ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP หลักทรัพย์ของ "สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น" กรณีมีกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนด ลั่น 2 ปีไม่เรียบร้อยเจอพิจารณาเพิกถอน ขณะเจ้าหนี้ทางการเงิน 4 รายของ "เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์)" ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK ร่วมกันยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ PDITL ต่อศาลล้มละลายกลาง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย "SP" (Suspension) หลักทรัพย์ของ STARK หรือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กรณีมีกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนด ทั้งนี้ ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขึ้นเครื่องหมาย "NP" (Notice Pending) หลักทรัพย์ของ STARK
เนื่องจาก STARK ไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบให้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนดได้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป จนกว่า STARK จะดำเนินการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วนนั้น
ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการในการดำเนินการต่อบริษัทจดทะเบียนที่มีกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขึ้นเครื่องหมาย "SP" หลักทรัพย์ของ STARK ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะดำเนินการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วนตามข้อกำหนด
ทั้งนี้ หาก STARK ยังไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วนตามข้อกำหนดภายใน 2 ปีนับจากวันขึ้นเครื่องหมาย SP หรือภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2568 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศให้ STARK เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน และตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของ STARK ต่อไป
ขณะที่ STARK เปิดเผยว่า เจ้าหนี้ทางการเงิน 4 รายของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ PDITL ต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ 24/2566 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม 2566 PDITL ได้รับสำเนาคำสั่งของศาลล้มละลายกลางแจ้งว่ามีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 18 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารยูโอบี และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ในฐานะเจ้าหนี้ของ PDITL เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการร่วมกันต่อศาลล้มละลายกลาง โดยเสนอให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ และตั้งบริษัท อีวายฯ เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะช่วยให้ PDITL สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับ อีกทั้ง PDITL ยังสามารถประกอบธุรกิจปกติต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในขั้นตอนการดำเนินงาน การควบคุมภายใน และพัฒนาการบริหารงานให้ดียิ่งขึ้นไป