สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดแถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาส 3/66 ขยายตัวได้เพียง 1.5% จากที่ตลาดประเมินไว้ที่ระดับ 2.0 -2.2% โดยเป็นการขยายตัวชะลอลงจาก 1.8% ในไตรมาส 2/66 เป็นผลมาจากจากการส่งออกรวมที่หดตัวลดลงต่อเนื่องมา 4 ไตรมาส (ตั้งแต่ไตรมาส 4/65)
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า สภาพัฒน์ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 67 ว่าจะเติบโตได้ 3.5% ซึ่งการขยายตัวในระดับดังกล่าวนี้ ยังไม่ได้รวมผลจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล เนื่องจากต้องรอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล จะมีแหล่งเงินจากที่ใด ตลอดจนต้องรอดูความชัดเจนในประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น รูปแบบการใช้จ่าย
“GDP ปี 67 สภาพัฒน์ยังไม่ได้รวมเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตไว้ เพราะสุดท้ายแล้วคงต้องรอดูว่านโยบายนี้จะใช้วงเงินเท่าไร ใช้เงินจากแหล่งไหน ใช้เงินกู้ หรือไม่ใช้ และซึ่งคงต้องรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความรอบคอบ” เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ
นายดนุชา ตอบคำถามว่าเศรษฐกิจไทยถึงขั้นวิกฤตหรือไม่ว่า ตั้งแต่หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็มีความผันผวนมาตลอดโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวการที่คาด ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ในขณะที่เศรษฐกิจภายในของไทยเองยังสามารถเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค หรือการท่องเที่ยว
ขณะที่บริการรับขยายตัวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การใช้จ่ายรัฐบาลยังคงลดลง ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลดลง ขณะที่การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนของภาคเอกชนที่เร่งขึ้น ส่งผลให้ 9 เดือนปี 66 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.9%
“โดยรวม เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี แต่หากจะให้ดีกว่านี้ ก็ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ และมีความเกี่ยวข้องกับการส่งออก” เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
แนะยกเครื่องโครงสร้างการผลิต เร่งส่งออก ดึงกลุ่มทุนต่างชาติ กระตุ้นการเติบโตระยะยาว
นายดนุชา ระบุเพิ่มเติมอีกว่า การผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้นั้น สามารถทำได้จากหลายส่วนประกอบกัน แต่ที่เป็นเรื่องหลัก คือ เรื่องการส่งออก ซึ่งต้องทำทั้งเร่งรัดการส่งออกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนเรื่องการลงทุน ที่ต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน
ขณะที่เป้าหมายของรัฐบาลนั้นที่ตั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไว้ที่ระดับ 5% นั้น เป็นตัวเลขเพดานบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งการจะทำให้เศรษฐกิจไทยไปถึงระดับนั้นได้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทั้งด้านการส่งออก และการลงทุนเป็นสำคัญ เร่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นแกนกลางในการสร้างเสถียรภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาว ตลอดจนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ต้องทำให้เป็นการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ เพื่อสามารถเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น และใช้เวลาอยู่ในไทยนานขึ้น
"เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ไม่เช่นนั้นการเติบโตจะอยู่ในระดับแค่ 3%กว่าไปแบบนี้ โดยต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่มีผลต่อการเติบโตของประเทศ ส่วนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 66 ที่คาดว่าจะโตได้ 2.5% และปี 67 โตได้ 3.5% นั้น ถือว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ต่อ" นายดนุชา กล่าวทิ้งท้าย