xs
xsm
sm
md
lg

'ต่างชาติ' โอนคอนโดฯ สนั่น ยอด 9 เดือน 5.2 หมื่นล้านบาท 'พม่า' ซื้อเงินสด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ หากย้อนไปดูข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 นับเป็นเวลาเกือบ 6 ปีที่ทางศูนย์ข้อมูลฯ ได้รวบรวม DATA ส่วนนี้นำมาเสนอต่อสาธารณะ เพื่อชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดต่างชาติที่เข้ามาซื้อโครงการคอนโดมิเนียม มีการเติบโตมากน้อยเพียงใด ลักษณะของกลุ่มราคาห้องชุดที่ต่างชาติเข้ามาซื้อจะเน้นในระดับราคาที่เท่าไหร่ โซนไหนได้รับความนิยม

โดยหากดูจากข้อมูลตั้งแต่ปี 2561 จนถึง 9 เดือนของปี 66 หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ ในแต่ละไตรมาสจะเกินกว่า 1,000 ยูนิต ไตรมาส 4 ปี 61 สูงที่สุดถึง 3,845 ยูนิต ขณะที่มาพิจารณาในเรื่องของมูลค่าการโอน ภาพรวมจะมีมูลค่าการโอนเกินกว่า 10,000 ล้านบาท ยกเว้นไตรมาส 2 และ 3 ปี 63 และไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 4 ปี 65 ที่มูลค่าการโอนต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะไตรมาส 2 ปี 63 มูลค่าการโอนติดลบกว่า 50%

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายอย่างชัดเจน มีการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นปกติ ตลาดต่างชาติกลับมาพลิกฟื้น และกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง!
 
โดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กางข้อมูลชี้ว่า จากการติดตามในไตรมาส 3 ปี 66 พบว่า มีจำนวนหน่วยโอนห้องชุดของคนต่างชาติ 3,365 หน่วย มูลค่า 17,048 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.6% และ 21.1% ของการโอนห้องชุดทั้งหมด ตามลำดับ โดยมีการขยายในเชิงจำนวนหน่วย เพิ่มขึ้น 0.4% แต่ในเชิงมูลค่าลดลง -2.0%
 
และหากในรวมยอด 9 เดือนแรกของปี 66 มีจำนวนหน่วยและมูลค่าโอนห้องชุดของคนต่างชาติ 10,703 หน่วย มูลค่า 52,259 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.6% และ 23.3% ของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งหมด ตามลำดับ โดยมีการขยายในเชิงจำนวนหน่วยและมูลค่า เพิ่มขึ้น 37.6% และ 31.6% ตามลำดับ
 
ใน 9 เดือนแรกของปี 66 พบว่า ผู้รับโอน 5 ลำดับแรก
 
อันดับ 1 คือ สัญชาติจีน ยังคงซื้อห้องชุดมากที่สุดเป็นจำนวน 4,991 หน่วย มูลค่า 24,740 ล้านบาท โดยมีการซื้อขนาดพื้นที่เฉลี่ย 39.2 ตร.ม./หน่วย และมีราคาเฉลี่ย 5.0 ล้านบาท/หน่วย
 
อันดับ 2 คือ รัสเซีย จำนวน 962 หน่วย มูลค่า 3,436 ล้านบาท โดยมีการซื้อขนาดพื้นที่เฉลี่ย 42.6 ตร.ม./หน่วย และมีราคาเฉลี่ย 3.6 ล้านบาท/หน่วย
 
อันดับ 3 คือ สหรัฐอเมริกา จำนวน 422 หน่วย มูลค่า 2,102 ล้านบาท โดยมีการซื้อขนาดพื้นที่เฉลี่ย 55.5 ตร.ม./หน่วย และมีราคาเฉลี่ย 5.0 ล้านบาท/หน่วย
 
อันดับ 4 คือ ไต้หวัน จำนวน 378 หน่วย มูลค่า 1,841 ล้านบาท โดยมีการซื้อขนาดพื้นที่เฉลี่ย 40.1 ตร.ม./หน่วย และมีราคาเฉลี่ย 4.9 ล้านบาท/หน่วย 
 
และอันดับ 5 คือ สหราชอาณาจักร จำนวน 372 หน่วย มูลค่า 1,813 ล้านบาท โดยมีการซื้อขนาดพื้นที่เฉลี่ย 56.7 ตร.ม./หน่วย และมีราคาเฉลี่ย 4.9 ล้านบาท/หน่วย
 
นอกจากนี้ พบว่าผู้รับโอนสัญชาติพม่า เป็นตลาดที่น่าติดตาม ที่เริ่มเข้ามาติดอันดับตั้งแต่ปี 2565 โดยใน 9 เดือนแรกปีนี้ รับโอนห้องชุดมีจำนวนหน่วยเป็นอันดับ 7 จำนวน 347 หน่วย (สัดส่วน3%) แต่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 มูลค่า 2,250 ล้านบาท (ปี 65 มูลค่าติดอันดับ 3) โดยมีการซื้อขนาดพื้นที่เฉลี่ย 51.4 ตร.ม./หน่วย และมีราคาเฉลี่ย 6.5 ล้านบาท/หน่วย
 
ทั้งนี้ จังหวัดที่มีการซื้อห้องชุดของคนต่างชาติมากสุดคือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และระยอง
 
"คนต่างชาติยังให้ความสนใจต่อการซื้ออสังหาฯ ในประเทศไทย ห้องชุดยังคงเป็นที่ต้องการของคนต่างชาติ ดังจะเห็นได้ว่า จำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 แล้ว และมีสัดส่วนของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพิ่มเป็น 11.6% และ 21.1% ของทั้งหมด ขณะที่ในช่วงก่อนหน้า มีสัดส่วนของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ไม่เกิน 10% และมีมูลค่าการโอนไม่เกิน 15% ของทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น หากการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาเต็มที่ เชื่อว่าตลาดอาคารชุดจะได้รับความสนใจของคนต่างชาติมากยิ่งขึ้น"

ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ เช่น บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) และอีกหลายแห่งระบุในทิศทางเดียวกันว่า ลูกค้าสัญชาติพม่า เข้ามาซื้อห้องชุดกับทางโครงการโดยใช้เงินสดในการชำระทั้งหมด แม้จะสัดส่วนไม่มาก แต่ถือเป็น "ดีมานด์" ที่น่าสนใจในการขยายตลาดลูกค้าต่างชาติกลุ่มใหม่มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น