุ่มสีเขียว สอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement) ให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และตัวชี้วัดของกิจกรรมกลุ่มสีเหลือง สอดคล้องตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของไทย
สำหรับ Taxonomy ในระยะถัดไปนั้น ธปท. จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร และภาคการก่อสร้าง
นายรณดล กล่าวว่า แผนงานที่ ธปท. กำลังให้ความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน คือ การช่วยให้สถาบันการเงินในไทยสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้สามารถปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านอย่างเห็นผลได้จริง โดยปัจจุบัน ธปท. ได้กำหนดความคาดหวังว่าต้องการเห็นธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เริ่มกำหนดแผนและเป้าหมายการช่วยภาคธุรกิจปรับตัวให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนัยสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดหวังผลลัพธ์ 2 เรื่องในปี 2567
ผลลัพธ์ที่ 1 คือการที่สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการ (Transition Finance Product) ที่ตรงความต้องการและเพียงพอสำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับตัว โดยนิยามของ Transition Finance Product หมายถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งช่วยสนับสนุนธุรกิจในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร โดยมีตัวชี้วัด และมีการติดตามที่ชัดเจน เช่น สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-linked loan) หรือสินเชื่อสีเขียว (Green loan) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคาดหวังว่าสถาบันการเงินจะออกผลิตภัณฑ์สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างจับต้องได้ โดยเริ่มจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
ผลลัพธ์ที่ 2 คือการที่สถาบันการเงินเริ่มมีแผนการปรับตัว (Transition plan) ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่ง Transition Plan เป็นกลไกสำคัญสำหรับทั้งภาคธุรกิจและภาคการเงิน ซึ่งเป็นแผนที่ระบุเป้าหมาย แนวทางดำเนินการ และกรอบเวลาในการปรับธุรกิจของตนเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากธุรกิจการเงินของตนเอง หรือ Scope 3 emission โดย ธปท. อยู่ระหว่างการร่วมกับธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อให้ธนาคารแต่ละแห่งพัฒนา transition plan สำหรับภาคธุรกิจที่เป็น priority sector ของตนเองอย่างน้อย 1 sector ภายในสิ้นปี 2567
"การกำหนด Transition Plan ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งการร่วมกันพัฒนา Industry Handbook และการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างประเทศ ช่วยให้ธนาคารมีแนวปฏิบัติและแหล่งข้อมูลสำหรับอ้างอิงในการพัฒนา transition plan ของตนเองได้ต่อไป" นายรณดล กล่าว
รองผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวต่อว่า ทิศทางแห่งการปรับตัวของทั้งภาคการเงิน และภาคเศรษฐกิจจริงนี้ความท้าทายที่สำคัญคือ ประเด็นด้าน "ข้อมูล" และ "ความร่วมมือระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง" สำหรับประเด็นเรื่องข้อมูล การมีข้อมูลที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและผู้บริโภค และลดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่อาจเกิดจาก Greenwashing อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับกลุ่มสถาบันการเงินในประเทศไทยยังทำได้ยาก เนื่องจากยังมีความกระจัดกระจายและมีต้นทุนการเก็บข้อมูลสูง ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญในการพัฒนา Transition plan และผลิตภัณฑ์
ปัจจุบัน ธปท. กำลังประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาแนวทางสนับสนุนให้ภาคการเงินสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจและ SMEs ที่เป็นระบบและน่าเชื่อถือ
"สิ่งที่อยากเน้นย้ำ คือ เราไม่จำเป็นต้องรอให้มีข้อมูลที่แม่นยำ 100% ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ สถาบันการเงินสามารถเริ่มสื่อสารกับลูกค้า เพื่อออกผลิตภัณฑ์สนับสนุนกลุ่มลูกค้าที่ต้องการปรับตัวชัดเจน ซึ่งจะเป็นกรณีตัวอย่าง ช่วยให้เกิด momentum ที่สามารถขยายผลให้เกิด impact ได้จริง" นายรณดล กล่าว
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าภาคการเงินไม่สามารถเดินทางตาม Journey นี้ได้ด้วยตัวเอง หากไม่มี demand จากภาคธุรกิจที่จะเดินไปด้วยกัน ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงควรร่วมมือกับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งผ่านข้อมูลการดำเนินงานของธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ รวมถึงช่วยบริษัทในกลุ่ม SMEs ที่อยู่ใน supply chain ให้มีความพร้อมปรับตัว ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินสามารถช่วยลูกค้าวางแผนการปรับตัว และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
นายรณดล กล่าวในตอนท้ายว่า การผลักดันและพัฒนาประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะข้างหน้าจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับมิติอื่นๆ ควบคู่ด้วย โดยเฉพาะมิติด้านการปรับตัว เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การระดมทุนของกองทุนการสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) เพื่อรับมือกับ Loss and Damage ที่เกิดขึ้น
จากการประชุม UN Climate Change conferences ครั้งที่ 28 (COP28) ครั้งล่าสุด จะเห็นได้ว่าประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้น วาระสำคัญต่อบริบทด้านสิ่งแวดล้อมของไทยในระยะต่อไป คือ กรอบและเป้าของประเทศในเรื่องการปรับตัวจะมีทิศทางและแผนการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างไร และภาคการเงินจะมีบทบาทสนับสนุนได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นงานที่สำคัญที่เป็นความท้าทายในระยะข้างหน้าที่จะมาถึง และต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนต่อไป