บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NAM เป็นหุ้นน้องใหม่ตัวล่าสุดที่ราคาต่ำจอง หลังจากหุ้นน้องใหม่ 3 ตัวก่อนหน้าราคาหุ้นลงกันระเนระนาด ภายใต้คำถามว่า ใครอยู่เบื้องหลังการถล่มขายหุ้นใหม่ทั้ง 4 บริษัท
NAM เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 31 ตุลาคม หลังนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนราคา 7.70 บาท แต่ปิดซื้อขาย 6.65 บาท ลดลง 1.05 บาท หรือลดลง 13.64%
หุ้นน้องใหม่ที่เข้าซื้อขายก่อนหน้า 3 บริษัท ราคาหลุดจองโดยถ้วนหน้า เริ่มตั้งแต่หุ้น บริษัท วินโดว์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ WINDOW ซึ่งเข้าซื้อขายวันแรก 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ราคาต่ำจอง 39.52%
หุ้นบริษัท มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ MCA เข้าซื้อขายวันแรก 26 ตุลาคม ราคาต่ำจอง 38.38% และหุ้นบริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ORN ราคาต่ำจอง 13.64%
นักลงทุนจองซื้อหุ้นใหม่ทั้ง 4 บริษัท ซึ่งน่าจะมีระดับนับหมื่นรายเจ็บจมกองเลือดเป็นแถว
มีความพยายามกล่าวอ้างว่า ภาวะตลาดหุ้นที่ตกต่ำเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นใหม่ราคาต่ำจอง ซึ่งเป็นเพียงเศษเสี้ยวของข้อเท็จจริง
แต่ต้นตอแท้จริงคือ ราคาเสนอขายหุ้นสูงเกินไป เมื่อหุ้นเข้าตลาดจึงเกิดการถล่มขาย
คำถามต่อไปคือ ใครทุบหุ้นใหม่จนรูดต่ำจองหลายสิบเปอร์เซ็นต์
นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นคงไม่ใช่ตัวการทุบ เพราะมีหุ้นอยู่ในมือคนละไม่เท่าไหร่ แต่น่าจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่หรือกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมที่ขายหุ้นทิ้ง
เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปถึงวงจรอุบาทว์ การนำหุ้นเข้าจดทะเบียน โดยบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินหลายแห่งมีความเชี่ยวชาญในการแต่งตัวบริษัทใหม่ ตั้งแต่การวางแผนแต่งบัญชีให้ดูดี การวางแผนสร้างราคาหุ้น ตั้งแต่การตั้งราคาเสนอขาย และเมื่อหุ้นเข้าซื้อขาย
นักลงทุนขาใหญ่หรือบรรดาเสี่ยหุ้นทั้งหลายจะถูกอัญเชิญเข้ามาซื้อหุ้นในราคาต่ำ ก่อนหุ้นจะเสนอขายนักลงทุนทั่วไปเพื่อสร้างภาพ เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน และหวังให้บรรดาเสี่ยหุ้นร่วมขบวนการสร้างราคาหุ้นด้วย
งบก้อนโตจำนวนหลายล้านบาทถูกจัดไว้เพื่อซื้อสื่อหุ้นที่ไร้จริยธรรมจรรยาบรรณ ป้องกันสื่อหุ้นอันธพาลโจมตีหุ้นใหม่ และอาศัยไหว้วานให้เชียร์หุ้นตั้งแต่เริ่มเปิดให้จองซื้อ จนกระทั่งเข้าซื้อขาย
หุ้นใหม่ที่ราคาต่ำจองจึงไม่มีเสียงโจมตีจากสื่อหุ้นสำนักดังๆ เพราะรับทรัพย์หุ้นใหญ่รายละหลายแสนบาท จนเงียบเป็นเป่าสาก แม้ประชาชนผู้ลงทุนจะเสียหายย่อยยับจากหุ้นใหม่ก็ตาม
จำนวนหุ้นที่ประกาศนำเสนอขายนักลงทุนทั่วไปส่วนหนึ่งจะถูกกักเก็บไว้ โดยอาจนำมาจัดสรรนักลงทุนเพียง 30% ของหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด ทำให้สามารถควบคุมปริมาณหุ้นที่หมุนในตลาด และง่ายต่อการสร้างราคาเมื่อหุ้นเข้าซื้อขาย
ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจดทะเบียนใหม่ ไม่ว่าเป็นผู้ถือหุ้นรายเล็กหรือรายใหญ่ต่างรอคอยวันที่บริษัทแต่งตัวสำเร็จ และหุ้นเข้าซื้อขาย
เพราะเป็นโอกาสที่จะร่ำรวยเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีเสียที จึงเตรียมตัวขายหุ้นทิ้ง ในส่วนหุ้นที่ไม่ติดไซเลนต์พีเรียดหรือช่วงเวลาห้ามขาย
ผู้ถือหุ้นเดิมรู้ฐานะของบริษัทดี รู้ถึงแนวโน้มผลประกอบการ และรู้ว่าผลตอบแทนจากเงินปันผลไม่คุ้มสำหรับการถือลงทุนระยะยาว
จึงชิงกันทิ้งหุ้นเมื่อเข้าซื้อขาย จนผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งต้องทะเลาะตบตีกันวุ่นวาย เพราะการเทขายหุ้นวันแรกๆ
4 หุ้นใหม่ที่ราคาหลุดจองหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เบื้องลึกเกิดจากผู้ถือหุ้นเดิมหรือเจ้าของหุ้นแห่กันเทขายหุ้นทิ้ง เพราะประเมินแล้วว่าราคาหุ้นคงไปไม่รอด
และใครชิงขายได้เร็วกว่า จะได้ราคาที่ดีกว่า
คนที่รับเคราะห์คือ นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นใหม่และนักเก็งกำไรที่หลงเข้าไปเล่นหุ้นใหม่
บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินไม่ต้องกลัวใครมาจิกหัวด่า เมื่อนำหุ้นเน่ามาปล้นเงินนักลงทุน เพราะจัดงบจากหุ้นใหม่ ฟาดหัวสื่อหุ้นค่ายใหญ่ๆ ไปเรียบร้อย
วงจรอุบาทว์ในการแต่งตัวหุ้นใหม่เข้าจดทะเบียน แม้คนในแวดวงหุ้นรับรู้โดยทั่วไป แต่ดูเหมือนตลาดหลักทรัพย์จะไม่รับรู้หรืออาจแกล้งไม่รับรู้
เพราะยังคงปล่อยหุ้นใหม่เน่าๆ เข้ามาไม่ขาดสาย ปีละหลายสิบบริษัท โดยเฉพาะหุ้นใหม่ในตลาด MAI
ไม่แน่ใจว่ามีการตรวจสอบหุ้นใหม่ที่ราคาต่ำจองมากมายอย่างผิดปกติหรือไม่ ทั้งที่ตลาดหลักทรัพย์ควรตรวจการซื้อขายหุ้นใหม่ทุกตัว และหากพบการเทขายอย่างมีนัยสำคัญของผู้ถือหุ้นเดิม ควรเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนทราบ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนหุ้นใหม่
นโยบายรับหุ้นใหม่ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์มุ่งเชิงปริมาณมากเกินไป เกรงใจบริษัทจดทะเบียนใหม่ เห็นแก่หน้าบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน แต่ไม่เห็นหัวอกนักลงทุนที่จองซื้อหุ้นใหม่ ซึ่งต้องทุกข์หนักเพราะขาดทุนย่อยยับ
4 หุ้นใหม่ WINDOW MCA ORN และ NAM เป็นหลักฐานตอกย้ำถึงวงจรอุบาทว์การแต่งตัวบริษัทเข้ามาปล้นในตลาดหุ้น และความล้มเหลวของนโยบายรับหุ้นใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ