xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) รายย่อยขู่หยุดเทรดได้ผล ตลท.-ก.ล.ต.ขยับตอบรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 ความไม่พอใจต่อโปรแกรมเทรดดิ้งและ NAKED SHORT ยังทวีความคุกรุ่นและเคืองคาใจ จับตาวอลุ่มซื้อขายจันทร์นี้ (20พ.ย.) เมื่อรายย่อยประสานเสียงเชิงสัญลักษณ์หยุดเทรด ฟากรัฐบาลร้อน นายกฯส่ง “บิ๊กโต้ง”เข้าสางปม ขณะตลาดหุ้นปรับเกมส์เตรียมนำเสนอข้อมูลอย่างละเอียดเป็นรายวัน เช่นเดียวกับ ก.ล.ต.ประกาศเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ หากยังไม่มีสัญญาณหยุด SHORT SELL ลืออาจถึงเวลาเปลี่ยนแปลงเก้าอี้บริหารทั้งสององค์กร 

แม้หุ้นไทยจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง ปิดเหนือ 1,400 จุด มาอยู่ที่ 1,415.78 จุด (15พ.ย.) แต่สิ่งที่ ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นกลับมานั่นคือ มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ที่ยังวนเวียนอยู่แถวระดับ 4.5 หมื่นล้านบาท และ คาดว่าอาจจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 20 พ.ย. 2566 เมื่อนักลงทุนรายย่อยนักลงทุนรายย่อยประกาศนัดหมาย พร้อมใจกันหยุดกิจกรรมการ ซื้อขายหุ้น เพื่อร่วมแสดงพลังต่อต้าน การ SHORT SELL หรือการยืมหุ้นมาขายและโปรแกรมเทรด หรือ ROBOT 

นั่นทำให้อุณหภูมิตลาดหุ้นไทยในช่วงพฤศิจกายนเดือดเสมือนคล้ายว่าฤดูร้อน เมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องประกาศแถลงข่าวด่วนยิ่งกว่ารายสัปดาห์ แม้จะพ่วงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมายืนยันข้อมูลต่างๆ แต่ดูเหมือนสิ่งที่นำเสนอมาจะไม่ถูกใจนักลงทุน โดยเฉพาะปฏิกิริยาของผู้บริหารตลาดในแต่ละครั้งที่ผ่านมา

แต่ที่น่าสนใจคือ แม้ตอนนี้นักลงทุนอาจไม่ถูกใจตลาดหลักทรัพย์ หรือผู้ที่ควบคุมดูแล แต่อย่างน้อยก็น่าจะพออุ่นใจได้บ้าง เมื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี รับทราบเรื่องการหยุดกิจกรรมซื้อขายหุ้นในวันที่ 20 พ.ย.66 แล้ว แถมเตรียมส่ง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เข้าไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ออกนโยบายออกมา

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา กระแสข่าว SHORT SELL และโปรแกรมเทรดดิ้งเป็นเรื่องที่พูดกันหนาหูในแวดวงตลาดหุ้นไทย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 ที่ดัชนีหลักทรัพย์ฯหลุด 1,400 จุดครั้งแรก ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสกำลังทวีความรุนแรง ทำให้ปัจจัยลบในต่างประเทศมีน้ำหนักต่อการกดดัชนีมากกว่า 

ทั้งนี้ เริ่มมีการถามถึงการ SHORT SELL หรือการซื้อขายที่ผิดปกติในช่วงเวลานั้น ว่ามีผลต่อการขึ้นลงของดัชนีมากน้อยเพียงใด ซึ่งคำตอบที่ได้รับจากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนั้นยังคงเป็นคำตอบเดิมกับที่ได้รับในเดือนพฤศิจกายน 2566 ยามที่มีการตั้งโต๊ะแถลง

20 พ.ย.หยุดเทรดเชิงสัญลักษณ์

มีรายงานว่า การหยุดซื้อขายของนักลงททุนรายย่อยในวันที่ 20 พ.ย.นี้ เป็นกระแสเรียกร้องที่ไม่ได้รับการแยแสจาก ตลท. รวมถึงข้อเสนอที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ทำให้นักลงทุนรายย่อยหมดความอดทน จนต้องก่อหวอดขึ้นมา โดยนัดหมายหยุดการซื้อขาย 1 วัน เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565 เพื่อประท้วงกระทรวงการคลัง ซึ่งผลักดันนโยบายการเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.10% ของมูลค่าซื้อขาย แต่มูลค่าซื้อขายหุ้นวันนั้น ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยมากนัก

อย่างไรก็ตาม การรวมตัวหยุดกิจกรรมซื้อขายในวันที่ 20 พ.ย.นี้ หลายฝ่ายเชื่อว่าจะทำให้มูลค่าซื้อขายหุ้นในวันดังลก่าว อาจทรุดฮวบ ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปีก็ได้ นั่นเพราะที่ผ่านมานักลงทุนรายย่อยที่ได้รับความเสียหาย ขาดทุนหุ้นมาติดต่อยาวนาน 5-6 ปี โดยเฉพาะการถูก ROBOT หรือโปรแกรมเทรดดิ้งกินรวบ จึงเชื่อว่าจะมีนักลงทุนจำนวนมากกระโจนเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้ที่ร่วมชะตากรรมเดียวกันอย่างหนาแน่น

นั่นเพราะเป้าหมาย หยุดซื้อหยุดขายหุ้น 1 วัน เกิดขึ้นเพื่อแสดงสัญลักษณ์ให้ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ รับรู้ทุกข์ร้อนของนักลงทุนรายย่อย และส่งสัญญาณถึงรัฐบาล ให้ลงมาแก้ปัญหา SHORT SELL ROBOT และ NAKED SHORT หรือการขายหุ้น โดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ ซึ่งเป็นธุรกรรมของนักลงทุนต่างชาติที่ผิดกฎหมาย เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป หลังจากนักลงทุนเห็นพ้องต้องกันว่า วันนี้ตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถตรวจสอบ NAKED SHORT ได้อย่างทั่วถึง

NAKED SHORT ตรวจสอบได้ไม่ทั่ว

มีรายงานว่า รายการ NAKED SHORT จะเกิดขึ้นจากกองทุนต่างประเทศ โดยอ้างว่า ได้ขอยืมหุ้นจากคัสโตเดียนหรือผู้รับฝากสินทรัพย์ โดยคัสโตเดียนเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของต่างประเทศ แต่ตั้งสาขาในประเทศไทย และการขายโดยมีหุ้นอยู่ในมือ ทำให้กองทุนต่างประเทศที่ซื้อขายผ่าน ROBOT มีหุ้นถล่มขายอย่างไร้ขีดจำกัด ขายจนรายย่อยต้องถอดใจ เพราะรับแรงขายไม่ไหว และไม่เข้าใจว่าหุ้นที่ถูกนำมาทุบเป็นหุ้นของใคร มาจากไหน ทำไมซื้อไม่หมดเสียที

ส่วนหุ้นที่ถูกยืมมาขาย เมื่อราคาหุ้นถูกทุบจนร่วงสนิทติดพื้นแล้ว กองทุนต่างประเทศจึงทยอยซื้อหุ้นคืนในราคาต่ำ ก่อนทำรายการ NETSETTLEMENT หรือหักกลบการชำระราคาค่าซื้อขายหุ้นภายในวันเดียวกัน โดยสวาปามส่วนต่างกำไรไป ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ตามตรวจสอบไม่ทัน

ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือรายการ NAKED SHORT โดยกองทุนต่างประเทศ นั่นเพราะเป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ยิ่งตรวจไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจควบคุม ตรวจสอบ หรือสั่งให้กองทุนต่างชาติชี้แจงข้อมูล นอกจากร้องขอไปยัง ก.ล.ต.ประเทศต้นทางที่กำกับดูแลกองทุน ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้รับความร่วมมือเพียงใด ขณะเดียวกันปัจจุบันยังไม่เคยมีข่าวว่า ก.ล.ต.ทำหนังสือไปยัง ก.ล.ต.ประเทศใด เพื่อขอความร่วมมือช่วยตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย สร้างความเสียหายให้นักลงทุนในประเทศ

ดังนั้น จึงทำให้มุมมองที่นักลงทุนรายย่อยมีต่อผู้ดูแลระบบออกมาเป็นด้านลบมากกว่าบวก เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯยืนกรานว่า NAKED SHORT ไม่มี แต่รายย่อยต่างเชื่อกันว่าการตรวจไม่พบ เพราะอำนาจการตรวจสอบมีขอบเขตจำกัด จนไม่อาจก้าวล่วงถึงกองทุนต่างประเทศได้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีการทำ NAKED SHORT มากกว่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับแวดวงตลาดทุน ตลาดที่เห็นได้ชัดว่าต่อการจัดการปัญหาดังกล่าวนั่นคือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ล่าสุดกำลังกวาดล้างการกระทำผิด เอารัดเอาเปรียบนักลงทุน โดย ก.ล.ต.เกาหลีใต้ตรวจพบการทำ NAKED SHORT ของนักลงทุนสถาบันต่างชาติ และเตรียมสอบย้อนหลังในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา 

ส่วนนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่ถูกเปิดโปงทำ NAKED SHORT หรือการขายหุ้น โดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือประกอบด้วย ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ HSBC และธนาคาร บีเอ็นพี พารีบาส์ จำกัด หรือ BNP โดย ก.ล.ต.เกาหลีใต้ ได้เริ่มตรวจสอบพบความผิดปกติมาตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และกำลังขยายผลการตรวจสอบครั้งใหญ่ ย้อนหลังไปถึงปี 2564

นอกจากนั้น ยังประสานงานไปยัง HSBC สำนักงานใหญ่ในฮ่องกง ขอตรวจสอบ ข้อมูลการขอยืมหุ้นของนักลงทุนต่างชาติบางกลุ่มว่า ได้มีการทำรายการ SHORT SELL หรือการยืมหุ้นมาขายจริง หรือเป็นการทำ NAKED SHORT

ไม่เพียงเท่านี้ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ได้ประกาศห้าม SHORT SELLแล้ว ตั้งแต่ประมาณปลายเดือนตุลาคม จนมีผลถึงเดือนมิถุนายนปีหน้า ส่งผลให้หุ้นพุ่งทะยานขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ และเมื่อการประกาศห้าม SHORT SELL มีปฏิกิริยาตอบรับที่ดีจากตลาดหุ้น จึงขยายเวลาห้าม SHORT SELL ไปถึงปี 2568 

เริ่มเพ่งเล็ง บล.แชมป์โปรแกรมเทรด

กลับมาที่แวดวงตลาดหุ้นไทย ประเด็น SHORT SELL และโปรแกรมเทรดดิ้ง กำลังขยายวงออกไปไม่หยุด ล่าสุด มีการโยงไปถึงบริษัทหลักทรัพย์(บล.) แห่งหนึ่งว่าเป็นผู้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็น บล. ที่ให้ความสำคัญกับโปรแกรมเทรดดิ้ง นอกจากนี้ยังงอ้างถึงความสัมพันธ์ของผู้บริหารกับฝ่ายควบคุมดูแลตลาดทุน ซึ่งจะต้องติดตามว่าเรื่องราวในส่วนขยายนี้จะมีความชัดเจนออกมาได้เมื่อใด

ตลท.เปิดเผยข้อมูลวันต่อ

ส่วนความคืบหน้าของตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ล่าสุด “รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล” รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลท. แถลงว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลซื้อขายรายวัน Program Trading Value เพิ่มเติมบนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยจะแสดงให้เห็นว่าในวันที่ผ่านมามี Program Trading เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ หรือมียอดซื้อ ยอดขายเท่าไหร่ รวมถึง Non Program Trading คิดเป็นเป็นสัดส่วนเท่าไหร่

อย่างไรก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมนำเสนอข้อมูล Program Trading รายหลักทรัพย์ต่อนักลงทุนแบบสาธารณะด้วย โดยกำหนด Criteria เอาเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีราคาเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก หรือบวก-ลบ 10% และมีมูลค่าซื้อขายมากกว่า 50 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน หากหุ้นตัวนั้นๆ ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงไม่ถึง 10% แต่มีมูลค่าซื้อขายสูงเกินกว่า 50 ล้านบาท จะไม่ได้ถูกดึงขึ้นมาแสดง อีกทั้งต้องเป็นหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (SET) และ mai ไม่นับรวมกับ DW, DR

โดยสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากการให้ข้อมมูลครั้งล่าสุดของ ตลท.คือ ตลาดหลักทรัพย์ฯยอมรับว่าโปรแกรมเทรดดิ้งมีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคา ทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวน โดยตอนนี้มีสัดส่วนประมาณ 40% ของมูลค่าการซื้อขาย นั่นทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะนำเรื่องนี้กลับไปพิจารณาทบทวนอีกครั้ง

ขณะที่ สำหรับการตรวจสอบการทำธุรกรรม Naked Short นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการตรวจสอบที่เข้มงวดมาก โดยใช้วิธีกำกับดูแลผ่านบริษัทหลักทรัพย์ และในการทำการชอร์ตเซลทุกครั้ง ผู้ที่จะดำเนินการจะทำได้ต้องมีหุ้นในมือทุกครั้ง โดยจะใช้หลักการดูการประทับเวลา (timestamp) การส่งคำสั่งซื้อว่า ณ เวลาที่ทำการซื้อขายนั้นมีหุ้นอยู่ในมือหรือไม่

ส่วนการส่งคำสั่งมาจากต่างประเทศ แม้ว่าหุ้นจะฝากไว้ที่คัสโทเดียน แต่บริษัทหลักทรัพย์จะมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเป็นด่านแรก ก่อนที่จะส่งคำสั่งขายของลูกค้าว่ามีหุ้นอยู่หรือไม่ เพราะถ้าขายโดยไม่มีหุ้นอยู่ในความครอบครอง บริษัทหลักทรัพย์จะถูกลงโทษ ดังนั้น บริษัทหลักทรัพย์ทุกรายจะต้องมีระบบตรวจสอบคำสั่งขาย เพราะฉะนั้นยิ่งวิ่งผ่านระบบเข้ามา จะเป็นการยืนยันว่าธุรกรรมดังกล่าวมีการตรวจสอบที่เข้มงวดและรัดกุม

HFT กระทบนักลงทุนระยะสั้น

ขณะที่ “พิเชษฐ สิทธิอํานวย” นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า โปรแกรมเทรดดิ้งลักษณะรูปแบบการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง (High Frequency Trading) มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย เพราะกระทบต่อนักลงทุนบางกลุ่ม อาทิ นักลงทุนเล่นสั้น หรือสายเก็งกำไร (เข้าเร็ว-ออกเร็ว) เนื่องจากคนไม่สามารถคีย์คำสั่งได้รวดเร็วเท่ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ขอย้ำว่าเป็นกลไกของทุกตลาดในโลก

ส่วนแนวทางการตรวจสอบ Naked SHORT SELL มีการกำกับดูแลจากสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงโบรกเกอร์มีการตรวจสอบตลอดเวลา โดยทุกครั้งที่มีการสุ่มตรวจตรวจจากทั้งสองหน่วยงานกำกับ เพื่อพิจารณารายการมีความผิดปกติหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายภายในวันหรือข้ามวันโดนหมด นั่นเพราะไม่อยากให้ใครมาทำในลักษณะ "จับเสือมือเปล่า" คือไม่มีหุ้น แต่มาขายและซื้อคืน

สำหรับกรณีที่มีนักลงทุนบางรายออกมาสะท้อนถึงค่าคอมมิชชั่นของ HFT ที่ถูกกว่านักลงทุนกลุ่มอื่นนั้น เรื่องดังกล่าวไม่สามารถบอกได้ว่าถูกหรือแพง เพราะเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว และปัจจุบัน 40 โบรกเกอร์มีลักษณะธุรกิจที่แตกต่างกัน บางบริษัทมีนักลงทุนรายใหญ่อยู่มาก บางบริษัทมีนักลงทุน HFT อยู่มาก เพราะฉะนั้นคงขึ้นอยู่กับการต่อรองของนักลงทุนและโบรกเกอร์นั้น ๆ

ดังนั้น ภาพการแข่งขันของบริษัทหลักทรัพย์ฯ แม้ว่าตอนนี้หลายคนกังวลที่มีบางโบรกเกอร์ที่มีลูกค้า HFT อยู่มากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงของตลาดและการแข่งขันในอนาคต เพราะขยับมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 ปี ที่ปัจจุบันอยู่ระดับสูงกว่า 20% มองว่าสุดท้ายกลไกตลาดจะทำงานด้วยตัวเอง อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งก็จะมีการแข่งขันกันตามปกติ

ขณะที่การนัดรวมตัวกันของนักลงทุนรายย่อยเพื่อหยุดการซื้อขายในวันจันทร์ที่ 20 พ.ย.นี้ เป็นสิทธิของนักลงทุนที่จะดำเนินการได้ แต่โดยการทำงานของบริษัทหลักทรัพย์ไม่ชอบ อย่างไรก็ตามจะพยายามชี้แจงและให้ข้อมูลกับนักลงทุนได้รับรู้รับฟังความเห็นจากหลายด้าน ๆ

ก.ล.ต.ยกระดับเกณฑ์ตรวจสอบ

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกมาชี้แจงมาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ตว่า ธุรกรรมการขายชอร์ต (SHORT SELLing) เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของตลาด โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้นหาราคาที่เหมาะสม (price discovery) ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องมีการยืมหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผิดนัดการส่งมอบ (failed trade) โดยภายหลังต้องมีการซื้อหลักทรัพย์ตัวนั้นไปคืนให้ บล. อย่างไรก็ดี ธุรกรรมการขายชอร์ตอาจส่งผลกระทบต่อสภาพตลาดที่มีผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน

ที่ผ่านมา การดูแลสภาพตลาดให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากธุรกรรมการขายชอร์ตดังกล่าว ก.ล.ต. ได้เห็นชอบให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินมาตรการดังนี้คือ การกำหนดให้ขายชอร์ตได้เฉพาะหลักทรัพย์ตามรายชื่อที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศกำหนด ,การกำหนดให้ บล. ต้องระบุเครื่องหมาย "S" เมื่อมีคำสั่งขายชอร์ต เพื่อให้มีการตรวจสอบที่เหมาะสมได้ ,การกำหนด price rule เพื่อให้การทำธุรกรรมขายชอร์ตสามารถทำได้ที่ระดับราคาที่สูงกว่าหรือเท่ากับราคาตลาดครั้งสุดท้าย (zero uptick rule) เพื่อไม่ให้เกิดการ dump ราคา และ การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุนที่เหมาะสม

ทั้งนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถปรับใช้มาตรการข้างต้นในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวม หรือเกิดเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการนี้ ก.ล.ต. จึงได้ติดตามสถานการณ์และประสานให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการและพิจารณาปรับใช้มาตรการที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การยกระดับเกณฑ์ price rule ให้ธุรกรรมขายชอร์ตทำได้ที่ระดับราคาที่สูงกว่าราคาตลาดครั้งสุดท้าย (uptick rule) และหากว่ามาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถทบทวนและเสนอให้ ก.ล.ต. พิจารณาเห็นชอบได้ 

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบธุรกรรมการขายชอร์ตที่ไม่มีการยืมหลักทรัพย์ (naked short) ที่เป็นประเด็นที่มีข้อกังวลในปัจจุบัน โดย ก.ล.ต. พบว่า ระบบการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการดำเนินการตามฐานความเสี่ยง (risk based) และมีความเข้มข้นตามสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถลงโทษหากพบการดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรการข้างต้น นอกจากนี้ หากเป็นธุรกรรมขายชอร์ตที่มีผลกระทบต่อราคาอันทำให้ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมจากต่างประเทศหรือในประเทศ ก.ล.ต. ขอให้ความมั่นใจว่า ก.ล.ต. สามารถดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อนำผู้กระทำผิดซึ่งอาจรวมถึง บล. ที่มีส่วนร่วมหรือสมรู้ร่วมคิดในการกระทำผิดดังกล่าวมาลงโทษได้

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์และมีการตรวจสอบการดำเนินงานของ บล. ให้มีระบบงานในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งรวมถึงการทำธุรกรรมขายชอร์ตของลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้ามีหลักทรัพย์หรือได้ยืมหลักทรัพย์มาก่อนส่งคำสั่งขายและเป็นไปตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเพิ่มการตรวจสอบและสอบทานระบบของ บล. ในการดำเนินการดังกล่าวภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันด้วย

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อตลาดทุน และที่ผ่านมาได้สอบทานการดำเนินการดังกล่าวกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาตลอด โดยเฉพาะธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงและอาจมีแรงจูงใจให้เกิดการ naked SHORT SELLing ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อตลาดทุน ได้แก่ การซื้อขายโดยใช้ Program Trading/Algorithmic Trading เนื่องจากปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างมากจากการที่มีต้นทุนต่ำ และอาจทำกำไรได้ในช่วงราคาแคบ ก.ล.ต. จึงได้ประสานให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องจัดให้มีกลไกในการตรวจสอบคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบดังกล่าว เพื่อให้ทราบถึงผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (end beneficiaries) เพื่อให้การตรวจสอบธุรกรรมและการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก่อให้เกิดความมั่นใจต่อการซื้อขายผ่าน Program Trading/Algorithmic Trading ที่มีประโยชน์ต่อการเพิ่มสภาพคล่องของตลาดโดยรวม

นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการใช้มาตรการอื่น เช่น alternative price rule ซึ่งเป็นมาตรการบังคับใช้ uptick rule โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี การออกมาตรการต่างๆ ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และพิจารณาถึงผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน เพื่อรักษาสมดุลทั้งการคุ้มครองผู้ลงทุน และด้านความสามารถทางการแข่งขันของตลาดได้ในระดับสากล ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอเน้นย้ำบทบาทหน้าที่ โดยจะไม่ยอมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย และขอให้ทุกภาคส่วนมั่นใจในระบบการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดของ ก.ล.ต.

เสียงเรียกร้องเริ่มได้รับการตอบรับ

จากการให้ข้อมูลของหน่วยงานที่ควบคุมตลาดหุ้นครั้งล่าสุด พอจะช่วยสรุปได้ว่า  ปัจจุบัน เสียงเรียกร้องของนักลงทุนรายย่อย เริ่มได้รับการตอบรับ ไม่ใช่การกล่าวอ้างเป็นไปตามกลไกตลาดเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ฝั่งตลาดหลักทรัพย์พร้อมเสนอข้อมูลธุรกิจ SHORT SELL และข้อมูลจากโปรแกรมเทรดิ้ง แบบวันต่อวัน รวมถึงการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์ให้เกิดความเหมาะสม ขณะที่ฝั่งก.ล.ต.พร้อมเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจเพิ่มขึ้นจากหลักเกณฑ์ในปัจจุบัน และพร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความสบายใจให้แก่ทุกฝ่าย 

การตอบรับเช่นนี้ น่าจะทำให้นักลงทุนรายย่อยเริ่มผ่อนคลายความวิตกกังวลได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจเพิ่มเติมนั่นคือฝั่งรัฐบาล เพราะเมื่อเรื่องดังกล่าวไปถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว เริ่มมีกระแสข่าว บางทีการเรียกคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนอะไรต่ออะไรในองค์กรทั้งสอง เพื่อให้การบริหารงานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล แต่จะเป็นเก้าอี้ดนตรีหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เช่นเดียวกับปริมาณการซื้อขายในวันที่ 20 พ.ย.66 สามารถกดดันตลาดหุ้นและผู้ควบคุมได้มากแค่ไหน?



ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการผู้จัดการ ตลท.

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


กำลังโหลดความคิดเห็น