xs
xsm
sm
md
lg

"พรอนงค์" ประกาศลุยตลาดทุนหนุนเศรษฐกิจ บรรจุดิจิทัลโทเคนเข้า กม.หลักทรัพย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"พรอนงค์"  เลขา ฯ ก.ล.ต. ใหม่ถอดด้าม ชูวิสัยทัศน์สานงานนโยบายเดิม พร้อมรับลูก "เศรษฐา" ดันตลาดทุนไทย หนุนเศรษฐกิจในทุกระบบ หวังเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ในการระดมทุนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ เล็งผลักดันดิจิทัล โทเคนเข้าสู่กฏหมายหลักทรัพย์เพื่อทำให้การกำกับดูแลเท่าเทียมกัน

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงบทบาทในฐานะเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ โดยยังคงบทบาทในการทำงานเช่นเดียวกับเลขาฯ คนก่อน ๆ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา กำกับ และผลักดันให้การเติบโตของระบบเศรษฐกิจไทย รวมทั้งมีความต้องการให้ตลาดทุนเป็นพื้นที่ระดมทุนสำหรับทุกคนทั้งรายเล็กและรายใหญ่โดยเข้ามาระดมทุนด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตบทบาทของ ก.ล.ต.คือการทำให้ตลาดทุนเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะเดียวกันตลาดทุนควรเป็นเครื่องมือของการออมระยะยาว โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย เมื่ออายุมากขึ้นสามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องรอพึ่งพาสวัสดิการรัฐ โดยตลาดทุนจะเป็นเครื่องมือในการดูแลนักลงทุน มีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมตามฐานความเสี่ยง รวมทั้งมีตัวเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย อาทิ High Bond Yield ที่ในปัจจุบันมีแค่สัดส่วนเพียง 10% ของจำนวนตราสารนี้ทั้งหมด รวมทั้งให้ความสำคัญกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ซึ่งนอกจากต้องการขยายให้คนเข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้นยังรวมถึงการออมด้วยจำนวนที่เยอะมากขึ้นด้วย

“ไม่อยากให้ตลาดทุนเป็นเรื่องของคนรวย อย่างคนจนเล่นหวยคนรวยเล่นหุ้น แต่อยากให้ตลาดทุนเป็นที่พึ่งเป็นกลไกหลักในการทำให้ประเทศไปสู่ความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงทำให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อยากให้ประชาชนคนไทยเข้ามาใช้ตลาดทุนได้”

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ภายใต้พระราชกำหนดสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต.จะพิจารณาประเด็นการระดมทุนที่มีความคล้ายคลึงกับสินทรัพย์ดั้งเดิม เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างสินทรัพย์ดั้งเดิมกับสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปรับแก้กฎหมายให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็น Investment Token หรือ Utility Token มาอยู่ในพ.ร.บ. หลักทรัพย์ เพื่อทำให้การกำกับดูแลเท่าเทียมกัน ซึ่งการปรับแก้กฎหมายดังกล่าวอยู่ในชั้นกฤษฎีกาเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้นโดยระยะสั้นจะปรับ Ecosystem สินทรัพย์ดิจิทัล คาดจะเห็นความชัดเจนปลายปี ส่วนระยะยาวจะเป็นเรื่องการปรับแก้กฎหมายซึ่งอยู่ระหว่างการชี้แจงให้กับกฤษฎีกา


กำลังโหลดความคิดเห็น