xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 36.93 ผันผวนตามทิศทางฟันด์โฟลว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 ต.ค.) ที่ระดับ 36.93 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.05 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาท 36.70-37.20 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะ sideway (แกว่งตัวในช่วง 36.90-37.09 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลว่า หากรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) วันศุกร์นี้ออกมาดีกว่าคาด อาจทำให้เฟดสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทำให้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้อาจผันผวนไปตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้ โดยจากภาพตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งทั้งตลาดบอนด์และตลาดหุ้นยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน ทำให้เรามองว่านักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง ก่อนรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้

อย่างไรก็ดี ควรระวังว่าตลาดการเงินอาจผันผวนสูงในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงเวลา 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยหากยอดการจ้างงาน รวมถึงอัตราการเติบโตของค่าจ้างชะลอตัวลงได้ตามที่ตลาดประเมินไว้ หรือชะลอลงมากกว่าคาด อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้ม Higher for Longer ของเฟด ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้บ้าง ขณะเดียวกัน ราคาทองคำมีแนวโน้มรีบาวนด์ขึ้น ซึ่งในภาพดังกล่าวเราคาดว่า เงินบาทพร้อมจะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ในทางกลับกัน หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง อาจยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้พอสมควร กดดันให้เงินบาทอาจอ่อนค่าเร็วทดสอบโซนแนวต้านแถว 37.25 บาทต่อดอลลาร์ได้

ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด ยังสะท้อนภาพการจ้างงานที่สดใสอยู่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil -2.3%) หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงพอสมควรในช่วงนี้ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.13%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวนด์ขึ้น +0.28% หนุนโดยการรีบาวนด์ขึ้นของหุ้นสไตล์ Growth เช่น กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +1.1% Adyen +1.1%) หลังบอนด์ยิลด์ระยะยาวฝั่งยุโรปปรับตัวลดลงตามบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปยังเป็นไปอย่างจำกัด ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าปรับสถานะถือครองมากนักจนกว่าจะรับรู้รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ล่าสุด ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 4.70-4.77% ก่อนที่จะแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.72% ตามเดิม ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ ในช่วงบอนด์ยิลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเราประเมินว่า downside risk ของการถือบอนด์ระยะยาวเริ่มจำกัดลง ขณะที่ Upside potential ยังมีความน่าสนใจมากอยู่

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 106.4 จุด (กรอบ 106.3-106.8 จุด) โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นบ้างก่อนที่จะอ่อนค่าลง หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วน เช่น Mary Daly (Fed San Francisco) ได้ให้ความเห็นว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ในส่วนของราคาทองคำ ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเดินหน้าซื้อทองคำต่อเนื่อง เพื่อรอลุ้นรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมในวันศุกร์ อย่างไรก็ดี บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ที่ยังคงแกว่งตัว sideway พอช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,835 ดอลลาร์ต่อออนซ์ต่อได้ ทั้งนี้ ราคาทองคำมีจังหวะย่อตัวลงบ้างในคืนที่ผ่านมา ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจมีการเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าในช่วงดังกล่าว แต่หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ อย่างน้อย +10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากโซนแนวรับ จะหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรได้ และพอช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น หรือชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า การจ้างงานมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls:NFP) เดือนกันยายนอาจเพิ่มขึ้นราว 1.6 แสนราย ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นเกือบ 1.9 แสนราย (ซึ่งต้องจับตาว่า จะมีการปรับปรุงข้อมูลก่อนหน้าหรือไม่ เพราะในปีนี้ NFP มักจะถูกปรับลดลงราว -5 หมื่นตำแหน่ง หลังการปรับปรุงข้อมูล) ส่วนอัตราการว่างงานอาจทรงตัวที่ระดับ 3.8% ไม่ต่างจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกันกับอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ที่จะขยายตัว +4.3%y/y เท่ากับเดือนก่อนหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น