xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) AOT ธุรกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง เมินโปรแกรมเทรดรุมถล่มราคาหุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ท่าอากาศยานไทย” หลังโดนโปรแกรมเทรดดิ้งถล่มต่อเนื่อง ฉุดราคาหุ้น สะท้อนข้อเรียกร้องมาตรการควบคุม Short Sell ต้องมี ขณะภาพรวม AOT ศักยภาพแกร่ง ให้ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนไม่เป็นไปตามเป้า เชื่อแผนพัฒนาสนามบินทุกแห่งหนุนการเติบโตในอนาคต

สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ทรุดลงต่อเนื่อง ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายแต่ละวันที่หนาแน่น โดยประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการฉุดราคาหุ้นให้ดิ่งลง มาจากสภาวะธุรกิจถูกปัจจัยลบกด รวมถึงการถูกโปรแกรมเทรดดิ้ง (Robot) เข้ามาซ้ำอีกด้่าน โดยเฉพาะหลังจบการซื้อขายเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 AOT ถูกเทขายจนราคาร่วงลง เพราะนับตั้งแต่วันอังคารที่ 21 พ.ย.66 จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ย.66 ถูกถล่มขายอย่างหนัก ระหว่างชั่วโมงซื้อขายทุบราคาลงไปต่ำสุดที่ 61.50 บาท ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดในรอบ 12 เดือน ก่อนจะเด้งขึ้นมาปิดที่ 62.25 บาท ลดลง 3.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 11,666.16 ล้านบาท กลายเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุดอันดับหนึ่งประจำวัน

จากข้อมูลพบว่า โปรแกรมเทรดดิ้ง (Robot) พุ่งเป้าโจมตี AOT โดยเป็นผู้ซื้อขายรายใหญ่สุด มีมูลค่าซื้อขาย 4,600.15 ล้านบาท หรือซื้อขายสัดส่วน 40.06% ของมูลค่าซื้อขายหุ้น AOT เรื่องดังกล่าวยิ่งต้องย้ำความกังวลของนักลงทุนต่อเสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยที่นับวันยิ่งลดทอนลงไป โดยเฉพาะการขาดมาตรการควบคุมการ Short Sell หุ้นและโปรแกรมเทรดเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่นักลงทุน

แม้จะมีการชี้แจงว่า ราคาหุ้น AOT ที่ลดลงจะมาจาก ปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ฟื้นตัวตามคาด การขยายเวลาลดค่าผู้ประโยชน์ให้ผู้เช่าสนามบิน รวมทั้งคิงส์เพาเวอร์ จนเป็นผลให้แนวโน้มผลประกอบการ AOT อาจไม่เติบโตตามเป้าหมาย ขณะที่เงินปันผลไม่ได้จ่ายมาแล้ว 3 ปี เช่นเดียวกับค่า พี/อี เรโช สูงกว่า 100 เท่า

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ปัจจัยลบต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อ AOT และเป็นจุดที่เปิดช่องให้โปรแกรมเทรดดิ้ง เข้ามาโจมตีราคาหุ้น เพราะประเมินแล้วว่าราคาหุ้นมีความเปราะบาง และนักลงทุนไม่พร้อมที่จะช้อนหุ้นเก็บ จึงเข้ามาถล่มขายซ้ำเติม ทำกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นขาลง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผลประกอบการ AOT ทรุดหนัก 2 ปี จากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 โดยปี 2564 ขาดทุน 16,322.01 ล้านบาท ปี 2565 ขาดทุน 11,087.87 ล้านบาท และปี 2566 ซึ่งปิดงบเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 8,790.87 ล้านบาท

ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่คือกระทรวงการคลัง ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70% ของทุนจดทะเบียน โดยมีนักลงทุนรายย่อยจำนวนทั้งสิ้น 78,999 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ถือหุ้น AOT เพื่อการลงทุนระยะยาว โดยรอบปัจจุบันฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ หลายแห่งประเมินไว้สูงกว่า 92.00 บาท และมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80.59 บาท

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ AOT ช่วยตอกย้ำว่า แม้กระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่ 70% ของทุนจดทะเบียน และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยเกือบ 8 หมื่นราย แต่เรื่องดังกล่าวกลับไม่ได้เป็นอุปสรรค ในการบุกโจมตีของ Robot ซึ่งช่วยตอกย้ำว่า โปรแกรมเทรดดิ้งเหล่านี้มีความสามารถทุบหุ้นตัวใดให้ร่วงลงแรงได้ แม้แต่หุ้นขนาดใหญ่ มาร์เกตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงในอันดับต้นๆ ของตลาดหุ้นก็ตาม

พร้อมกับเกิดคำถามย้อนไปสู่ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. และผู้ควบคุมตลาดอย่างสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ว่า จะปล่อยให้ Robot อาละวาดไล่โจมตีหุ้นและตลาดไปอีกนานแค่ไหน

ประเมินสาเหตุกดดันธุรกิจ

ทั้งนี้ สามารถประเมินปัจจัยที่กดดันราคาหุ้น AOT จนทำให้โปรมแกรมเทรดดิ้งเข้ามารุมกดดันได้นั้นเกิดจากผลประกอบการ AOT ออกมาไม่ได้ดีมาก สวนทางกับนักลงทุนต่างคาดหวังไว้สูง เนื่องจากหุ้น AOT เป็นบริษัทที่ได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวจีนไม่ได้กลับมาไทยอย่างที่คาดหวังไว้ โดยมีประมาณ 1 ใน 3 ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทั้งที่รัฐบาลมีมาตรการฟรีวีซ่าออกมา

นอกจากนี้ บริษัทยังออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบินเพิ่มเติมช่วงเดือน พฤศจิกายน 2566-เมษายน 2567 โดยเป็นการให้เลื่อนชำระและแบ่งชำระส่วนต่างระหว่างค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละและค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) ออกไปอีกระยะเวลา 6 เดือน แบ่งชำระได้ 12 เดือน ส่งผลให้กระแสเงินสดเพิ่มขึ้น

ยืนยันธุรกิจฟื้นตัว

ด้าน “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ยืนยันว่าบริษัทยังมีความแข็งแกร่ง และยังสามารถ เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยยังคงคาดการณ์ปริมาณการ เดินทางผ่านท่าอากาศยานทั้ง 6 ท่าในสังกัดของบริษัท ทั้งปี 2567 (ต.ค. 2566-ก.ย. 2567) ที่ราว 120-130 ล้านคน ใกล้เคียงกับปี 2562 (ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19)

สำหรับประมาณผู้โดยสาร ณ ช่วงกลางไตรมาสแรก ปี 2567 (ต.ค.-ธ.ค. 2566) มีปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศฟื้นตัวกลับมาที่ระมาณ 95% ของปี 2562 ส่วนผู้โดยสารต่างประเทศกลับมาได้ราว 70-75% ของปี 2562 แล้ว แม้นักท่องเที่ยวจีนยังฟื้นตัวเพียง60% ของปี 2562 แต่ปริมาณนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นยัง สามารถฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Outperform)

ขณะเดียวกันบริษัทยังได้เปิดใช้รันเวย์ที่ 3 และ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เพิ่มศักยภาพ รองรับผู้โดยสารได้ถึง 80 ล้านคนต่อปี หนุนให้ภาพรวมรายได้กลุ่มธุรกิจ (Aero) ทั้งปี 2567 มีแนวโน้มเติบได้ดีกว่าปี 2566

โดยการทำประมาณการนักท่องเที่ยวทั้งปี 2567 ที่ประมาณ 120-130 ล้านคน AOT ระบุว่าประเมินจากสถิติ และข้อมูล ประกอบหลายด้านทั้ง SLOT ในมือและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก โดยยืนยันมาอย่างต่อเนื่องว่า ณ ปี 2567 ปริมาณผู้โดยสารจะกลับไปเทียบเท่าปี 2562 ซึ่งปีนั้นบริษัทมีกำไรราว 2 หมื่นล้านบาท อีกทั้งบริษัทยังมีพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากการเปิด SAT บนจำนวนพนักงานเท่าเดิม

ดังนั้น กำไรทั้งปี 2567 ก็ต้องดีกว่าปี 2566 พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีมาตรการจูงใจให้ ผู้ประกอบการสายการบินเพิ่มเที่ยวบินเข้าไทยได้ นอกเหนือจากจำนวนเที่ยวบินที่แจ้งมาตาม "ตารางการบิน" (SLOT) โดยให้ส่วนลดค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน 175 บาทต่อผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 1 คนระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566-31 มีนาคม 2567 (ตารางการบิน ฤดูหนาว) เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 15%

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งกว่า 1 พันราย ที่เป็นคู่สัญญากับบริษัท ซึ่งรวมถึงกลุ่มคิงเพาเวอร์นั้นบริษัทยังรับรู้รายได้ธุรกิจ Non Aero ทั้งปีงบประมาณ 2567 ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีงบ ประมาณ 2566 เพียงแต่ให้เลื่อนระยะเวลาชำระและแบ่งผ่อนจ่ายได้ 12 เดือน

พร้อมกันนี้ บริษัทจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียม Minimum Guarantee จากคิงเพาเวอร์ ในกรณีที่จำนวนผู้โดยสาร ฟื้นตัวกลับมาเท่ากับการคาดการณ์ผู้โดยสาร ณ วันประมูล

เปิดแผนพัฒนาธุรกิจ

สำหรับแผนพัฒนาธุรกิจ ปัจจุบันนอกจาก ทอท.กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 แล้ว ทอท.ยังมีแผนทุ่มงบอีกราว 9.6-9.7 หมื่นล้านบาท ในอีก 6 ปีข้างหน้านี้ เพื่อเดินหน้าพัฒนา 6 สนามบินในการขยายศักยภาพสนามบินที่มีอยู่ ในการรองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร ซึ่งจะเป็นประตูหลักในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศ

โดยการขยายสนามบินของAOT เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร นอกจากจะเพิ่งเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 45 ล้านคนต่อปีเป็น 60 ล้านคนต่อปี

ปัจจุบัน AOT อยู่ระหว่างการก่อสร้างรันเวย์ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของรันเวย์ให้รองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 678 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2567 โดยโครงการเหล่านี้เป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วงของการขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ที่ดำเนินการมานานหลายปี และกำลังเริ่มทยอยแล้วเสร็จ

นอกจากนี้ AOT เผยว่าในปี 2567 ทอท.จะเดินหน้าลงทุนพัฒนาสนามบิน 6 แห่ง เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร โดยโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดจะออกแบบแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. ปี 2567 และเปิดประมูลปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573

ส่วนโครงการขยายสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 ประมาณ 6,300 ล้านบาท จะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR จ้างผู้ออกแบบเพื่อดำเนินการออกแบบในปี 2567 โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572

ขณะที่โครงการขยายสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 1 จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2571




นอกจากนี้ โครงการพัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ระยะที่ 1 จะดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 6 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR จ้างผู้ออกแบบ เพื่อดำเนินการออกแบบในปี 2567 คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572

สำหรับสนามบินหาดใหญ่ อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บท ให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรทางอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน AOT ยังได้ลงทุน จัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ประมาณ 3,000 ล้านบาท เช่นทางเลื่อนชุดใหม่ สนามบินดอนเมือง การจัดหาเครื่องตรวจหนังสือ เดินทางอัตโนมัติ Auto channel เฟสแรก วงเงิน 600 ล้านบาท ทดแทนเครื่องเก่า ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และเฟส 2 อีกประมาณ 700-800 ล้านบาท

โบรกฯเชื่อฟื้นตัวต่อเนื่อง

“สยาม ติยานนท์” นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น AOT รีบาวด์ขึ้นมาได้หลังจากวราคาปรับตัวลงแรงติดต่อกันหลายวัน ขณะที่ธุรกิจยังฟื้นตัวได้ดีมาตลอด แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะยังมาไม่มากเท่ากับที่คาดไว้ แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวโดยรวมฟื้นขึ้นมาได้จากปี 65 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแค่ 11 ล้านคน เพราะปีนี้คาดว่าจะมีจำนวน 27-29 ล้านคน และปี 67 คาดการณ์จะเพิ่มเป็น 35 ล้านคน

สิ่งที่น่าสนใจคือ AOT จะปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges: PSC) สำหรับผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โดยปรับจาก 700 บาทต่อคน เป็น 730 บาทต่อคน และค่า PSC สำหรับผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ปรับจาก 100 บาทต่อคน เป็น 130 บาทต่อคน โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เรื่องดังกล่าว AOT ต้องรอให้กระทรวงคมนาคมอนุมัติเสียก่อน แต่ก็จะส่งผลดีต่อ AOT ที่จะมีรายได้เพิ่มเข้ามาทำให้ยังคงแนะนำ "ซื้อ" แต่ปรับลดเป้าหมายราคาพื้นฐานในปี 67 มาที่ 77 บาท จากเดิม 81 บาท หลังจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนไม่เป็นไปตามคาด

“มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล. ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักลงทุนกังวลหลังการประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/66 และผลการดำเนินงานทั้งปี 2566 (ต.ค. 2566-ก.ย. 2567) ของ AOT ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่า กำไรสุทธิ ที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์เกิดจากค่าใช้จ่ายพนักงานเพียงครั้งเดียว และค่าใช้จ่ายการเปิดใช้ SAT1

ขณะที่มีความกังวลว่าปริมาณนักท่องเที่ยวทั้งปี 2567 จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ AOT ประมาณการไว้ รวมถึง ยังกังวลเรื่องมาตรการเลื่อนชำระกระแสเงินสดให้กับผู้เช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 ท่าในสังกัดของบริษัท จะกระทบต่อรายได้กลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน ส่งผลให้กำไรทั้งปี 2567 ของ AOT จะไม่ฟื้นตัวตามที่นักวิเคราะห์ประมาณ

อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยกดดันระยะสั้น เพราะ ณ ตอนนี้ ก็ยังไม่สิ้นสุดช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวไทย อีกทั้ง ยังมีช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงช่วงที่เหลือของปี 2567 ซึ่งนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกยังมี แนวโน้มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก และแนวโน้มต้นทุนการเดินทางข้ามทวีปที่จะต่ำลงเมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น