xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยหวังฟื้นตัวปีหน้า ลุ้นปัจจัยลบต่างประเทศคลี่คลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่สูง และสงครามในตะวันออกกลางกดดันเม็ดเงินต่างประเทศทะลักออกตลาดหุ้นไทยหลุด 1,400 จุด นักวิเคราะห์หวังสถานการณ์ลบคลี่คลาย ช่วยดึงเม็ดเงินไหลกลับ แต่โดยรวมเชื่อฟ้าสดใสในปีหน้า จาก GDP ประเทศเติบโต กำไรบริษัทจดทะเบียนโดดเด่นช่วยดึงดูด

ผ่านมาแล้ว 10 เดือนของปี 2566 ถือเป็นปีแห่งการเทขายอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างประเทศ เห็นได้จากสัญญาณการเทขายหุ้นไทยนั้น เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม จนถึงปัจจุบัน (27 ต.ค.66) ขายสะสมหุ้นไทยออกไปแล้ว 1.69 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนในประเทศซื้อสะสม 1.12 แสนล้านบาท และสถาบันซื้อสะสม 6.07 หมื่นล้านบาท

ส่วนภาพรวมเดือนตุลาคม 2566 (1-27ต.ค) นักลงทุนต่างประเทศเทขาย 1.26 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เทขาย 5.01 พันล้านบาท ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อสะสมสูงสุด คือ สถาบัน 9.89 พันล้านบาท และนักลงทุนทั่วไป 7.77 พันล้านบาท

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับตลาดหุ้นไทยในเดือนตุลาคมที่กำลังจะผ่านพ้นไป นั่นคือ การลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยเฉพาะวันที่ 26 ต.ค.66 ดัชนีหลักทรัพย์ฯลดลงถึง 30.48 จุด หรือ -2.17% ปิดที่ระดับ 1,371.22 จุด มูลค่าซื้อขาย 4.56 หมื่นล้านบาท เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ดัชนีหลักทรัพย์หลุด 1,400 จุด

พันธบัตรสหรัฐดูดเงินหนี

นั่นเพราะรับแรงกดดันทั้งนอกประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะการกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ยืนในระดับสูงยาวนาน หลังยอดขายบ้านใหม่ออกมาดีกว่าที่คาดมาก ทำให้เป็นปัจจัยหนุนต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) 10 ปีของสหรัฐปรับตัวขึ้น ขณะเดียวกันสถานการณ์ในตะวันออกกลางก็กลับมาตึงเครียดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ประกอบกับเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ยังไหลออกต่อเนื่อง หลังค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ ตลาดหุ้นไทยตอนนี้ ติดอันดับตลาดหุ้นที่แย่ที่สุดในโลก ภาพรวมมีการเทขายในตลาดหุ้นไทย และตลาดพันธบัตรหนักที่สุดในรอบ 8 ปี

อย่างไรก็ตามในวันถัดมา (27 ต.ค.) ดัชนีฯรีบาวนด์กลับขึ้นมาปิดที่ระดับ 1,388.23 จุด เพิ่มขึ้น 17.01 จุด หรือบวก 1.24% จากวันก่อนหน้า โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวม 4.12 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิ 1,328.70 ล้านบาท

โดยภาพรวมการฟื้นตัวของดัชนีฯฟื้นตัวตามภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียที่สามารถรีบาวนด์ขึ้นได้ โดยเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่เข้าซื้อพันธบัตรค่อนข้างมาก ประมาณ 4 พันล้านบาท

หุ้นไทยยังผันผวนต่อ

การปรับตัวลดลงอย่างหนักเมื่อวันที่ 26 ต.ค. บีบคั้นให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องออกมาชี้แจง โดย นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. แถลงว่าการปรับตัวลดลงของดัชนีหุ้นไทยถึง 30 จุด นั้นปรับลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาค โดยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งของ "อิสราเอล-ปาเลสไตน์" และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ขณะที่ ตลท.จึงคาดว่าตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนต่อไปอีกระยะจนกว่าปัจจัยต่างๆ จะชัดเจน พร้อมยืนยันว่าปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทยไร้ปัญหา แต่ดัชนีที่ปรับตัวลดลง มาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก

โดยปี 2566 นี้มี Fund Flow ไหลตั้งแต่ต้นปีออกกว่า 1.07 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนระยะสั้น จากปีก่อนที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามากกว่า 2 แสนล้านบาท และเชื่อว่าจุดพลิกผันตลาดหุ้นไทยจะเกิดขึ้นได้หากปัจจัยลบภายนอกประเทศคลี่คลาย

ทั้งนี้ อยากให้นักลงทุนดูข้อมูลจากความสามารถในการทำกำไรเป็นหลักของบริษัทจดทะเบียน เพราะบริษัทจดทะเบียนของไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกระทบแค่บางอุตสาหกรรมที่อาจพึ่งพาการส่งออก และตลาดโลกเป็นหลัก แต่มีบริษัทจดทะเบียนในบางอุตสาหกรรมบางธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ จึงอยากให้วิเคราะห์ในเรื่องนี้ประกอบด้วย

ไทยมีหลายปัจจัยแข็งแกร่ง

รวมทั้ง อยากให้มองภาพรวม และปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยเป็นหลัก เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่มีอะไรที่น่ากังวล สถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ไม่ได้อยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งระดับหนี้สาธารณะไม่ได้อยู่ในระดับสูงเหมือนในหลายประเทศ 

ไม่เพียงเท่านี้ การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบกว่าหลายประเทศในภูมิภาคและยังสามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจรวมไปถึงอุตสาหกรรม S curve

ดังนั้น หากสถานการณ์ต่างๆคลี่คลาย และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงจากภายนอกประเทศเพิ่มขึ้น หรือขยายวงกว้าง ก็เชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นไทยจะกลับมาพลิกฟื้นได้รวดเร็วกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค

หุ้นแบงก์ผลงานยังน่าสนใจ

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยว่า ดัชนีฯแกว่งตัวผันผวน โดยมีแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูงกดดันตลาด รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยผู้นำอิสราเอลยืนยันว่าจะต่อสู้ไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่ากองทัพอิสราเอลจะไม่หยุดทิ้งระเบิดและบุกโจมตีฉนวนกาซาหลังจากกลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกัน 

ทั้งนี้ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล โดยมีแนวโน้มปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือปัจจุบันที่ A1 เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์

ขณะที่ สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีจากตัวเลขดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.0 ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนจากระดับ 50.2 ในเดือน ก.ย. ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.65 ดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐฯ

สำหรับปัจจัยในประเทศทาง ส.อ.ท.เปิดเผยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ก.ย.66 อยู่ที่ 97,476 คัน ลดลง 2.90% เทียบปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 11.33% จากไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก 84,924.82 ล้านบาท ลดลง 6.75% เทียบปีก่อน และ 9 เดือนแรก ยอดส่งออกรวมทั้งสิ้น 821,899 คัน ขยายตัว 16.34%YoY และมีมูลค่า 702,821.49 ล้านบาท ขยายตัว 9.38% จากปีก่อน โดยคาดยอดส่งออกปีนี้น่าจะได้ตามเป้า 1.05 ล้านคัน ส่วนการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันกดดันราคาหุ้นกลุ่มพลังงานต่อเนื่อง

ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนใน 4 หุ้นเด่นกลุ่มสถาบันการเงินที่ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/66 ออกมาดีกว่าคาดการณ์ ได้แก่ KBANK, BBL, KTB และ TTB

ขณะทิศทางการลงทุนในทองคำ บล.โกลเบล็ก ประเมินภาพรวมทองคำจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากความรุนแรงของสงครามเพิ่มขึ้นระหว่างสัปดาห์ หากราคาทองคำอ่อนตัวไม่หลุดแนวรับ 1,950 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ให้ซื้อสะสม


หุ้นปันผลสูงยังมีเสน่ห์

ด้านนายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ แสดงความเห็นถึงทิศทางการลงทุนโค้งสุดท้ายของปีนี้ว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกจะผันผวนสูงมากในช่วงสั้น Fund Flow ยังคงไหลออกจากตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นทั่วทั้งภูมิภาค โดยมีสินทรัพย์เสี่ยงตอบสนองต่อข่าวทุกอย่างเป็นข่าวร้าย ซึ่งในเชิงของ Asset Allocation ในช่วงสั้น 1-2 เดือน

ดังนั้น จึงแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น หรือเทอมฟันด์ และหาจังหวะลงทุนในหุ้นไทยที่มีปันผลสูง เนื่องจากราคาหุ้นได้ลดลงมากแล้วทำให้หุ้นที่มีปันผลสูงจะได้รับฟันด์โฟลว์ไหลเข้า เมื่อเหตุการณ์ตะวันออกกลางคลี่คลาย ในเชิงของหุ้นที่จะ outperform จะมีลักษณะ low Beta เงินปันผลในอนาคตสูง (Forward Dividend) และค่า P/E ต่ำ

"ในปี 66 ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนติดลบกว่า 13% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นผ่านการขึ้นดอกเบี้ยหลายๆ ครั้งของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี สภาพคล่องภายในที่ลดลงอย่างมาก ความไม่มีเสถียรภาพของปัจจัยทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก ความตึงเครียดของภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยกว่า 1.7 แสนล้านบาท เกือบ 84% ของเม็ดเงินที่ไหลเข้าในปี 65 แต่ซื้อพันธบัตรเบาบางแค่ 2 หมื่นล้านบาท" นายวิศิษฐ์ กล่าว

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นในปี 67 มีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยที่เป็นบวกจาก Valuation ใน Forward P/Book Value ที่ถูกเป็นอันดับ 3 ในรอบ 15 ปี การเติบโตของ GDP ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเติบโตลดลง ดอกเบี้ยทั่วโลกเริ่มถึงจุดอิ่มตัว และจะปรับตัวลดลงในกลางปี 67 บริษัทจดทะเบียนมีกำไรต่อหุ้นที่เติบโตกว่า 15% ในปี 67 เมื่อเปรียบเทียบติดลบ 5% ในปี 66

"หุ้นไทยจะ outperform หุ้นโลก เนื่องจากการเติบโต GDP ของไทยจะดีกว่าค่าเฉลี่ยหุ้นโลก Valuation หุ้นไทยยังคงไม่แพงในแง่ราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี และในเชิง Earning Yields Gap (ส่วนกลับของ P/E กับผลตอบแทนพันธบัตร) โดยคาดการณ์ดัชนี SET index เป้าหมายในปี 67 ที่ระดับ 1,650 จุด โดยอาศัยสมมติฐาน EPS 2025 ที่ 113 บาท และ Bond Yields 10 ปีที่ 3.3% แต่ถ้าเป็น Forward PE ที่ 13.4x และดอกเบี้ย RP ที่ 2.25% จะได้ดัชนีเป้าหมายที่ 1,560 จุด" นายวิศิษฐ์ กล่าว

ขณะเดียวกันเชื่อว่า ปี67 นักลงทุนต่างชาติจะขายตลาดหุ้นไทยน้อยลง เนื่องจากปี 66 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 1.6-1.7 แสนล้านบาท หลังจากเป็นฝ่ายซื้อสุทธิกว่า 2 แสนล้านบาทในปี 65 ถือได้ว่านักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิกว่า 8 แสนล้านบาทในรอบ 13 ปี ตั้งแต่การใช้ QE เป็นต้นมา

นอกจากนี้ มองว่า ในปี 67 นักลงทุนจะเป็นฝ่ายซื้อตราสารทุนสุทธิ แต่จะขายตราสารหนี้สุทธิ โดยปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรไทยประมาณ 9.4 แสนล้านบาท หรือ 11.6% และน้ำหนักของพันธบัตรประเทศไทยใน JP Morgan Local Government Bond index (GBI-EM GD) อยู่ที่ 10% แต่ในช่วงระยะเวลา 10 เดือน นับตั้งแต่ 28 มิ.ย.67 น้ำหนักของพันธบัตรประเทศอินเดียจะถูกรวมเข้าคำนวณในดัชนี อาจจะทำให้ Fund Flow ออกจากพันธบัตรไทย 1.7 แสนล้านบาท เพื่อถูกแทนที่โดยน้ำหนักการลงทุนของพันธบัตรประเทศอินเดีย

พร้อมกับคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ ได้ถึงจุดสูงสุดแล้ว มองดอกเบี้ย Fed Fund ว่า จะเริ่มจะลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ในไตรมาส 3 ปีหน้า เมื่อ Fed หยุดการขึ้นดอกเบี้ย ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนในทางบวก ในเอเชียรวมทั้งในประเทศไทยมองเงินเฟ้อปี 67 เริ่มกลับสู่ระดับ 2% ใกล้เคียงกับระดับการเกิดโควิด-19 และเริ่มกลับสู่ระดับที่สบายใจของธนาคารกลางทั่วเอเชีย ซึ่งเป็นภาวะที่เปลี่ยนจากเงินเฟ้อสู่ระดับ Low – flation

ส่วน Bond Yields พันธบัตรของสหรัฐฯ มองว่าจะเข้าสู่ระดับ Peak ในไตรมาส 4 เช่นเดียวกัน Fed Fund ของสหรัฐฯ จะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 4/66 ส่วนราคาน้ำมันที่ระดับราคา 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะนำไปสู่ Demand Destruction หรือภาวะน้ำมันแพงนำไปสู่การใช้น้ำมันที่ลดลง ส่วนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อยู่ใน Zone ราคาแพงหรือมูลค่าเกินความเป็นจริง แต่จะยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ แต่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่ชะลอตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ

จับตาเม็ดเงินไหลกลับ

สิ่งเหล่านี้ทำให้คาดว่า Fund Flow จะไหลกลับมาตลาดหุ้นไทย หลังจากบอนด์ยิลด์ปรับตัวลง ซึ่งคาดว่าจะพุ่งสูงในไตรมาส 4/66 และหากสงครามในตะวันออกกลางไม่ยืดเยื้อ Fund Flow จะเข้าตั้งแต่ต้นปี 67 เนื่องจากนโยบายแจกเงิน Digital wallet จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงที่เหลือของปีทิศทาง Fund Flow ขึ้นอยู่กับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อีก 2 ครั้งในปีนี้ รวมทั้งสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ ในปีนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 84% ของปีที่แล้วเป็นการถือครองต่ำกว่าปกติ (Under-Owned) และอานิสงส์ของ Fed Fund ที่ลดลง โดยมองว่าจะปรับลดลง 50 BPS ในครึ่งปีหลัง ทำให้ Fund Flow ไหลเข้าตลาดทุนไทย

โดยคาดการณ์ดัชนี SET Index ในปี 66 ในเชิง Earning Yields Gap 4.2 เท่า ได้แนวรับ 1,342 จุด เป็นแนวรับที่น่าจะรับอยู่ โดยอาศัยสมมติฐาน EPS 68 ที่ 99.6 บาท และบอนด์ยิลด์ 10 ปีที่ 3.25% และปีนี้อัปไซด์ของ SET อยู่ที่ระดับ 1,460 จุด ซึ่งยังไม่รวมสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางขยายตัว และเป้าหมายดัชนีในปี 67 อยู่ที่ระดับ 1,560-1,650 จุด ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด คาดดัชนีอยู่ที่แนวรับ 1,350 จุด

ขณะที่ในปี 67 คาดการณ์ GDP ไทยโต 3.6% สูงกว่าประเทศอื่น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศสูงขึ้น รวมทั้งมาตรการ Digital wallet ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจส่งผลให้ Bond Yield ในไทยสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการเงินที่สูงตามไปด้วย หุ้นกลุ่มที่แนะนำในปี 67 ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเติบโตเห็นได้ชัดโดยเฉพาะพื้นที่ EEC กลุ่มโทรคมนาคม แม้ว่าบางบริษัทขาดทุน แต่การแข่งขันต่างๆ ลดลงจากการควบคุมกิจการ และกลุ่มการแพทย์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีนี้อาจจะมีบริษัทผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้อีก จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังไม่ดีนัก

ราคาหุ้นที่ต่ำช่วยดึงดูดเม็ดเงิน

ทั้งนี้ จากมุมมองข้างต้น ทำให้พอสรุปได้ว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยต่อจากนี้ จะดีขึ้นได้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ลบในต่างประเทศคลี่คลายออกไปในทิศทางที่ดี รวมถึงการไหลเข้าของเม็ดเงินจากต่างประเทศ ด้วยสิ่งล่อใจนั่นคือ ราคาหุ้นพื้นฐานดีราคาถูก และการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในกลางปีหน้า เมื่อเริ่มพบสัญญาณอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเริ่มพบจุดอิ่มตัว 

ส่วนปัจจัยบวกภายในประเทศ จะมาจากการเติบโตของ GDP ที่ระดับ 3.6% ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่น ขณะที่บริษัทจดทะเบียนมีกำไรต่อหุ้นที่เติบโตกว่า 15% ในปี 67 เมื่อเปรียบเทียบติดลบ 5% ในปี 66


กำลังโหลดความคิดเห็น