xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) หุ้นไทยส่อแววซบยาวถึงปีหน้า มาตรการไม่ปลุกใจ ฉุดวอลุ่มหด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาพรวมตลาดหุ้นไทยเดือนสุดท้ายของปีส่อซบเซาต่อเนื่อง จากวอลุ่มซื้อขายที่เบาบาง หลังมาตรการควบคุมโปรแกรมเทรด และ Naked Short Selling ออกฤทธิ์ได้ไม่โดนใจ แม้โบรกฯเชื่อดัชนีมีลุ้นฟื้นตัวแตะ 1,500 จุด ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีต่างชาติเทขายแล้ว 1.79 แสนล้านบาท

ตลาดหุ้นไทยปิดตลาดวันแรก ต้อนรับเดือนสุดท้ายของปี (1ธ.ค.66) ที่ระดับ 1,380.31 จุด เพิ่มขึ้น 0.13 จุด มูลค่าการซื้อขายเหลืออยู่ที่ 3.76 หมื่นล้านบาท ภาพรวมตลอดทั้งปีดัชนีหลักทรัพย์ฯไม่สามารถทะยานขึ้นเหลือ 1,700 จุดได้สำเร็จ ขณะเดียวกันทิศทางการเคลื่อนไหวตลอด 11 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในขาลงต่อเนื่อง

โดยสถิติปิดตลาดสูงสุดเกิดขึ้นในเดือนม.ค.ที่ระดับ 1,0671.43 จุด และปิดต่ำสุดที่ 1,380.18 จุด ในเดือน พ.ย. ทำให้ภาพรวมดัชนีปรับตัวลดลงจากต้นปี 291.28 จุด หรือ 21.10%

ส่วนภาพรวมย้อนหลัง 1 ปี นักลงทุนทั่วไปซื้อสะสม 1.07 แสนล้านบาท ตามสถาบันในประเทศซื้อสะสม 7.61 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศเทขาย 1.79 แสนล้านบาท ตามด้วยบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เทขาย 4.10 พันล้านบาท

นอกเหนือจากปัจจัยรุมเร้าที่กดดันตลาดจากต่างประเทศ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เรื่องเป็นที่โจษจันมมากที่สุดหนีไม่พ้นกรณี “โปรแกรม เทรดดิ้ง” ที่ใช้หุ่นยนต์เข้ามาซื้อขายหุ้น และ “Naked Short Selling” การขายชอร์ตเซลหุ้นแบบไม่มีใบหุ้นที่ยืมออกมาจากโบรกเกอร์ ถือเป็น 2 ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต่างยกให้เป็นต้นเหตุหลักๆต่อการกดดันดัชนีหลักทรัพย์ โดยเฉพาะในด้านความเชื่อมั่นในการลงทุน

นั่นเพราะนักลงทุนมองว่า โปรแกรมเทรดดิ้ง มีความได้เปรียบมากกว่าการซื้อขายแบบปกติ มิหนำซ้ำปัจจุบบันมีการซื้อขายผ่านโปรแกรมฯมากถึง 40% ของการซื้อขายทั้งหมด ทำให้รายย่อยมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นธรรม ขณะที่เสียงที่เรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต.เข้ามาดูแล กลับได้เพียงมาตรการเบาๆ แค่การรายงานเปิดเผยธุรกรรมทุกวัน 

ขณะที่ Naked Short Selling ซึ่งเป็นการการทำชอร์ตเซลที่ผิด ฃกฎหมาย ตอนนี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาด โดยเฉพาะการบั่นทอนราคาหุ้นเพื่อสร้างผลประโยชน์จากส่วนต่างราคา จนทำให้หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ธุรกิตเติบโตมีผลกำไร อย่างหุ้นในกลุ่ม Set 50-100 หลายบริษัทมีราคาลดลงสวนทางกับความจริง จะให้นักลงทุนรายย่อยเข้าไปรับข้างเดียวก็ไม่ไหว เพราะแรงทุบขายแบบน่ากังขามีออกมาอย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ยิ่งจะทำให้สถานการณ์ตลาดหุ้นเลวร้ายลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ ความน่าสนใจลงทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน จนการฟื้นวิกฤตศรัทธาไม่ใช่เรื่องง่ายๆเหมือนที่ผ่านมา งานนี้ร้อนไปถึงนายกรักฐมนตรี และรัฐบาล ที่จะต้องเข้ามาแก้ไขและฟื้นความเชื่อมั่นโดยเร่งด่วนก่อนที่ทุกอย่างจะเลวร้ายลงอีกจนไม่ทันการ

นั่นเพราะดูเหมือนมาตรการที่ภายหลังตลาดหลักทรัพย์ฯจะออกมารับลูก ยังไม่เพียงพอที่จะป้องปรามหรือกำราบการถล่มขายเพื่อกินกำไรส่วนต่างให้เขาบางลงได้ ดังนั้นแม้งานฟื้นศรัทธาจากประชาชนด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายเรื่องกำลังเป็นที่ถกเถียงจากหลายฝ่าย แต่สถานการณ์ที่เลวร้ายของตลาดหุ้น ณ เวลานี้ ก็เป็นประเด็นที่รัฐบาลไม่สามารถเพิกเฉยได้เช่นกัน นั่นเพราะหากยังปล่อยให้ความตกต่ำก่อตัวอย่างไม่หยุด เก้าอี้ต่างๆที่นั่งบริหารกันอยู่อาจสั่นสะเทือนจนถึงขั้นล้มกระดาน

สิ่งเหล่านี่ทำให้ ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเริ่มพยายามเพิ่มมาตรการออกมาแก้ไขปัญหา อย่างล่าสุด “พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าจากการหารือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่องธุรกรรมการขายชอร์ต (Short Sell) และโปรแกรมเทรดดิ้งในช่วงที่ผ่านมา ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการขายชอร์ตที่ไม่มีการยืมหลักทรัพย์ (Naked Short Sell) เป็นสิ่งไม่ถูกต้องและไม่เห็นชอบกับการกระทำแบบนี้ 

โดยการป้องปราม Naked Short Selling จะมีอยู่ 3 ระดับ ได้แก่ 1. การป้องปรามจากโบรกเกอร์ 2.ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ 3.สำนักงาน ก.ล.ต. เริ่มที่ ASCO จะพัฒนาแนวทางปฏิบัติให้สมาชิกบริษัทหลักทรัพย์ได้ใช้ดำเนินการเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้น โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้ข้อสังเกตกับ ASCO สำหรับแนวปฏิบัติในการสอบทานธุรกรรมที่เข้าข่าย Naked Short Sell ก่อนนำมาประกาศใช้ในสมาชิกบริษัทหลักทรัพย์ร่วมกัน 

อย่างไรก็ตาม แนวปฏิบัติดังกล่าวจะสามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้หลังจากผ่านการเจรจาในอีก 2-3 รอบ หรือภายในสิ้นปีนี้ อย่างช้าที่สุด คือ ช่วงไตรมาส 1/2567 เพื่อให้มีรูปแบบเทียบเคียงได้กับสากล และความเชื่อมั่นว่าหลังจากประกาศใช้แล้วจะเป็นผลดี รวมถึงสามารถป้องปรามไม่ให้เกิดการทำธุรกรรม Naked Short Sell ได้

ขณะที่ ในฟากนักลงทุนทั่วไป สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นเพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นนั่นคือการหยุดธุรกรรมดังกล่าว พร้อมดำเนินการสอบสวนย้อนหลังน่าจะเป็นวิธีแก้ไขได้ดีกว่า การออกมาตรการมากมายมาควบคุม แต่กลับกลายเหมือนเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด 

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตเห็นว่า ในเดือน พ.ย. หุ้นส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาทำ SHORT SELL เกิดขึ้นจากหุ้นที่ถือผ่าน NVDR ถึง 3.27 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 44% ของมูลค่าซื้อขายรวม

โดยมูลค่าการ SHORT SELL NVDR กว่า 44% ของมูลค่าซื้อขายถือว่าผิดปกติ เมื่อเทียบกับสัดส่วนการถือครองหุ้นทั้งหมดผ่าน NVDR เพียง 5.6% เท่านั้น ส่วนต่างชาติถือครองทางตรงราว 23.1% ดังนั้นภายใต้มูลค่าซื้อขายที่เบาบาง และหากหุ้นที่ถูกถือครองผ่าน NVDR สูง ๆ มีปัจจัยลบมากระทบ มีโอกาสถูกยืมมา SHORT SELL สูง ส่งผลให้หุ้นนั้น ๆ ผันผวนมากกว่าปกติได้

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ยิ่งทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า ในเดือน ธ.ค. ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้าภาพรวมการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯยากที่จะกลับมาคึกคักเหมือนก่อน นั่นเพราะมาตการที่ออกมาไม่ตรงใจนักลงทุน ดังนั้นเมื่อการลงทุนมีความเสี่ยง การหยุดลงทุนถือเงินสดในภาวะเช่นนี้ น่าจะปลอดภัยที่สุด และย่อมมีผลให้ปริมาณซื้อขายในตลาดส่อเค้าเบาบางลงไปยิ่ง จนนำไปสู่การหยอกล้อกันเองของนักลงทุนว่า “คนหยุดเทรด ปล่อยให้โปรแกรมมันเทรดกันเองแล้วกัน”

ด้าน กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจ ตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ตลาดทุนไทย ในอนาคต กำลังเผชิญความท้าทาย 4 ด้าน ที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนยุคสมัยคือ Technology, Geopolitics, Aisa and Asean Rising และ Climate Change ทำให้ทุกคนต้องเตรียมตัวและปรับตัวเพื่อการเข้าสู่โค้งสำคัญนี้ และต้องมองหาโอกาสให้เจอ เพื่อหยิบฉวยโอกาสมาเป็นของเรา 

ดังนั้น การที่ตลาดทุนไทยจะก้าวข้ามความท้าทาย 4 ดังกล่าวได้จะต้องปรับปรุงมาตรการ หรือกฎเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งมาตรการ BOI, กฎหมายต่างๆ, กระทรวงการคลัง, กระทรวงต่างประเทศ, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และก.ล.ต.

นอกจากนี้จะต้องสร้างมาตรฐาน ให้ตลาดหุ้นไทย ได้แก่ 1.สินทรัพย์ แห่งอนาคต อย่าง Bitcoin, Ethereum 2.การ Reinvent ตลาดทุนไทย เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ และ การพัฒนา Single Portal 3. การปิดจุดมืด ของตลาดทุนไทย โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก / Unrated Bonds (ไม่มีการจัดอันดับเครดิต) ทำอย่างไรที่จะทำงานร่วมกับบริษัทขนาดเล็ก ให้ขึ้นมาเป็นหุ้นขนาดกลางได้



กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจ ตลาดทุนไทย (FETCO)
ขณะเดียวกัน ต้องควบคุมการปั่นหุ้น เพื่อไม่ให้ เกิดความเสียหายต่อนักลงทุนรายย่อย, บริษัทหลักทรัพย์ (บล.), บริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน (บลจ.) และ 4. Capital Market for all โดยจะต้องมีเรื่องของ Sustainability / ESG , Social Contribution/ Credit, SME / Communities โดยเชื่อว่าการสร้าง Strong Foundation คือคำตอบสุดท้ายในโลกยุคใหม่

สำหรับเรื่องการขาย Naked Short Selling นั้นจะต้องเคลียร์ให้ชัดเจนว่า มีการทำหรือไม่มีการทำ หลังจากนี้จะมีแนวทางป้องกันอย่างไร อะไรทำได้หรือไม่ได้ และหากพบว่า ใครยังทำในสิ่งที่ไม่ดี ก็ควรมีบทลงโทษด้วยเช่นกัน โดยคาดว่า แนวโน้ม ตลาดหุ้นไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ ในช่วงกลางปี 2567 เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยช่วงปลายปี2567 ซึ่งหนุนให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น และสภาพคล่องที่ตึงตัวปรับตัวดีขึ้น

พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ล่าสุด ด้านบล.เอเซีย พลัส ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือน ธ.ค.นี้จะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ย เงินเฟ้อ ค่าเงินอยู่ในช่วงปรับตัวลดลง และหมดรอบทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และกำไรบริษัทจดทะเบียนทยอยดีขึ้น รวมถึงแรงหนุนจากกองทุนไทยและต่างประเทศช่วยพยุงตลาดหุ้นช่วงที่เหลือของปี กลยุทธ์การลงทุนในเดือนนี้กระจายการลงทุนหุ้นพื้นฐานดีในหลากหลาย SECTOR อย่าง TISCO, WHA, ADVANC, GULF, CPALL, PLANB, BH, PTTGC คาดหวัง SET Index กลับไปแตะ 1,500 จุด ปลายปี และ 1,717 จุดในปีหน้า 

ส่วนประเด็นความเสี่ยงต่างประเทศเริ่มผ่อนคลายลง เริ่มจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกทยอยลดลงอย่างชัดเจน เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และมีโอกาสทยอยปรับลงตั้งแต่ต้นไตรมาสแรกของปี 2567 รวมถึงความเสี่ยงต่อ RECESSION ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ลดระดับลง เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ขณะที่ประเทศกลุ่มกำลังพัฒนามีความเสี่ยงน้อยอยู่แล้ว

โดยความเสี่ยงที่ต้องติดตาม 1) ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งหากมีการขยายวงกว้างไปสู่ความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค อาจทำให้ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น 2) ผลกระทบของเอลนีโญที่อาจสร้าง COST PUSH INFLATION โดยค่าดัชนีชี้วัด ONI ล่าสุดอยู่ที่ 1.5 ซึ่งอยู่โซนของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญมากขึ้นแล้ว (ONI > 0.5) และยังอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี 3) มูลค่าซื้อขายเบาบางพร้อมกับปริมาณการ Short Sell หุ้นไทยที่ยังสูงอยู่กดดันตลาดหุ้นผันผวนช่วงสั้น

กลับมาที่ภาพรวม SET INDEX ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ก.ย.-พ.ย.66) ปรับตัวลดลงเกิน -10% ซึ่งเป็นการลดลงลึกมาก จนมีระดับ PECENTILE สูงกว่า 90% เมื่อเทียบกับข้อมูลที่มีทั้งหมดใน 48 ปีที่ผ่านมา

ทำให้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า SET จะฟื้นตัวได้จากหลาย ปัจจัยเฉพาะตัวหนุน 1) รัฐบาลใหม่ทยอยออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่อง 2) เศรษฐกิจไทยช่วง 2H66-1H67 เติบโตเป็นขั้นบันได ซึ่งมีตัวเร่งเศรษฐกิจ คือ ภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ การส่งออก และการบริโภคใน ประเทศ 3) EPS Growth 2567 เติบโต DOUBLE DIGIT 12.6% อยู่ที่ 99.8 บาท/หุ้น ตั้งดัชนีเป้าหมายไว้ที่ 1717 จุด มี Upside อีกมากพอสมควร

สำหรับ Fund Flow คาดได้แรงกระตุ้นจากเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งส่วนของ THAIESG ที่คาดเข้ามาหนุนในช่วงที่เหลือของปีราว 1-2 หมื่นล้านบาท และช่วงต้นปีหน้าตลาดหลักทรัพย์จะมีการจัดทำดัชนี SET50FF และ SET100FF ทำให้หุ้นสถาบันต้องมีการออกกองทุนใหม่อิงกับดัชนีนี้

ขณะที่ในส่วนของ Flow ต่างชาติมีโอกาสไหลเข้ามากขึ้น ในภาวะสิ้นสุดดอกเบี้ยขาขึ้นอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่า หรือค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าได้ รวมถึงเงินบาทน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังดุลการค้าดีกว่าคาดหนุนให้ FUND FLOW ค่อยทยอยไหลกลับมาในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีและในปีหน้าได้ พร้อมกับต่างชาติได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม

ดังนั้นกลยุทธ์ประจำเดือน ธ.ค. แนะนำ BUY & HOLD โดยกระจายการลงทุนให้หุ้นพื้นฐานดี ในหลากหลาย SECTOR อย่าง TISCO, WHA, ADVANC, GULF, CPALL, PLANB, BH, PTTGC ส่วนเป้าหมายดัชนียังคาดหวังจะกลับไปแตะ 1,500 จุดปลายปี และ 1,717 ในปีหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น