xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 35.71 โมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงอยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.30-36.00 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.55-35.80 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (12 ธ.ค.) ที่ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนักจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.32 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 35.30-35.80 บาทต่อดอลลาร์) หลังรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ล่าสุด ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยลงเร็วอย่างที่ตลาดเคยประเมินไว้ก่อนหน้า ทำให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการพลิกกลับมาอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุมเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับ ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าต่อเนื่องตามการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก (เฟด, BOE และ ECB) และรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป รวมถึงจีน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงอยู่ ทำให้เงินบาทอาจอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ต้องจับตาทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำยังคงส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้พอสมควร โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ราคาทองคำได้ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับ นอกจากนี้ ค่าเงินหยวนจีนอาจส่งผลต่อทิศทางสกุลเงินเอเชียได้ ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนว่าจะสะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นหรือไม่

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์มีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดหรือเฟดส่งสัญญาณพร้อมคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ อนึ่ง หากเฟดเซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเร็วและแรง

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ฝั่งสหรัฐฯ - ประเด็นสำคัญที่อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินได้ คือ ผลการประชุมเฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาด โดยเรามองว่า เฟดอาจ “คง” อัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้นและมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการกลับสู่เป้าหมาย 2% ของเฟด ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี เรามองว่าคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Dot Plot) ใหม่ของเฟด และถ้อยแถลงของประธานเฟดอาจยังคงส่งสัญญาณว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน หรือเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ เพื่อให้มั่นใจว่า เฟดจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้จริง โดย Dot Plot ใหม่อาจยังคงย้ำจุดยืนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง -50bps ในปีหน้า ซึ่งน้อยกว่าที่ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่กำลังคาดการณ์ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้กว่า -100bps โดยภาพดังกล่าวอาจยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนธันวาคม รวมถึงรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤศจิกายน โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาประเมินว่า เฟดมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งภาพดังกล่าวจะยิ่งส่งผลให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและค่าเงินบาท (รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ได้)

▪ฝั่งยุโรป - เราประเมินว่าแนวโน้มการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ จะส่งผลให้ทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.00% (Deposit Facility Rate) และ 5.25% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เราคาดว่า ทั้ง ECB และ BOE อาจยังคงส่งสัญญาณว่าพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้หากอัตราเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี หาก ECB และ BOE ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น หรือ แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอาจกดดันให้สกุลเงินฝั่งยุโรป อย่างเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงได้บ้าง และนอกเหนือจากผลการประชุมของทั้ง ECB กับ BOE ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของอังกฤษ รวมถึงยูโรโซน

▪ฝั่งเอเชีย - ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างคาดว่า เศรษฐกิจจีนจะส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยยอดค้าปลีกอาจโตกว่า +12%y/y (ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนหน้า) ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) อาจโตราว +5%y/y นอกจากนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการเศรษฐกิจญี่ปุ่นผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกมาดีกว่าคาดอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในปีหน้า ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่าแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะทำให้ทั้งธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) และธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.875% และ 6.50% ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น