xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติเทขายหนัก ก.ย. ลุ้นไตรมาส 4 เม็ดเงินไหลกลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหุ้นไทยเดือนกันยายนรับเอฟเฟกต์ “เฟด” คงอัตราดอกเบี้ยสูงระยะยาว ฉุดสินทรัพย์เสี่ยงรูด ขณะที่ กนง.ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทานค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กดดันทั้งเดือนดัชนีฯวูบ 106 จุด หลุด1,500 จุด ต่างชาติเทขาย 2.19 หมื่นล้าน ดันทั้งปีขายออก 1.57 แสนล้านบาท นักวิเคราะห์คาดไตรมาสสุดท้ายหลายอย่างฟื้นตัว หนุนเม็ดเงินไหลกลับ แนะนำกลุ่มหุ้นที่ได้รับอานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยเดือนกันยายน 2566 ถือเป็นอีกครั้งที่ดัชนีหลักทรัพย์โดยรวมเคลื่อนไหวอย่างในทิศทางขาลงจากระดับ 1,577 จุด เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2566 มาอยู่ที่ระดับ 1,471.43 จุดในปัจจุบัน (วันที่29ก.ย.) หรือลดลง 106 จุด หลุดโซนแนวรับสำคัญอย่าง 1,500 จุด แบบเบรกไม่อยู่

ภาพรวมตลอดเดือนกันยายน 2566 นักลงทุนต่างประเทศเทขายสุทธิ 2.19 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยสถาบันในประเทศ เทขายสุทธิ 4.59 พันล้านบาท ชณะที่นังลงทุนทั่งไป(รายย่อย) เข้าซื้อสะสม 2.42 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมตั้งแต่ต้นปี รายย่อยเข้าสะสมหุ้นไทยแล้ว 1.04 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติ เทขายต่อเนื่องถึง 1.57 แสนล้านบาท ขณะที่สถาบันซื้อสะสมตั้งแต่ต้นปี 5.08 หมื่นล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสะสม 1.72 พันล้านบาท

ปัจจัยสำคัญที่หลายฝ่ายยกให้เป็นสาเหตุที่กดดันตลาดหุ้นเดือนกันยายน คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC)ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน แม้เฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% แต่ยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 5.6%ภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี พร้อมกับส่งสัญญาณจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง โดยสิ้นปี 2567 สู่ระดับ 5.1% สิ้นปี 2568 สู่ระดับ 3.9%และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะอยู่ที่ระดับ 2.5%

สินทรัพย์เสี่ยงโดนเทขาย-บาทอ่อนค่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือว่าสร้างความผิดหวังให้แก่ตลาด เมื่อเฟดส่งสัญญาณดอกเบี้ยสูงและลากยาวจากที่คาดว่าปี 2567 เฟดจะลดดอกเบี้ยได้เร็ว ทำให้ตลาดกังวลต่อผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นโดยอายุ 10 ปีสูงกว่า 4.4% แล้ว ยิ่งทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีการเทขายออกมา ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า ยังมีความเสี่ยงเรื่องงบประมาณสหรัฐที่จะเจรจาไม่ได้ ทำให้คนมีความเป็นห่วงเรื่องสภาพคล่องในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากตลาดหุ้นจะได้รับแรงกดดัน ยังส่งผลให้ค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงด้วยตามแนวโน้มที่เฟดยังคงต้องดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวด เพราะลดดอกเบี้ยน้อยและลดช้า โดยทิศทางเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายภาครัฐ ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่เข้ามา ประกอบกับดอลลาร์แข็งค่าและเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง ไม่ลงทุนในเงินบาทหรือสินทรัพย์เสี่ยง

กนง.ปรับเพิ่มดอกเบี้ย.0.25%

ไม่เพียงเท่านี้ ต่อมาตลาดหุ้นไทยยังถูกปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก0.25% สู่ระดับ 2.50% มีผลทันที โดยให้เหตุผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่ 2/66 ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี 2567 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้บริบทภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว และภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ โดยอัตราการขยายตัวในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 2.8%และ 4.4%ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ

สภาพคล่องหดตัวรับขาขึ้นดอกเบี้ย

นั่นทำให้ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) ประเมินว่า เมื่อ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% จะเป็นปัจจัยกดดันให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นลดลง และตลาดมีโอกาสผันผวนจากแรงซื้อขายมากขึ้น โดยคาดว่า ดัชนี SET มีโอกาสย่อตัวลง 71 จุด อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าตลาดตอบรับมาในระดับหนึ่งแล้ว สังเกตได้จาก SET ที่ลดลง 69 จุด จาก 1,579 จุด ช่วงปลายเดือน ส.ค. ทั้งนี้ ที่ระดับอัตราดอกเบี้ย 2.25% เป้าดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ 1,595 จุด แต่หากดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 2.50% เป้าดัชนีจะลดลงมาอยู่ที่ 1,524 จุด

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ได้ทำการศึกษา มูลค่าการซื้อขายหุ้นไทย กับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายพบว่า มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกัน คือเวลาที่ดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้น มูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยมีโอกาสลดลง จากสถิติในอดีตทุก ๆ ดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น 0.25% กดดันให้มูลค่าซื้อขายหายไปราว 4 พันล้านบาทต่อวัน หรือ Turnover หายไปหรือลดลง 6.4% ต่อปี

ขณะที่ ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ครั้งล่าสุด ได้ส่งสัญญาณการคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง และปรับลดลงช้า โดยอาจจะต้องรอจนถึงไตรมาส 3 ปี 2567

ขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2567 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่น่าจะเป็นแบบจัดการได้ (Soft Landing) ล่าสุดเฟดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 จะเติบโต 1.5% ชะลอลงจากปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.1%

ส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย รวมถึงเศรษฐกิจในอาเซียนและไทย ที่พึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศ ในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปแม้มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ก็มาจากฐานต่ำ จึงทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2567 ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ จากแนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่คงอยู่ในระดับสูงและลดลงช้า ขณะที่ดอกเบี้ยในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) มีแนวโน้มลดลงได้เร็วมากกว่า ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย (Rate differentials) มีแนวโน้มดำเนินต่อไป และเป็นแรงกดดันทำให้ค่าเงิน Emerging markets อาจอ่อนค่า

เลือกลงทุนของดีคุณภาพสูง

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ SCB CIO แนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนในกลุ่มประเทศ/ธุรกิจที่มีหนี้สูง ซึ่งอาจเกิดปัญหาสภาพคล่องในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูง และเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงอาจถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดอันดับลง(downgrade)ได้ โดยประเทศส่วนใหญ่ยังมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับสูงและลดลงช้าเป็นผลจากการออกมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในช่วงโควิด-19

ขณะที่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พบว่าจีนอยู่ที่ 64% และไทย 91% ซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะไทยที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน สำหรับหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP พบว่าจีน อยู่ที่ 132% และเวียดนาม 128% โดยหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นเร็วและอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจของไทยอยู่ที่ 80% เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากที่เคยเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19

อีกทั้ง จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทย ที่ยังมีแนวโน้มสูงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ทำให้ยังคงแนะนำการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ หรืออัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐ-บาท ซึ่งออกโดยสถาบันการเงินในไทย เนื่องจากในช่วงที่ตลาดยังมีความผันผวนจากการลดดอกเบี้ยช้าของเฟด ทำให้เชื่อว่าสินทรัพย์เสี่ยงยังคงมีความผันผวนสูง ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทย ยังมีแนวโน้มอยู่ในลักษณะกว้างต่อไป

นอกจากนี้ ในการลงทุนในพันธบัตร/หุ้นกู้ ยังคงแนะนำเน้นการลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment grade) และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงบวกกับท่าทีของเฟด ในการหยุดขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งระยะสั้นและยาว ทยอยลดลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า

หุ้นแบงก์รับผลบวกดอกเบี้ยขึ้น

ด้านนายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นบวกต่อกลุ่มธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB

ส่วนการปรับเพิ่ม GDP ปี 2567 สู่ 4.4% จากการบริโภคเอกชน และการส่งออก มองเน้นกลุ่มพร้อมเติบโต ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก เน้นบมจ. ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT) , บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) กลุ่มสื่อสาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และส่งออกชิ้นส่วนฯ บมจ. เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) และ บมจ. ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA)

ด้าน บล.หยวนต้า ระบุว่า กนง. ปรับลด GDP ปีนี้ลงจากเหลือ 2.8% จาก 3.6% จากการปรับลดการลงทุนและยอดส่งออก แต่ปรับการบริโภคขึ้น ขณะที่ GDP ปีหน้าปรับเพิ่มเป็น 4.4% จาก 3.8% จากฐานต่ำปีนี้ โดยมีการปรับการบริโภคและยอดส่งออกขึ้น

ดังนั้น แม้ผลการประชุม กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 2.50% แต่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้ผลการประชุมจึงไม่ส่งผลต่อ Bond Yield ในตลาดมากนัก โดยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ยังปรับตัวลง 3bps. และ 4 bps. ตามลำดับ

นั่นเพราะยังมีแนวโน้มการบริโภคที่โตต่อเนื่อง และการส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. จะเป็นปัจจัยที่ช่วยจำกัด Downside ให้กับ Domestic play ในระยะถัดไปได้ เช่น ค้าปลีก อาหารเครื่องดื่ม ไฟแนนซ์ รวมถึงกลุ่ม REIT ขณะที่กลุ่มธนาคารมีโอกาสที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นในระยะถัดไป และเป็นบวกให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยขยับขึ้น นอกจากนั้น แนวโน้มกำไรไตรมาส 3 ปี 66 คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบปีก่อน เป็นปัจจัยช่วยหนุนการฟื้นตัว โดยเฉพาะ BBL, KBANK, SCB

โดย บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) ระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การประชุม กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.50% เพื่อสกัดเงินเฟ้อทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อต้นทุนของการบริโภคและภาคธุรกิจ ในทางกลับกันเชื่อว่าจะหนุนให้สกุลเงินท้องถิ่นชะลอการอ่อนค่าซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาแรงกดดันทางด้าน Fund flow ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ จะส่งผลบวกให้กลุ่มธนาคารและ Big Cap. อื่น ๆ จะหนุนตลาด, ช่วยลดแรงกดดันด้าน Fund-flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ตามปัจจัย อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันด้าน NPL และจะกดดันต่อ Sentiment ตลาดหุ้นผ่านต้นทุนการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์, ไฟแนนซ์ จึงแนะนำ Trading ในหุ้นที่มีปัจจัยเฉพาะตัวสนับสนุน, หุ้นธีมท่องเที่ยวรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้าไทย, และหุ้นที่มี High Season ในช่วงไตรมาส 4 ปี 66 เช่นกลุ่ม ICT เป็นต้น

ศก.โลกยังชะลอตัว

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับการค้าโลก สะท้อนจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกสูง นอกจากนั้น จีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลลบกับอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังแสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ อีกทั้งเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ และคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ในปี 2567

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยว ที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคนในปี 2566 และการส่งออก สินค้าที่จะหดตัว 2.5% มากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 1%

นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือน ที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะแนวโน้มการเร่งตัว ของหนี้รหัส 21 หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น โควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแออยู่ สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท.

ส่วนนโยบายที่รัฐบาลประกาศไปและจะดำเนินการเพิ่มเติม จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ผ่านการลดค่าครองชีพ การพักหนี้ และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัดในปี 2566 แต่คาดว่าจะเห็นผลบวกชัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 สำหรับค่าเงินบาท มองว่าในระยะสั้นค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าจากแนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยที่จะอยู่ในระดับสูงอีกสักระยะ และประเทศไทยยังน่าจะรักษาอันดับความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้ในขณะนี้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลในระยะต่อไป

พักขึ้นดอกเบี้ยหนุนหลายอย่างฟื้น

อย่างไรก็ตามทิศทางตลาดหุ้นไทยต่อจากนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่า เฟด มีแนวโน้มที่จะพักการขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ปี 66 ทำให้ตลาดหุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ทั่วโลก มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีในช่วง 18 เดือน โดยหลังจากคงดอกเบี้ยจะใช้เวลา 5 ถึง 15 เดือนก่อนที่เฟด จะเริ่มลดดอกเบี้ย

ขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยชะลอลงมาก แต่อนาคตมีความหวังจากความชัดเจนการเมืองและนโยบายกระตุ้น เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ดีกว่าปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อีก 1% โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ 4.1% (เทียบกับประมาณการเดิมที่ 3%) จากปี 2566 ที่ขยายตัว 2.7%

นั่นทำให้กระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดไทยอีกครั้ง เมื่อนโยบายการเงินที่เริ่มลดระดับความตึงตัวของเฟด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและการท่องเที่ยว ขณะที่กำไรของตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความท้าทาย แต่พบสัญญาณเริ่มแรกของสินค้าคงคลังที่ลดลงและผลกระทบเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงจรยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และอาจนำไปสู่การกลับมาเริ่มเติมสินค้าคงคลังทั่วโลกอย่างช้าๆ ในไตรมาสสุดท้าย นำไปสู่การแนะนำเข้าลงทุนในหุ้นที่กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างชัดเจนและได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ AOT, BCH, CRC, KCE และ KTB


กำลังโหลดความคิดเห็น