"หมอมิ้ง พรหมินทร์" เลขาธิการนายกฯ ย้ำเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 10000 บาท ไม่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายได้ทุกคน ลั่น!! คุ้มค่าเงินเพียง 5.6 แสนล้าน สร้างเศรษฐกิจเจริญเติบโต ชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าประเทศอื่น ไม่หวั่นแม้นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ กูรูคลัง หรือ สมาชิกวุฒิสภา ตบเท้าเข้าแถวออกมาคัดค้าน
วันนี้ (10 ต.ค.) นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นโครงการการแจกเงินได้ทุกคน หรือ "ดิจิทัลวอลเล็ท 10,000 บาท" ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลหวังว่าจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากตอนนี้มีหลายประเทศกลับมาฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจนแล้ว โดยบางประเทศมีการฟื้นตัวเกินหน้าประเทศไทยไปแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังค่อยๆขยับอย่างช้าๆ ซึ่งจากดัชนีฯการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดการณ์ไว้ นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีขึ้น เห็นได้จากการเงินการคลัง จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา จากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 0.3 นั่นคือความต้องการน้อยลงแต่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มไปถึง ร้อยละ 2.5 ดังนั้นภาระต่างๆ จึงตกอยู่ที่ประชาชน เป็นหนี้สิน และต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ดังนั้นมาตรการที่สำคัญ จึงต้องมีนโยบายนี้เข้ามาเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์
ขณะที่โครงการนี้เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าที่มาช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน แม้จะมีมาตรการลดราคาพลังงานไปแล้ว พร้อมยืนยันว่ากระทรวงการคลังได้ชี้แจงไปแล้วเมื่อวานนี้ ถือเป็นการแถลงครั้งใหญ่และชี้ให้เห็นว่า ภารกิจครั้งใหญ่ในการทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาประชาชนจะแก้อย่างไรนั้น เป็นความท้าทายของรัฐบาลนี้ หรือจะให้อยู่เฉยๆแล้วจนครบวาระ
ส่วนความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนเป้าหมาย ให้ใช้กับกลุ่มเปราะบาง นพ.พรหมินทร์ ย้ำว่า "กว่าร้อยละ 90 ทุกคนเป็นหนี้ ดังนั้นจึงต้องให้ความเท่าเทียมกัน และขณะนี้ คนที่มีรายได้มาก เมื่อซื้อของก็ต้องมีการสมทบ และใช้จ่ายเพิ่ม ดังนั้นความแตกต่าง ในแต่ละกลุ่มมี จึงต้องไปดูในรายละเอียด"
อย่างไรก็ดี นพ.พรหมินทร์ ยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการจ่ายเงินดิจิทัลให้ กลุ่มเด็กอายุ 16 ปีนำไปใช้เนื่องจาก หลักการสำคัญของการตั้งโครงการนี้คือการให้ประโยชน์กับทุกคน แต่มีการเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ และดูการเปลี่ยนจัดการ รวมถึงดูข้อจำกัดด้านกฎหมาย และการบริหารการเงินว่าจะทำอย่างไร แต่ประวัติที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ทำให้ประเทศที่เป็นหนี้สิน ในยุคกู้เงิน ไอเอ็มเอฟ ที่เกือบล้มละลายไปแล้วกู้กลับคืนมาได้ และคืนหนี้ได้ก่อนถึง 2 ปี หรือแม้แต่โครงการกองทุนหมู่บ้าน ก็สามารถที่จะสร้างรายได้ และในยุคของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้บริหารงบประมาณอย่างสมดุล และรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในเรื่องวินัยการเงินการคลัง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ครอบคลุมทุกกลุ่มตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นสิทธิเท่ากันที่จะนำไปใช้ ส่วนคนที่ ไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร เพราะอยู่ที่สิทธิ์ของแต่ละคนจะใช้หรือไม่ใช้
ส่วนกรณีที่นักวิชาการมองว่าโครงการนี้จะซ้ำรอยกับ โครงการรับจำนำข้าวนั้นนพ.พรหมินทร์ ยืนยันว่า รัฐบาลที่ผ่านมามีการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท แต่โครงการนี้ใช้ 560,000 ล้านบาท จึงเป็นการใช้ เงินอย่างระมัดระวัง และเม็ดเงินที่ลงไปเป็นการทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต
ขณะที่ทางด้านรัฐสภาซึ่งมีการประชุมวุฒิสภาในวันนี้และพบว่ามีการหารือระหว่าง สว.พบว่ามีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หลายคนทักท้วงถึงการเดินหน้าทำโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและประชาชนระยะยาว โดยได้มีการเสนอแนะให้พักโครงการดังกล่าว และศึกษาผลกระทบโดยละเอียดก่อน
ซึ่งนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. กล่าวว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล ในมุมมองของตนเห็นว่าเป็นโครงการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เนื่องจากไม่ชี้แจงรวมถึงแถลงแหล่งที่มาของเงินทุนที่จะนำมาใช้ และสุ่มเสี่ยงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพการเงินการคลังของรัฐ
นอกจากนี้ยังอาจขัดกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดว่า "คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องไม่บริหารราชการแผ่นดิน ที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกกิจระยะยาว"
อย่างไรก็ดีทราบว่ารัฐบาลจะให้ธนาคารออมสินรับโครงการดังกล่าวไปดำเนินการแทน โดยใช้เงินของธนาคาร รวม 5.6 แสนล้านบาท และรัฐบาลจะชดเชยให้ภายหลัง ตนได้พิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารออมสิน แล้วมองว่าการดำเนินการดังกล่าวจะขัดกับกฎหมายของธนาคาร
“ผมขอให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ หากจะทำเพราะได้หาเสียงไว้ ควรพิจารณาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเงินการคลัง หากทำผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ แม้จะบอกว่าประชาชนต้องรับผิดชอบ แต่ผมมองว่าผู้รับผิดชอบคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ฐานะประธานวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมถึง ครม. ผมขอให้ดูโครงการรับจำนำข้าวเป็นตัวอย่าง ขอให้นำความเห็นผู้ที่คัดค้านไปปรับปรุงแก้ไข” นายเฉลิมชัย กล่าว
ขณะที่นายถวิล เปลี่ยนสี หารือในประเด็นเดียวกัน โดยย้ำว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล เป็นนโยบายที่เป็นปัญหาและไม่ถูกต้องด้วยกาลเทศะ เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องกระตุ้นมากนักตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ตนจึงมองว่า ควรเน้นด้านการสร้างเสถียรภาพ มากกว่าการสร้างภาระหนี้สินให้รัฐในอนาคต อย่างไรก็ดีขณะนี้มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยท้วงติง ตนมองว่ารัฐบาลควรรับฟังเหตุผล
“รัฐบาลยืนยันทำโครงการ โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชน ผมว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง หากสิ่งใดเป็นพิษต้องไม่ตามใจประชาชน นายกฯ เหมือนหมอที่รักษาไข้ราษฎร หมอให้ยาพิษเคลือบน้ำผึ้งกับคนไข้ไม่ได้ ประชาชนย่อมไม่รู้ถึงพิษที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ ผมเสนอแนะว่า รัฐบาลต้องกล้าหาญและยอมรับสารภาพความจริงกับประชาชนว่า ไม่ทำโครงการนี้ ความมุ่งมั่นทำโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องกล้าหาญ แต่เป็นเรื่องดื้อรั้นไม่มีเหตุผล ดังนั้นยังมีเวลาจะทบทวน ผมหวังนายกฯ จะรับฟังเสียงท้วงติง” นายถวิล กล่าว
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ กล่าวว่า สินทรัพย์ หรือเงินดิจิทัล ที่ใช้ตลาดเก็งกำไรทั่วโลก เป็นความเสี่ยงหากรัฐบาลจะเข้าไปรับประกันมูลค่าและนำเข้าสู่การซื้อขายเงินคริปโต เพราะมีกรณีของบิทคอยน์ ที่พบว่ามีมูลค่าขึ้นสูงสุด 6.9 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ แต่วันนี้ เหลือ 2.7 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ และบิทคอยน์นั้นเชื่อว่า อยู่ในกลุ่มฟอกเงินของนักพนัน ผู้ค้าของเถื่อน หลบเลี่ยงภาษีทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรมองแค่ผลบวกอย่างเดียว และไม่ควรเอาประเทศไปเสี่ยงในวงการดังกล่าว
"ส่วนตัวมองว่าไม่เห็นด้วยที่จะแจกเงินแบบเหวี่ยงแหทุกกลุ่ม เพราะเป็นนโยบายที่ไม่สร้างความเป็นธรรม และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง รัฐบาลควรจะทำคือ เน้นการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก รวมถึงเน้นการลงทุนภาครัฐ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งนโยบายแจกเงินนั้น เป็นความเลื่อนลอยที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นความคาดหวังเกินจริง การใช้จ่ายเงินของรัฐ แจก หรือ โอน จะมีมูลค่าต่ำกว่าตัวคูณในการลงทุนของภาครัฐ ดังนั้นผมขอให้รัฐบาลถอยโครงการนี้และนำเงินไปใช้ในทางที่เหมาะสมของประเทศต่อไป” นพ.เจตน์ กล่าว
ด้านนาย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ อดีตเลขาฯ ก.ล.ต. ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมหลังการพยายามใช้ข้าราชการ ก.คลังให้ออกมาโฆษณาแจกเงินตามนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งโพสต์ผ่าน Facebook ล่าสุดว่า
กระทรวงการคลังโฆษณาเงินดิจิทัล
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 กระทรวงการคลังยกโขยงกัน ทั้งข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ เพื่อออกมาแถลงเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัล ส่วนใหญ่เป็นโฆษณาเพื่ออ้างว่า ขณะนี้ชาวบ้านเดือดร้อน จะต้องปั๊มหัวใจ (แต่กลับแจกเงินเหวี่ยงแหทั้งคนรวยและคนจน) และโครงการเงินดิจิทัล จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต (เป็นโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งบทความต่อไปจะเจาะลึก)
ทั้งสองประเด็นนี้ คงจะมีการทุกเถียงกันในเชิงวิชาการอีกหลายรอบ
แต่มีประเด็นที่สำคัญ ที่ยกโดยคุณกรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีคลัง และนักวิชาการอื่นที่คณะกรรมการเงินดิจิทัลควรจะเตรียมคำตอบเอาไว้
1.การขายลดไปเป็นเงินปกติ
กระทรวงการคลังจะกำหนดเงื่อนไขห้ามนำเงินดิจิทัลไปชำระคืนหนี้ ส่วนหนึ่ง คงเพื่อไม่ให้เข้าข่ายเป็นเงินตรา และอีกส่วนหนึ่ง คงเพราะการชำระคืนหนี้ไม่ได้กระตุ้นจีดีพี
นอกจากนี้ ยังจะมีเงื่อนไขจำกัดระยะเวลา และจำกัดขอบเขตพื้นที่ใช้งาน
ดังนั้น จึงคาดได้ว่า จะมีกระบวนการรับซื้อเงินดิจิทัล แปลงไปเป็นเงินบาทปกติ โดยคิดส่วนลด ซึ่งอาจจะสูงถึง 20%
สำหรับชาวบ้านที่ได้รับเงินแจกมาฟรี 10,000 บาท นั้น ถ้าจะแปลงเป็นเงินปกติ ที่เอาไปชำระหนี้ได้ ให้เงินลูกเอาไปโรงเรียนได้ เก็บไว้นานกว่าหกเดือนได้ เอาไปซื้อลอตเตอรี่ก็ได้ ฯลฯ ชาวบ้านก็อาจจะพร้อมใจ ยอมจ่ายส่วนลด 2,000 บาท รับเงินสดจริงไป 8,000 บาท สบายใจกว่า
ดังนั้น นอกจากโครงการนี้ อาจจะได้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าที่คาด เพราะอาจมีการรั่วไหลไปเล่นการพนัน
แต่ที่สำคัญ จะเป็นโครงการที่เปิดช่องทางหากินให้แก่ธุรกิจที่สามารถเสนอรับซื้อส่วนลด 20%
ในวงเงิน 560,000 ล้านบาท อาจจะมีส่วนลดเกิดขึ้นเป็นระดับแสนล้านบาท เป็นอันว่า ถ้าเกิดเช่นนี้ รัฐบาลเอาเงินส่วนรวมไปอุดหนุนช่องทางหากินส่วนลด จะสร้างหนี้ให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลาน แต่จะเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ คณะกรรมการจะเสนอแนวทางป้องกันปัญหานี้อย่างไร
2.ประโยชน์จะไปตกแก่ธุรกิจขนาดใหญ่
กระทรวงการคลังจะกำหนดเงื่อนไข ธุรกิจที่จะเอาเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินปกติได้ จะต้องเป็นธุรกิจที่ลงทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม น่าเสียดายว่า เงื่อนไขนี้อาจจะตัดชาวบ้านร้านตลาด พ่อค้าแม่ค้าเท้าเปล่าตามหัวมุมถนน อาจจะไม่ได้รับประโยชน์ เพราะธุรกิจขนาดย่อมที่เคยลงทะเบียนในโครงการสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ หลายรายก็พบว่า โดนประเมินภาษีย้อนหลัง
คณะกรรมการจะเสนอมาตรการอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ประโยชน์จากโครงการตกอยู่แก่เฉพาะ chain store ของในทุนยักษ์ใหญ่
3.ผลการกระตุ้นไม่ยั่งยืน
กระทรวงการคลังหวังว่าการใช้จ่ายเงินดิจิทัล จะมีผลหมุนเวียนในเศรษฐกิจหลายรอบ แต่การหมุนเวียนจะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากภาคธุรกิจเพียงแต่ขายสินค้าที่ผลิตไว้แล้วในอดีต ที่ยังค้างอยู่ในสต๊อก และภาคธุรกิจย่อมรู้ดีว่า โครงการกู้หนี้สาธารณะมาเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคนี้ จะทำเพียงครั้งนี้ ยิงปืนนัดเดียว
เมื่อเห็นเช่นนี้ การที่จะหวังให้ภาคธุรกิจลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม ซื้อวัตถุดิบ เพิ่มแรงงาน เพื่อผลิตสินค้าขึ้นมาทดแทน ก็น่าจะยากคณะกรรมการจะเสนอแนวทางเพื่อแก้ปัญหาแรงหมุนเวียนต่ำกว่าที่คาด อย่างไร