xs
xsm
sm
md
lg

รวมฮิตสัญญาณชี้วัด เอาไว้ดักผลประกอบการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เริ่มต้นการลงทุน : ก่อนที่เราจะเริ่มลงทุนหรือวิเคราะห์หลักทรัพย์ใดนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบการตัดสินใจหลักๆ จะเริ่มด้วย

1) เลือกจากภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ และหากลุ่มหุ้นที่ได้ผลบวกจากสิ่งที่เกิดขึ้น (Top-Down) เช่น หลัง Covid-19 หุ้นใดได้ประโยชน์

2) เลือกเจาะไปที่หุ้นนั้นๆ เลย (Bottom-Up) เช่น การผ่านช่วงที่แย่สุดของผลการดำเนินงานไปแล้ว

ปัจจัยกระทบต่อการดำเนินงาน : หลังจากลงทุนไปแล้ว สิ่งที่ต้องติดตามเพื่อมอนิเตอร์สิ่งที่เราคาดหมายว่าจะยังเป็นไปตามนั้นหรือไม่ หลักๆ จะประกอบด้วย

1)การเติบโตทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าของไทย เช่น จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อได้หากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอ่อนแอ

2)ภาวะอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการที่บริษัททำธุรกิจ รวมถึงวัตถุดิบที่นำมาผลิตสินค้าด้วย โดยหากอุปสงค์ไม่ดีจะกระทบต่อทั้งราคาสินค้าและยอดขายให้ลดลงได้ ขณะที่ฝั่งอุปทาน ซึ่งส่วนใหญ่คือวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้า โดยหากในตลาดมีการขยายกำลังการผลิตจนทำให้อุปทานล้นตลาด ราคาขายสินค้าลดลงได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มปิโตรเคมี ที่มีกำลังการผลิตใหม่ๆ เพิ่ม แต่อุปสงค์ไม่ฟื้นทำให้ส่วนต่างราคาเลยลดลงเรื่อยๆ แต่บางอุตสาหกรรมกลับได้รับผลบวกทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้ เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพดที่นำมาผลิตอาหารสัตว์ ในภาวะอุปทานล้นแบบนี้จะทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ลดลง ซึ่งเป็นเรื่องดีของธุรกิจ

3)ภาวะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง เช่น อากาศที่เปลี่ยนแปลงจะกระทบต่อผลผลิตได้ อย่างภาวะ “เอลนีโญ” ซึ่งทำให้เกิดภาวะภัยแล้งและส่งให้ผลผลิตลดลงได้ เช่น ปีนี้คาดเกิดเอลนีโญในไทยส่งให้ผลผลิตยาง และพืชอื่นๆ ออกมาน้อยกว่าปกติ เหล่านี้จะทำให้ราคาพืชเหล่านี้ปรับเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกับปริมาณผลผลิตที่ลดลง

4)ค่าเงินบาทที่ผันผวน จะดีต่อผู้ส่งออกหากเงินบาทอ่อนค่า และลบต่อผู้นำเข้าจากต้นทุนนำเข้าเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ที่กู้ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศด้วย

5)มาตรการหรือกฎระเบียบของประเทศไทย หรือประเทศคู่ค้า อาจทำให้ต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้น หรือการส่งออกมีความยากขึ้นก็ได้

สัญญาณชี้วัดเราดูอะไร?

คราวนี้เรามาดูกันว่า หุ้นต่างๆ เหล่านี้มีประเด็นอะไรที่ต้องติดตามกันบ้างหลังจากเข้าลงทุนไปแล้ว

กลุ่มเกษตร : กลุ่มยางพารา (NER, STA, TEGH และ TRUBB) ปาล์ม (UPOIC, UVAN, VPO และ CPI) หากราคายาง และปาล์มปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นด้วยตามราคาขายที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันจะส่งผลกระทบทางลบต่อบริษัทที่นำวัตถุดิบเหล่านี้ไปผลิตต่อ เช่น STGT, KCG, LST และ SNNP

กลุ่มอาหาร : กลุ่มเนื้อสัตว์ หมู ไก่ (GFPT, BR, BTG, CPF และ TFG) โดยกลุ่มนี้เราจะเน้นดูราคาหมู ไก่เป็นหลัก จากรายได้หลักจะมาจากสินค้าดังกล่าว หากราคาในท้องตลาดลดลงจากกำลังซื้อที่หดตัว เหล่านี้จะทำให้กำไรลดลงได้ และในทางตรงข้ามเราต้องดูราคาวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ด้วย เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพดด้วย

แต่ในทางกลับกันราคาเนื้อสัตว์ที่ลดลงจะดีกับผู้นำเอาเนื้อสัตว์ไปแปรรูปหรือเป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ เช่น กลุ่มร้านอาหาร (M, SNP, ZEN และ SORKON)

กลุ่มส่งออกอาหาร : ประกอบด้วย ทูน่า กุ้ง และอาหารสัตว์เลี้ยง (AAI, ASIAN, CFRESH, CHOTI, ITC, SSF, TC และ TU) หากราคาวัตถุดิบหลักอย่างกุ้ง และทูน่าลดลง จะดีต่อผู้ผลิตทำให้ต้นทุนลดลง และส่วนใหญ่บริษัทพวกนี้เป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออก ดังนั้นค่าเงินบาทที่อ่อนค่าย่อมเป็นบวกต่อการดำเนินงาน แต่ให้ระวังกลุ่มที่ใช้แรงงานมาก เพราะการปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลลบต่อการดำเนินงานได้

กลุ่มเครื่องดื่ม : เครื่องดื่มชูกำลัง (CBG OSP) น้ำผลไม้และทั่วไป (COCOCO, PLUS, ICHI, MALEE, SAPPE และ TIPCO) กลุ่มนี้จะเน้นดูที่ต้นทุนการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่คือพืชผลทางการเกษตร และต้นทุนบรรจุภัณฑ์หลักๆ คือ อะลูมิเนียม ขวด PET รวมถึงต้นทุนพลังงาน ซึ่งเราคาดว่าหลังจากนี้ราคาบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่กำลังมีทิศทางปรับลดลง ซึ่งดีต่อต้นทุนการดำเนินงานลดลง

กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี : โรงกลั่น (BCP, ESSO, IPRC, PTTGC, SPRC และ TOP) กลุ่มนี้จะดูค่าการกลั่น (GRM) และราคาน้ำมันผ่านทิศทางของ Crude premium เป็นสำคัญ

กลุ่มสถานีบริการน้ำมัน : (BCP, ESSO, PTG, OR และ SUSCO) เราจะดูค่าการตลาด เนื่องจากธุรกิจหลักคือการจำหน่ายน้ำมัน โดยแนวนโยบายด้านพลังงานของรัฐทำให้ค่าการตลาดไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างเสรี ประเด็นนี้ต้องติดตามใกล้ชิด

ที่มา : บล.ลิเบอเรเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น