หุ้นไทยหลุด 1,400 จุดอีกรอบ หลายฝ่ายพุ่งเป้า “Short Sell” ด้านก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯยืนยันเป็นไปตามสภาวะตลาด ส่วนธุรกรรมยืมหุ้นมาขายแค่แพะรับบาป ภาพรวมตลาดหุ้นปี66 ต่างชาติเทรดหนาแน่นสุด แถมใช้โปรแกรมเทรดมากขึ้น ขณะที่นักลงทุนเข้าถึงเครื่องมือได้น้อย ทำให้สูญเสียโอกาส แถมผู้เล่นหายไปกว่าเท่าตัวกดวอลุ่มเทรดลดฮวบ จี้หาวิธีรับมือก่อนปีหน้าดัชนีทรุดต่อ
“ตลาดหุ้นขาลง” น่าจะเป็นนิยามสำหรับสถานการณ์หุ้นไทยในช่วงเวลานี้ นั่นเพราะในเวลาไม่ถึง 1 เดือนจากที่ดัชนีหลักทรัพย์หล่นลงไปหลุด 1,400 จุด ในช่วงปลายเดือนต.ค. 2566 แม้จากนั้นดัชนีฯจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาบ้าง แต่จนแล้วจนรอดดัชนีฯได้กลับมายืนต่ำกว่า 1,400 จุดอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 10 พ.ย.2566 อีกครั้งที่ระดับ 1,389.57 จุด
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการลดลงของดัชนีฯในรอบนี้ หนีไม่พ้นเสียงร่ำลือว่าส่วนหนึ่งมาจากการทำ Short Sell หุ้น (ยืมหุ้นมาขาย) ซึ่งเสียงร่ำลือแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นกับการหลุดลงต่ำกว่า 1,400 จุดของดัชนีฯในครั้งนี้ นั่นเพราะกระแสดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงเดือนต.ค.ที่ดัชนีฯร่วงหนักเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ได้ออกมาแก้ต่างตั้งแต่ช่วงเวลานั้นแล้วว่า ไม่พบการซื้อขายที่ผิดปกติ รวมไปถึงการลดลงของดัชนีฯในรอบนี้ ผู้มีอำนาจในตลาดทุน ได้แก่ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวร่วมกันเมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 9 พ.ย.2566ว่า ไม่พบความผิดปกติจากการ Short Sell หุ้นอีกเช่นกัน
ไม่พบสัญญาณทุบหุ้น
“พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการ ก.ล.ต. แสดงความเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการห้าม Short Sell เนื่องจากยังมองไม่เห็นว่าการห้ามธุรกรรมดังกล่าว จะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย เพราะนับตั้งแต่ต้นปี 2566 สัดส่วนการทำ Short Sell จนถึงปัจจุบันมีสัดส่วนแค่เพียง 5.6% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด ถือว่าไม่ได้มีความแตกต่างจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ส่วนโปรแกรมเทรดดิ้ง (Algorithm Trading) ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นนั้น มองว่าเป็นไปตามทิศทางการเติบโต เพราะปัจจุบันไม่ใช่แค่เพียงนักลงทุนต่างชาติเพียงเท่านั้นที่สามารถใช้โปรแกรมซื้อขายได้ ที่ผ่านมาบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ก็ได้ให้บริการกับนักลงทุนรายย่อยด้วยเช่นกัน อีกทั้งมองว่าโปรแกรมเทรดดิ้งมีสัดส่วนที่ดีต่อตลาดหุ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขาย
“ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่เปิดให้ทำ Short Sell แบบมีเงื่อนไข คือมีเกณฑ์ให้ทำในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายล่าสุด และห้ามการทำ Naked Short Sell ไม่ว่าจะโปรแกรมเทรดดิ้งหรือซื้อขายปกติ คือต้องมีหุ้นก่อน หรือยืมหุ้นมาก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดส่งมอบ ดังนั้นด้วยกลไกที่มีอยู่ทำให้มั่นใจว่าสามารถห้ามได้และเอาผิดได้ Naked Short Sell ได้”
เช่นเดียวกับ “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ขณะนี้สัดส่วนปริมาณธุรกรรม Short Sell และการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งนั้นมีไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากในช่วงที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยปริมาณซื้อขายของตลาดปรับตัวลดลง จึงส่งผลให้สัดส่วนการซื้อขายดังกล่าวดูเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธุรกรรมที่เกิดจากการ Short Sell ของนักลงทุนต่างชาติไม่ได้มีส่วนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปมากเท่าที่ควร แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีการทำธุรกรรมจากบุคคลบางกลุ่มที่ Short Sell และมีผลทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปมาก
ส่วนกรณีวอลุ่มซื้อขายของตลาดที่ลดลง 30% ในช่วงนี้ หากพิจารณาจากตัวเลขดังกล่าว อาจมีส่วนที่ทำให้ปริมาณ Short Sell เหมือนจะเพิ่มขึ้น แต่ความจริงแล้วไม่ต่างจากเดิมมากนัก โดยในปี2562-2565วอลุ่มตลาดเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่วนมากจะเป็นโปรมแกรมเทดดิ้ง ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงพยายามออกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้นักลงทุนทั่วไปเข้าถึงได้สะดวกและง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของตลาด
“เราพบกลุ่มนักลงทุนกลุ่มอื่นชอร์ตหุ้นมากกว่าโปรแกรมหุ้นของต่างชาติ และขอบอกว่าเราไม่ได้ดูแค่ % เราดูถึงขั้นว่าเวลาไหน นักลงทุนกลุ่มไหน ชอร์ตหุ้นอะไร และขอให้มั่นใจว่าเราดูแลเรื่องนี้มาตลอด และขออย่าหาเหตุผลว่าหุ้นลงจากชอร์ตเซลเพียงเดียว เพราะราคาหุ้นลงจากหลายปัจจัย”
เร่งชี้แจงเศรษฐกิจไทยแกร่ง
สำหรับกรณีหุ้นไทยยังปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า เป็นคำถามที่ต้องดูว่าดัชนี คือตัว Reading Indicator ของอะไร ต้องบอกว่าเป็นเศรษฐกิจในประเทศ ถ้าต่างชาติมองว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ก็จะสะท้อนความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศ ต่อตอนนี้ทำไมต่างชาติมองแบบนั้น ทำไมมองว่าดัชนีจะไม่ขึ้น ทั้งที่ บริษัทจดทะเบียนของไทยยังมีความสามารถในการทำกำไรได้ ดังนั้นถ้าสามารถแสดง Potential ของเศรษฐกิจไทย และบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยได้ Sentiment ก็จะเปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันลดลงมากกว่าเพื่อนบ้าน แต่ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยลดลงน้อยกว่าเพื่อนบ้านเหมือนกัน ดังนั้นการที่ต่างชาติขายหุ้นไทยในปีนี้มากนั้น หากพิจารณาจะพบว่ายังมีนักลงทุนต่างชาติที่ถือหุ้นไทยยระยะยาว และมีการถือเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับมาร์เก็ตแคป
วอลุ่มเทรดลดวูบ!
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากระดับสูงสุดที่ดัชนีหลักทรัพย์สร้างสถิติไว้ในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 1,691.41 จุด (10ม.ค.66) พบว่าดัชนีปรับตัวลดลงประมาณ 301 จุด หรือ 21.72% จากระดับ 1,389.57 จุดของวันศุกร์ที่ 11พ.ย.2566
ขณะที่มูลค่าซื้อขายหมุนเวียนเฉลี่ยต่อวัน พบว่าภายในระยะเวลา 10 เดือนลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้บางเดือนจะกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่โดยรวมมูลค่าซื้อขายลดลงไปกว่า 2 หมื่นล้านบาทจากม.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 6.81 หมื่นล้านบาท ขณะที่ต.ค.2566 อยู่ที่ระดับ 4.55 หมื่นล้านบาท ส่วนล่าสุด (10พ.ย.) อยู่ที่ระดับ 5.09 หมื่นล้านบาท
รอปัจจัยภายนอกคลี่คลาย
การปรับลดลงของดัชนีหุ้นไทยถือว่าเป็นไปทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค สาเหตุหลักมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งสถานการณ์บอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง หุ้นทั่วโลกรวมถึงหุ้นไทยปรับตัวลง นอกจากนี้สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาล ยังมีความไม่แน่นอน ยิ่งกดดันบรรยากาศลงทุน
โดยปัจจัยความไม่แน่นอนนอกประเทศ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จะยังสร้างความผันผวนต่อตลาดการลงทุนทั่วโลกไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นหากปัจจัยนอกประเทศคลี่คลายมากขึ้น มองว่า จะทำให้เป็นจุดที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยพลิกกลับมาได้นั่นเพราะถ้าพิจารณาปัจจัยพื้นฐานในประเทศ ทั้งเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ หนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ระดับต่ำเทียบกับภูมิภาค และสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่งอีกทั้งดัชนีฯ และบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ต่างๆ ไม่ได้มีปัญหา ยังมีความสามารถในการทำกำไร มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 40% และในประเทศ 60% ภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงสนับสนุนกำไรบจ.เติบโตขึ้น
ส่วนนักวิเคราะห์ยังคงรอการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาส 3/66 ซึ่งน่าจะรายงานครบในช่วงกลางเดือน พ.ย.66 และแม้มีการปรับคาดการณ์ EPS Growth ของทั้ง SET Index ลงจากช่วงต้นปี 66 แต่หากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่ายังมีบางกลุ่มที่ยังเติบโตได้ดี และมี Valuation ที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง
ทำไมเชื่อต้องห้าม Short Sell
สำหรับปัจจัยสนับสนุนความเชื่อที่ว่า หากผู้ควบคุมตลาด ออกมาตรการควบคุมการ Short Sell หุ้นน่าจะทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ฟื้นตัวกลับมา นั้นส่วนหนึ่งมาจากการที่คณะกรรมการด้านบริการการเงิน ของเกาหลีใต้ (FSC) ออกมาประกาศ สั่งห้ามลงทุนใน Short Sell หุ้น ในบริษัทต่างๆ ที่ จดทะเบียนในดัชนี KOSPI 200 Index และดัชนี KOSDAQ 150 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 พ.ย.2566 ถึงเดือนมิ.ย.2567และจะกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น
และปรากฏว่าหลังจากมีคำสั่งดังกล่าวออกมา ดัชนี KOSPI 200 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปรับตัวบวกแรงสุด รอบเกือบ 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2563 มาอยู่ที่ระดับ 2,500 จุด และยังมีวอลุ่มการซื้อขายหนาแน่น เช่นเดียวกับดัชนี KOSDAQ 150 Index ซึ่งเป็นหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็กก็ปรับตัวพุ่งขึ้นเช่นกัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ในครั้งนี้ กลายเป็นข้อกล่าวอ้างว่า หากตลาดหุ้นไทยมีการสั่งห้าม Short Sell ดัชนีฯก็จะมีโอกาสฟื้นตัว เนื่องการสั่งห้ามแบบนี้ ถือเป็นเครื่องมือของหลายตลาดหุ้นในเวลาที่ดัชนีฯปรับตัวลดลงหนัก และต้องการจะหยุดแรงขายที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะผู้ควบคุมตลาดเห็นถึงสัญญาณการขาย Short Sell ที่มีผลต่อราคาหุ้น และมีผลลบต่อตลาดที่อาจแย่ลงตามไปด้วย โดยเฉพาะสัญญาณจากปริมาณ Short Sell ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตามการสั่งห้าม Short Sell ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่มาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้หลายครั้งแล้ว อาทิ วิกฤติซับไพรม์ ปี2008 ,วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป ปี2010 และวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อปี 2020
Short Sell แพะรับบาป?
ที่ผ่านมา ธุรกรรม Short Sell มีภาพลักษณ์ในสายตาของนักลงทุน คือการเป็นเครื่องมือที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลง จึงไม่แปลกที่จะถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายในตลาดหุ้น แต่จากข้อมูลพบว่า มูลค่าการ Short Sell ตั้งแต่ปี 2555-2561 ค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่เฉลี่ยราว 2 แสนล้านบาทต่อปี ถัดจากนั้นก็เริ่มเห็นการเติบโตของธุรกรรมดังกล่าว โดยปี 2564 และปี 2565 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงระดับ 1.4 ล้านล้านบาท และ 1.7 ล้านล้านบาท
แต่สิ่งที่น่าสนใจจากประเด็นดังกล่าวคือ แม้ปริมาณธุรกรรม Short Sell จะเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้มีผลอะไรกับดัชนีหลักทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าว หรือกล่าวคือ ธุรกรรม Short Sell ไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการปรับลดลงของตลาดหุ้นไทย
ขณะเดียวกันการ Short Sell ไม่ใช่ว่าเมื่อทำการยืมหุ้นมาแล้วจะสามารถปล่อยขายหุ้นเพื่อทำกำไรได้ทันที เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกฎระเบียบในการขาย Short Sell (Zero Plus Tick Rule) หรือการขายหุ้นจะสามารถทำได้นั้นราคาขายต้องไม่ต่ำกว่าราคาล่าสุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุบราคาหุ้น
นอกจากนี้ ธุรกรรม Short Sell ยังเกิดขึ้นมาเพื่อใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) รวมถึงถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ทำกำไรในภาวะตลาดที่เป็นขาลงอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาประกอบการลงทุนนั่นคือ ราคาหุ้นสามารถปรับตัวขึ้นกับลงได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจดี จะเห็นได้ว่าราคาหุ้นต่างปรับตัวอยู่ในขาขึ้น แต่หากเศรฐกิจไม่ดีราคาหุ้นส่วนมากก็จะปรับตัวลง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกรรม Short Sell เพียงอย่างเดียว
ต้องรับมือโปรแกรมเทรด
ส่วนโปรแกรมเทรดดิ้ง ตรงนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อนักลงทุนต่างชาติใช้โปรแกรมเทรดมากขึ้น มากกว่านักลงทุนทั่วไป (รายย่อย) ตรงจุดนี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องที่ผู้ดูแลและควบคุมตลาดต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น เพราะต่างเชื่อว่าโปรแกรมเทรดดิ้งที่กำลังเป็นที่นิยม สร้างผลกระทบทำให้รายย่อยได้ผลตอบแทนที่ไม่ดี หรือที่ควรจะเป็น เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ในปัจจุบัน สัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศมีจำนวนที่มากขึ้นร่วมเท่าตัวจากอดีต สวนทางจากสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อย แม้จำนวนการเปิดบัญชีจะเปิดเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวกว่าในอดีต แต่สิ่งที่น่าสนใจคือจำนวนบัญชีที่มีการเคลื่อนไหว หรือเทรดดิ้งของนักลงทุนในประเทศกลับน้อยลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เปิดบัญชีอยู่ในปัจจุบัน
วอลุ่มหด-รายย่อยไปไหน?
สิ่งที่ช่วยตอกย้ำสถานการณ์นี้ คือมูลค่าการซื้อขายที่ลดลงไปมากกว่าช่วง10ปีก่อน ที่มีวอลุ่มประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท/วัน แต่ตอนนี้เหลือประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อวันทั้งที่มีจำนวนการเปิดบัญชีลงทุนหุ้นไทยกว่า 3.5 ล้านบัญชี จากระดับ 8-9 แสนบัญชีเมื่อ10ปีก่อน ดังนั้นเมื่อคำนวนเป็นสัดส่วนตามกลุ่มนักลงทุนจะพบว่า กลุ่มนักลงทุนรายย่อยหายไปมาก มีแต่นักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมา
ดังนั้นเมื่อเกิดแรงเทขายหุ้นไทย และนักลงทุนต่างปะเทศขนเม็ดเงินออก ยิ่งทำให้ดัชนีฯปรับตัวลดลงแรง คำถามคือปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยหายไปไหน ทั้งที่มีจำนวนผู้เล่นในตลาดมากขึ้นกว่าเท่าตัว
ส่วนหนึ่งหนีไม่พ้นการเข้าถึงเครื่องมือที่รายย่อยมีโอกาสน้อยกว่านักลงทุนต่างประเทศ ทำให้สูญเสียโอกาส เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องกลับมาพิจารณาแก้ไข เพื่อดึงนักลงทุนกลับมา ด้วยการแข่งขันที่เป็นธรรม
“ปริมาณ Short Sell ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนต่างประเทศ ไม่ใช่มาจากนักลงทุนในประเทศ ตอนนี้รายย่อยหายไปจากตลาดจำนวนมาก เป็นคำถามที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาคำตอบและแก้ไข Short Sell ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้หุ้นตก อย่ายัดเยียดว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาด”
หุ้นไทยซึมยาวถึงกลางปีหน้า
สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยช่วงที่เหลือของปี2566 และในปี 2567 นั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้าดัชนีหุ้นไทยยังคงเป็นขาลง มีโอกาสที่ดัชนีจะไปแตะระดับ 1,200 จุด ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดีขึ้น ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และยังไม่ทราบว่าจะมีท่าทีจะปรับตัวลง รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวลำบาก
แม้เศรษฐกิจไทย โดยรวมยังมีความแข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพ มีทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง หนี้รัฐบาลและหนี้ภาคเอกชนไม่มาก แต่เป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจจะโตได้เกิน 3% อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงนั้นจะกดดันการทำกำไร ของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) นั่นทำให้มองว่าเป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานดีราคาถูก เพราะเมื่อทุกอย่างอยู่ในจุดต่ำสุด ย่อมมีการฟื้นตัว และหากเกิดสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้น ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยในฃ่วงครึ่งปีหลัง 2567 มีโอกาสขยับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างน่าสนใจ