ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุจากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ 2.4% ในปี 2566 และ 3.2% ในปี 2567 โดยหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อัตราการขยายตัวในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% ลดลงจาก 4.4% ที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนจากวงเงินที่ลดลงและการเลื่อนระยะเวลาเริ่มโครงการ
ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ที่ระดับ 2.5% ไปตลอดปี 2567 โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ Neutral rate หรือระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทยกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับในช่วงก่อน COVID-19 ซึ่งจะช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ผ่านการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน
ซึ่งสอดคล้องกับการสื่อสารของ กนง.ที่ระบุว่าเศรษฐกิจไทยกำลังทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับ Neutral zone ที่เหมาะสมกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยให้การก่อหนี้ใหม่เป็นไปอย่างสมดุลมากขึ้น เทียบกับช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากมานาน โดยหากเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าเป็นไปตามที่ กนง. คาดการณ์ไว้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันต่อเนื่อง
สำหรับในปี 2567 แม้โครงการ Digital wallet อาจช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงกว่าระดับศักยภาพและก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ SCB EIC ประเมินว่าผลจากมาตรการดังกล่าวจะเป็นเพียงผลชั่วคราว โดยเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในระดับศักยภาพดังเดิมในภายหลัง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท. ได้
ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยถึงผลการประชุม กนง.ซึ่งมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี หลังมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 8 ครั้งติดต่อกันในช่วงก่อนหน้านี้ โดยมีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ภาคการส่งออกและการผลิตที่เกี่ยวข้องชะลอลง และได้มีการปรับลดตัวเลข GDP ในปี 2566 ลงจาก 2.8% ที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็น 2.4% และคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ 3.2% และ 3.1% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ หากไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล แต่กรณีที่รวมโครงการดังกล่าวอัตราการขยายตัว คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% และ 2.8% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3% และ 2.0% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ
สำหรับค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยอยู่ที่ 34.75 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ โดยภาพรวมในปีนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 0.6% โดย กนง. ระบุว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการคาดการณ์แนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ในภาพรวม กนง. ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว และจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ดังนั้น กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในอีกหลายไตรมาสข้างหน้า