xs
xsm
sm
md
lg

‘VRANDA’ เตรียมโอน ‘วีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน ชะอำ’ หนุนรายได้อสังหาฯ สิ้นปีนี้ยาวถึงปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายภวัฒก์ องค์วาสิฏฐ์
"วีรันดา รีสอร์ท" ชี้ตลาดธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตในไตรมาส 4 ปี 2566 มีแนวโน้มคึกคัก รับนักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติช่วงไฮซีซัน ประกอบกับธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เตรียมโอนโครงการใหม่ ‘วีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน-ชะอำ’ เริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี หนุนรายได้ต่อเนื่องไปถึงปี 2567

นายภวัฒก์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA ผู้นำธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไลฟ์สไตล์การพักผ่อนแบบ Exclusive เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตของไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 ได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจท่องเที่ยวไทยยังมีปัจจัยลบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังเดินทางมาประเทศไทยน้อยกว่าคาด ประกอบกับ VRANDA อยู่ในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มซึ่งจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2566 นี้ 

อย่างไรก็ตาม จากสถิตินักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยของ ททท. ในช่วง 9 เดือนแรก 19 ล้านคน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 28 ล้านคน ซึ่งมั่นใจได้ว่าในไตรมาส 4/66 ช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่เช่าเครื่องบินเหมาลำเดินทางมาประเทศไทย เสริมให้ภาพรวมธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตกลับมาคึกคักอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ VRANDA ยังคงมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยในไตรมาส 4/2566 จะเริ่มรับรู้รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการวีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน ชะอำ ด้านการเปิดขาย ‘โครงการวีรันดา วิลล่า แอนด์ สวีท ภูเก็ต’ ประกอบด้วย วิลล่า 6 หลัง และคอนโดมิเนียม 12 ยูนิต มูลค่าโครงการรวมประมาณ 850 ล้านบาท ที่มียอดจองแล้วกว่า 70% รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยของภาครัฐ เช่น มาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจากจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน 

ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีนโยบายผลักดันรายได้การท่องเที่ยวไทยจากตลาดยุโรปให้มากกว่า 5 แสนล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ในเครือ VRANDA


สำหรับผลการดำเนินงานของ VRANDA ในช่วง 9 เดือนปี 2566 (มกราคม-กันยายน) มีรายได้รวม 1,026 ล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 219 ล้านบาท โดยมีขาดทุนสุทธิ 28 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจาก VRANDA อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มซึ่งจะสิ้นสุดภายในปีนี้ ขณะที่ไตรมาส 3/2566 มีรายได้รวม 329 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 20 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซันและอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม


อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 60 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น