เข้าสู่ 2 เดือนส่งท้ายของปี 2566 รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้พยายามเข้ามากระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจให้เติบโต และการอุดหนุนดูแลบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน เช่น แบ่งเบาภาระเรื่องค่าน้ำค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน ในขณะที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ในภาพรวมจะมีการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากเรื่องผู้ซื้อ (ดีมานด์) ยังรอประเมินความสามารถในการผ่อนชำระ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังเติบโตได้ไม่มาก รายได้ของประชาชนไม่ได้ปรับสูงขึ้น ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอยู่ในระดับที่สูง รวมถึงยังติด “กับดักหนี้” ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ขณะที่สถานการณ์ “ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา ต้องเรียกว่า “ดีเวลลอปเปอร์เหนื่อย” ทั้งจากเรื่องความเปราะบางทางเศรษฐกิจ มีผลต่อเนื่องถึงกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้นมาต่อเนื่อง ทำให้การผ่อนบ้านแพงขึ้นถึง 17%
ยอดอนุมัติสินเชื่อทั้งระบบรูดต่ำกว่า 40%
ฉุดตัวเลขโอนบ้าน-คอนโดฯ ชะลอตัวลง
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ว่า มีแนวโน้มที่จะมีการเปิดตัวโครงการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ในขณะที่สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยพิจารณาจากอัตราการอนุมัติสินเชื่อต่ำกว่า 40% ทำให้เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 66 อัตราการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ 29.9% ซึ่งเป็นผลมาจากภาระหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loans : NPLs) ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่สูงถึง 3.16% เมื่อเทียบกับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในกลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภค (ประกอบด้วยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์) โดยเฉลี่ยที่อยู่ที่ 2.7% ราคาวัสดุก่อสร้างที่ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ หากย้อนไปพิจารณามูลค่าการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์และธนาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ทั่วประเทศ ในไตรมาส 2 ปี 2566 พอเห็นสัญญาณการชะลอตัวของสินเชื่อได้ เนื่องจากในไตรมาส 2 มีการอนุมัติอยู่ที่ 156,069 ล้านบาท ลดลง 13.57% เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2565 (YoY) แต่เพิ่มขึ้น 10.50% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 66 (QoQ)
โดยผลจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.25% เป็น 2.50% เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคเอกชนทั้งภาคอสังหาฯ ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 0.5-1% ขึ้นกับอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กร
เสนอรัฐแก้ Effect ดอกเบี้ยขาขึ้น
สร้างเครื่องมือ ออกสินเชื่อ Housing คงที่ระยะยาว
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA เปิดเผยแนวทางที่จะขับเคลื่อนให้กลไกตลาด สนับสนุนให้ผู้มีรายได้มีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นว่า การขยับขึ้นและลดลงของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 มีผลต่อราคาบ้านประมาณร้อยละ 8-9 ซึ่งตอนนี้ เราจะเห็นว่าการปรับขึ้นมีผลต่อทุกระดับราคาบ้าน ไม่ว่าจะบ้านคนที่ราคาถูก และบ้านคนราคาแพง อัตราดอกเบี้ยขึ้นทั้งหมด คือ เราไม่มีอะไรมาอุดหนุน (Subsidy) คนราคาบ้านไม่แพง
"ในความเห็นว่า ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินรัฐบาลมาช่วยอาจจะช่วยคนที่กลไกตลาดรองรับไม่ได้ดี คือ เรารู้สึกว่า ใช้เงินของภาครัฐ ช่วยอะไรดี เราต้องพูดในมิติที่ว่า อะไรเป็นสิ่งที่กลไกตลาดทำงานได้ไม่ดี แต่ถ้าอะไรที่กลไกตลาดทำได้ดี ถึงแม้จะขายได้ยากบ้าง ก็ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไป"
โดยคำว่า "กลไกตลาดทำงานไม่ได้ดี" นั้น ผศ.ดร.เกษรา ขยายความให้เห็นภาพว่า เช่น ผู้ที่ต้องการมีบ้านไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ ผู้ประกอบการ (คนขาย) ทำราคาลงไม่ได้ อันนี้รัฐบาลควรที่จะเข้ามาในสินค้าที่มีความจำเป็นมาก เช่น ที่อยู่อาศัย แต่อาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องสวัสดิการ แต่ถ้าเรามองว่า สินค้าที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าจำเป็น แต่ต้นทุนมันแพงขึ้น ต่อให้ผู้ประกอบการทำทุกวิธีในการลดราคาให้ถึงผู้ซื้อ ทำเท่าไหร่ ก็ลดราคาไม่ถึงผู้ซื้อ ขณะเดียวกัน คนซื้อพยายามไต่ก็ไม่ถึง แสดงว่ากลไกตลาดทำงานไม่ได้ ถูกมั้ย ซึ่งในเมืองใหญ่มีสภาพเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ประเทศที่ร่ำรวยอย่างสิงคโปร์ เมืองเวียนา ประเทศออสเตรีย เมืองน่าอยู่ของโลก จะเห็นว่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ (Public Housing) มีขนาดใหญ่กว่า 60% ของตลาดที่อยู่อาศัยทั้งหมด เพราะกลไกตลาดทำงานไม่ได้ อย่างในประเทศไทย ราคาที่ดิน ราคาค่าก่อสร้าง และอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น แต่รายได้ของประชากรขยับขึ้นไม่ทัน
เพิ่มแรงจูงใจ 'ธนาคาร' กล้าปล่อยสินเชื่อ
"ถ้ามองในมุมของเรา ถ้าจะเข้าช่วยเงินอุดหนุนนั้นอยากให้ช่วยกลุ่มคนรายได้ที่ไม่เยอะมาก การ Subsidy ทำได้หลายแบบ เช่น มาสนับสนุนเรื่องอัตราดอกเบี้ยก็ได้ มาดูแลเรื่องดอกเบี้ย ที่น่าคิดคือ ดอกเบี้ยมอร์เกจ (Mortgage) โดยการคิดแบบอัตราคิดลด หรือ Discount เนื่องจากในอดีตการผ่อนเงินกู้ล้านละ 4,000 บาทต่อเดือน แต่ปัจจุบัน ล้านละ 7,000 บาทต่อเดือน เพราะทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์เข้ม ต้องขึ้นตาม เมื่อมาคำนวณความสามารถในการผ่อนแล้ว ถ้าล้านละ 7,000 บาทต่อเดือน ผู้กู้ต้องมีเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 21,000 บาท ย้อนไปเทียบกับการผ่อนล้านละ 4,000 บาท ผู้กู้มีเงินเดือนประมาณ 16,000 บาท คำถามคือ ถ้าธนาคารจะกล้ากลับไปคิดที่เรต 4,000 บาท ก็ต่อเมื่อธนาคารมีความรู้สึกว่า ระยะเวลาตามสัญญาเงินกู้ 30 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่กลับไปยืนอยู่ที่อัตราการผ่อนที่ 7,000 บาท เพราะตอนนี้ หลังดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแล้ว อัตราดอกเบี้ยจะลอยตัว ทำให้ธนาคารไม่กล้ากำหนดดอกเบี้ยที่ชัดเจน"
ดังนั้น ต้องมีเครื่องมือที่ช่วยให้เรตของธนาคาร (ที่ปล่อยกู้รายย่อย) นับ 10 ปีต่ำ อย่างประเทศญี่ปุ่น มีสินเชื่อ Housing อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 คงที่นาน 20 ปี เมื่อเป็นแบบนี้ ธนาคารกล้าคิดการผ่อนล้านละ 4,000 บาท ก็พอแล้ว อย่างนี้ช่วย ไม่ต้องทำอะไรกับดีเวลลอปเปอร์เลย กำลังบอกว่าไปช่วยให้กลไกของราคาบ้านถูกลง ซึ่งในอดีตเรามี บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ บตท. แต่ยุบไปแล้ว บตท.ช่วยให้กลไกสินเชื่อบ้านอยู่ที่ร้อยละ 3 ตลอดระยะเวลา 20 ปี ได้
"ต้องยอมรับว่าตอนนี้ดอกเบี้ยปรับขึ้นไปแล้ว ซึ่งรัฐต้องมีกลไกเข้ามาช่วย พุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็พอ โดยต้องมาหาข้อมูล วิจัย และวิเคราะห์ว่า ราคาตลาดที่อยู่อาศัยกลุ่มไหน กลไกตลาดไม่สนับสนุนให้ได้ดี เช่น ถ้าเงินเดือน 20,000 บาท ต่อให้มีความตั้งใจในการผ่อนค่างวด (ผ่อนให้ตาย) ก็ผ่อนไม่ได้ เพราะราคาบ้านราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทในกรุงเทพฯ ไม่มีให้เห็นอยู่แล้ว แบบนี้คือ กลไกตลาดไม่สามารถรองรับได้ ไม่มีโอกาสมีบ้านในกรุงเทพฯ ได้เลย และหากเราคิดว่า บ้านเป็นหนึ่งที่ประชาชนควรจะมี แปลว่า "รัฐบาลควรจะต้องเข้ามาช่วย"
ผศ.ดร.เกษรา กล่าวต่อว่า กรณีของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นหนึ่งในเครื่องมือ แต่ที่อยู่อาศัยสร้างที่ไกลเกินไป ซึ่งคำว่า "บ้านที่ดี" จะต้องอยู่ใกล้แหล่งงาน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งของแหล่งงาน และหากเรามองวิธีเรื่องการเข้ามาช่วยในตลาดที่กลไกทำไม่ได้ดีนั้น ตรงนี้ จะมองในเชิงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ช่วยให้ขายที่อยู่อาศัยได้
"วิธีนี้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ มีการ Subsidy เป็นจุดๆ ไป อาจไม่ต้องเอาเงินมาโปรยหมด แต่ช่วยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องช่วย โดยมาพิจารณว่า เราจะเอาเงินเท่าไหร่มาดำเนินนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้บ้านราคาลดลง โดยผ่านดอกเบี้ย เรามองว่า กลไกตลาดที่ดี จะต้องให้ผู้เล่น เล่นได้เอง ไม่ใช่รัฐบาลมาเป็นผู้เล่นเอง"
AP เปิดกลยุทธ์บริหารลูกค้า กู้โอนคอนโดฯ ฉลุย
น.ส.กมลทิพย์ บำรุงชาติอุดม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ AP เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน360 องศา” ถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นอยู่ในอัตราที่สูงว่า จริงๆ มีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้ากลุ่มคอนโดมิเนียมอยู่เหมือนกัน และในแง่ของการขอสินเชื่อกับธนาคาร ลูกค้าลำบากขึ้น แต่จริงๆ ในมุมของเอพี ไทยแลนด์ เวลาที่เราได้เปิดการขาย (พรีเซล) โครงการ ได้ให้ลูกค้ายื่นประเมินสินเชื่อก่อนตกลงซื้อคอนโดฯ เพื่อประเมินสถานภาพทางการเงินเบื้องต้นว่า มีโอกาสกู้สินเชื่อผ่านตั้งแต่วันแรก (Pre-Appove) ที่เข้ามาทำการจองซื้อโครงการของเอพีหรือไม่ และยิ่งเป็นคอนโดฯพร้อมอยู่ (Condo ready to move in : RTM) ส่วนใหญ่จะให้ลูกค้า Pre-Appove ก่อน เพราะฉะนั้น ในมุมของเอพีมองว่า แนวทางดังกล่าวเป็นการคัดกรองลูกค้ามาได้ส่วนหนึ่ง
“จริงๆ แล้ว หลายโครงการนอกจากจะเป็นเรื่องของ Pre-Appove แล้ว เอพียังมีพันธมิตรกับธนาคารพาณิชย์ ทางเรามีการประสานกับทางธนาคาร การใช้เกณฑ์เรื่องการผ่อนที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ตรงนี้จะช่วยลูกค้าได้ รวมถึงมีอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจกับลูกค้า เพราะเรามีพันธมิตรสนับสนุน ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่าตลาดหรือไม่ตรงนี้แล้วแต่แบงก์ แล้วแต่สถานการณ์”
สำหรับสถานการณ์การปฏิเสธสินเชื่อในกลุ่มตลาดคอนโดฯ นั้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยอยู่ในอัตราเท่าเดิมประมาณ 25-30% ส่วนใหญ่เป็นระดับราคากลุ่มล่างๆ เช่น ราคา 2-3 ล้านบาท ตรงนี้ตัวเลขอาจจะดูเยอะ ซึ่งทางโครงการจะมีการนำห้องชุดมาทำการตลาดอีกครั้ง โดยการขายรอบที่สอง ลูกค้าสามารถโอนห้องชุดได้เป็นที่เรียบร้อย
หาที่ดินพัฒนาขึ้นโครงการแนวสูงยากขึ้น
ในประเด็นปัญหาที่ทางผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาฯ มีความกังวลในปี 2567 นั้น หลักๆ จะให้ความสำคัญกับการพิจารณาการหาที่ดินเข้ามาเติมเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการใหม่ เนื่องจากการหาที่ดินในปัจจุบันค่อนข้างยาก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ข้างๆ (อาจหมายถึงโครงการเดิม หรือชุมชนข้างเคียง) และความชัดเจนของการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มากขึ้น หรือมีความเข้มงวดมากขึ้น เป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง
รายได้ต่ำ 5 หมื่น/เดือน เลี่ยงก่อหนี้ซื้อบ้าน หันเช่าอยู่แทน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้วิเคราะห์ตลาดอสังหาฯ ในหัวข้อ "ส่องกำลังซื้อที่อยู่อาศัย..ซื้อไหวไหมในกลุ่มรายได้ปานกลางลงมา" พบว่า ส่วนใหญ่ยังนิยมการซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่าการเช่า สะท้อนค่านิยมในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผู้ตอบแบบสอบถามที่ยังวางแผนเช่า จะพบว่า สาเหตุหลักมาจากงบประมาณไม่พอสำหรับการซื้อ โดยส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท/เดือน ทั้งนี้ค่าเช่าที่พักต่อเดือนเพียงพอสำหรับการผ่อนที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางลงมา โดยส่วนใหญ่มองหาที่พักค่าเช่าไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน และรองลงมา 10,001-20,000 บาท/เดือน แต่ยังขาดความพร้อมในการขยับขยายมาซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ทั้งการมีเงินออมไม่มากเพียงพอสำหรับชำระค่าเงินดาวน์ รวมถึงขาดความมั่นใจทางด้านรายได้ และความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในอนาคต
ชงรัฐบาลตรึงดอกเบี้ยสินเชื่อ ‘บ้านหลังแรก’
ทั้งนี้ SCB EIC ยังได้เสนอมาตรการต่อภาครัฐว่า อาจพิจารณามาตรการส่งเสริมการครอบครองที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้มากขึ้น เช่น สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก ลดหย่อนภาษีสำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก
PF ส่งซิก ต้นปี 67 นายกฯ ผุดแพกเกจฟื้นอสังหาฯ
นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงแนวทางที่จะขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจอสังหาฯ เติบโตว่า เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เรามีนายกรัฐมนตรี ที่มาจากภาคธุรกิจอสังหาฯ เราคาดหวังในวงการธุรกิจอสังหาฯ จะดีขึ้น เพราะนายกฯ รู้ปัญหาดี แต่เท่าที่ติดตาม ตอนนี้พุ่งเป้าไปที่กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวก็แฮปปี้ไป และคาดว่าต่อไปน่าจะมีการออกแพกเกจกระตุ้นค้าปลีก เนื่องจากใกล้ฤดูกาลจับจ่ายใช้สอย ซึ่งดิจิทัลวอลเล็ต เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจค้าปลีก และหลังจากนั้น เชื่อว่า ภายในต้นปี 2567 นายกฯ อาจจะมาพิจารณาออกแพกเกจกระตุ้นภาคอสังหาฯ
"การต่อยอดมาตรการเดิม เรื่องลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองจากปัจจุบันไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดรับกับตลาด เช่น บ้านเดี่ยว อาจไม่สามารถจับต้อง ได้แค่ ทาวน์เฮาส์ และคอนโดฯ บางส่วนที่อาจจะได้รับอานิสงส์ ซึ่งเราเชื่อว่า ท่านเศรษฐา ทวีสิน ทราบปัญหาดี ท่านอาจจะขยับวงเงินให้สูงขึ้นได้ อย่างน้อยๆ ระดับราคาถึง 5 ล้านบาท ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น อาจซื้อบ้านเดี่ยวได้บางส่วน ในบางพื้นที่ แต่ทาวน์เฮาส์ คอนโดฯ ซื้อได้"
และที่สำคัญ ตนคิดว่าน่าจะมีการขยายวงเงินการให้สินเชื่อกับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกลุ่มที่เริ่มมองหาและต้องการมี "บ้านหลังแรก" (First Home) โดยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ และเงื่อนไขในการพิจารณาปล่อยเงินกู้ที่ไม่เข้มงวดมาก เพื่อปลดล็อกส่วนนี้ได้ จะช่วยเหลือผู้ซื้อที่มีฐานะการเงินยังไม่แข็งแรงมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาหลายครั้ง เราจะเห็นแพกเกจดอกเบี้ยต่ำจากธนาคาร แต่ในทางปฏอบัติ การขอสินเชื่อไม่ผ่าน เนื่องจากมีการประเมินคะแนนเครดิต (เครดิตสกอริ่ง) ที่เข้มงวดมาก และหากต้องการที่อยู่อาศัยจริงๆ ต้องไปยื่นกู้กับธนาคารบางแห่งที่คิดอัตราดอกเบี้ยที่สูง แต่การประเมินเครดิตสกอริ่งต่ำ เป็นต้น
"ที่เราเสนอยังไม่พอ ที่เราพูดเป็นการดูแลฐานลูกค้าตลาดล่าง แต่ตลาดผู้ซื้อระดับกลางและบนนั้นเรายังต้องการดีมานด์อยู่ ซึ่งหากมีแพกเกจบางอย่างที่มีเงื่อนไขเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อบ้านได้ ในขอบเขตที่จำกัด และถูกต้องตามกฎหมาย มากกว่าที่จะหลบๆ ซ่อนๆ เรื่องแบบนี้จะดีกว่า จะช่วยตลาดระดับบนได้ชัดเจน" นายวงศกรณ์ กล่าว