เงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่า คืออะไร?
เริ่มมาจากการที่ประเทศต่างๆ มีการทำมาค้าขายระหว่างกัน แต่ด้วยแต่ละประเทศใช้เงินคนละสกุล จึงต้องมีการปรับสกุลเงินของตัวเองให้อยู่ในสกุลที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ จึงจะเริ่มทำมาค้าขายกันได้
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่จะใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางในการค้าขายกับต่างชาติ ดังนั้น ในการขายสินค้าจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนราคาขายจากสกุล “บาท” ไปเป็นสกุล “ดอลลาร์” เพื่อให้พูดคุยต่อรองค้าขายกันได้
ซึ่ง “อัตรา” ที่เอาไว้ปรับมูลค่า เราเรียกว่า “อัตราแลกเปลี่ยน” นั่นเอง ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นอัตราส่วนที่เป็นการเปรียบเทียบค่าเงินของสกุลหนึ่งเทียบกับอีกสกุลหนึ่งเพื่อใช้ในการแปลงสกุลเงินนั่นเอง
ค่าเงินบาทแข็งค่า (Baht appreciation) หมายถึงเงินบาทของเรามีมูลค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น แต่ในทางกลับกันหาก เงินบาทอ่อนค่า (Baht depreciation) แสดงว่าเงินบาทของเรามีค่าน้อยลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ซึ่งการแข็ง หรืออ่อนยังคงอิงกับหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน คือ อุปสงค์-อุปทานนั่นเอง
ปัจจัยที่จะกำหนดความต้องการเงินตราต่างประเทศ
เราต้องการซื้อเงินตรา ตปท. (ขายบาท) เพื่อ
1) ใช้ซื้อสินค้าจาก ตปท.
2) ต้องการไปลงทุนใน ตปท.
3) ต้องชำระหนี้ของสถาบันการเงิน ตปท. หรือในสกุลเงินต่างประเทศตามสัญญาเงินกู้
4) ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ
แต่การขายเงินตรา ตปท. (ซื้อบาท) จะเกิดเมื่อ
1) เราส่งออกสินค้าไป ตปท.จะเอาเงินกลับประเทศ
2) คน ตปท. จะมาลงทุนในไทย
3) การได้รับเงินกู้เงินจาก ตปท. และจะเปลี่ยนเป็นเงินบาทนำเข้ามาในประเทศ
4) ขายสินค้าใน ตปท.ได้ และต้องการนำเงินกลับเข้าประเทศ
ใครได้/เสียกับเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่า?
จากการที่มีความต้องการทั้งซื้อและขายเงินตรา ตปท. ทำให้จะมีบริษัทที่ทั้งได้ และเสียประโยชน์กับเงินบาทที่แข็ง หรืออ่อนค่า
เงินบาทอ่อนค่าเป็น “บวก” ต่อ ...
- กลุ่มส่งออก รายได้เพิ่มขึ้น
- คนทำงาน ตปท.
- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว
เงินบาทอ่อนค่าเป็น “ลบ” ต่อ ...
- ผู้นำเข้า ต้นทุนเพิ่มขึ้น
- ผู้ลงทุน นำเข้าสินค้าต้นทุนแพงขึ้น
- ผู้มีหนี้เงินตราต่างประเทศ ภาระหนี้เพิ่มขึ้น
กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ผลบวก/ลบจากเงินบาท “แข็ง” หรือ “อ่อนค่า”
บวก กลุ่มที่รับรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศและมาแลกเป็นเงินบาทซึ่งจะได้รับเงินบาทมากขึ้น ยิ่งถ้าบริษัทใดมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ และผลิตเพื่อการส่งออกจะยิ่งได้ประโยชน์มากสุด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ผลบวกจากเงินบาทอ่อนค่าประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เกษตร ยานยนต์ ท่องเที่ยว โรงแรม โรงพยาบาล และขนส่ง
ลบ กลุ่มผู้นำเข้าวัตถุดิบจาก ตปท..บริษัทที่มีหนี้เป็นสกุล ตปท. (เช่น โรงไฟฟ้า พลังงาน กลุ่มซื้อสินค้ามาจำหน่าย) ผู้มาลงทุนในไทย (นิคมฯ) และเป็นลบต่อตลาดหุ้นด้วยเนื่องจากเป็นการเร่งให้เงินไหลออกจากตลาด
ในทางกลับกันหากเงินบาทแข็งค่าจะส่งผลกระทบทางลบกับกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าแทน และส่งผลบวกกับกลุ่มที่เคยเสียประโยชน์จากเงินบาทอ่อน
กำไร (ขาดทุน) อัตราแลกเปลี่ยน/กำไร (ขาดทุน) จากอนุพันธ์ต่างกันอย่างไรในงบกำไรขาดทุน?
บริษัทในตลาดที่ดำเนินธุรกิจส่งออก ค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน ซึ่งปกติ บริษัทจะทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นหากเงินบาทผันผวน
ซึ่งในงบกำไรขาดทุนจะมีรายการ กำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน และกำไร (ขาดทุน) จากอนุพันธ์เกิดขึ้น แม้ทั้ง 2 รายการจะกระทบต่องบกำไรขาดทุนแต่จะไม่มีกระแสเงินสดเกิดขึ้นจริง
ขณะที่ความแตกต่างระหว่างรายการทั้ง 2 คือ รายการกำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนคือธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากการขายและมีการชำระค่าขายแล้ว เกิดธุรกรรมกู้ยืมหรือลงทุนไปแล้ว ขณะที่ในส่วนอนุพันธ์เป็นสิ่งที่เกิดจากการปรับมูลค่าที่แท้จริง ณ วันสิ้นงวดจากบัญชีลูกหนี้ เจ้าหนี้ที่มีอยู่ และสัญญาป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ซึ่งจะมีการโอนกลับรายการดังกล่าวในงวดถัดไป
บทความโดย นารี อภิเศวตกานต์ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน
ที่มา : ลิเบอเรเตอร์