xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกลยุทธ์ รับมือภาวะตลาดผันผวน - บาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์ พร้อมใจเปิดกลยุทธ์ลงทุน รับมือภาวะตลาดผันผวน-เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาท/ดอลลาร์ หลังถูกกดดันจากความกังวลเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ และฟันด์โฟว์ยังไหลออกต่อเนื่อง แนะนำถือเงินสดลดความเสี่ยง เลือกหุ้นเฉพาะตัว รอจังหวะซื้อที่ 1,450-1,460 จุด แต่ต้องระมัดระวังการลงทุน

ตลาดหุ้นไทย ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีปัจจัยลบเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะความกดดันจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนพ.ย. ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ล่าสุดอ่อนค่าทะลุ 37 บาท/ดอลลาร์

ขณะที่ SET Index เดือน ก.ย. ที่ผ่านมาเดือนเดียว ลงลงไป 118 จุด หลุด 1,500 จุด และยังคงลดลงต่อเนื่องในเดือนนี้ (ต.ค.) ส่วนนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยแล้ว ตั้งแต่ต้นปีกว่า 1.5 แสนล้านบาท

DAOL แนะถือเงินสด - รอจังหวะซื้อที่ 1450-1460 จุด

บล.ดาโอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ความกังวลจากปัจจัยลบของตลาดที่มีอยู่รอบด้าน ยังแนะให้ถือเงินสดไว้ก่อน เพื่อรอจังหวะซื้อหุ้น โดยจุดเข้าซื้อ มองไว้ที่ 1450-1460 จุด พร้อมแนะนำกลยุทธ์ ลงทุนดังนี้

• ราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ควรเลี่ยงหุ้นน้ำมัน (PTTEP และโรงกลั่นน้ำมัน) ในช่วงนี้ไปก่อน

• หุ้นโรงไฟฟ้า ส่วนใหญ่คาดราคายังอาจลงไม่ถึงจุดต่ำสุด จากปัจจัยลบหลายตัว ที่จะมีผลไปถึงกำไร 3Q ที่กาลังจะออกมา (เงินบาทอ่อน+ ดอกเบี้ยขึ้น+ราคาน้ำมันสูง+นโยบายรัฐบาล)

• นักลงทุนอาจเลือกพักเงินไว้ในหุ้นที่กำไรไม่ถูกกระทบจากปัจจัยลบที่ตลาด มีอยู่ในเวลานี้ หรือจะเป็นหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลที่ดี ได้แก่ INTUCH, DMT

ดังนั้นยังแนะนำให้ถือเงินสดในระดับที่สูงไว้ต่อไป (>=70%) เนื่องจากตลาดยังมี ความเสี่ยงขาลงอยู่ ดึง TLI ออกหลัง Bond Yield ของไทยลดลง และนำ HANA ที่คาดว่าได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน เข้ามาแทน พอร์ตหุ้น ประกอบไปด้วย HANA(10%), JMT(10%), BH(10%

UOBK ชี้ บอนด์ยีลด์สูงกดตลาด แนะลงทุน 3 กลุ่มอิงบาทอ่อน

ด้านบล.ยูโอบี เคย์เฮียน ระบุว่า ผลตอบแทนพันธบัตรในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยกดดันความน่าสนใจการลงทุนในหุ้น จนกว่าจะเห็นผลตอบแทนพันธบัตรลดลง หรือประมาณการกำไรปรับขึ้น ทั้งนี้

1) ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ยังทรงตัวใกล้เคียงระดับสูงสุด ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้นเทียบพันธบัตร (Earnings yield gap) และทำให้ตลาดยังมีความเสี่ยงต่อแรงขายทำกำไร

2) ตลาดจะติดตามตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีสัญญาณชะลอตัวจะมีโอกาสทำให้คาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับดอกเบี้ยและผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงได้ ซึ่งมีโอกาสหนุนตลาดฟื้นระยะสั้นได้ แต่การฟื้นตัวอย่างแท้จริงจากวัฎจักรดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เริ่มปรับลดลงได้จริงๆ น่าจะยังต้องใช้เวลาอีกนาน

3) การรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/66 ในช่วง ต.ค.-ต้นพ.ย. ในหลายกลุ่ม (โดยเฉพาะหุ้นบริโภคในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบภัยแล้งและการใช้จ่ายภาครัฐที่ชะลอตัว) จะยังเป็นปัจจัยกดดันประมาณการกำไรบจ. ขณะที่ลุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มได้ประโยชน์จากบาทอ่อน จะช่วยให้ประมาณการกำไรบจ.เริ่มปรับดีขึ้น

ทั้งนี้ยังให้น้ำหนักกับเงินบาทอ่อนค่าในระยะกลาง หุ้นที่น่าสนใจได้แก่ 1) กลุ่มได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าทางตรงอย่างส่งออก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เช่น HANA, KCE, SVI, TU, CPF (แต่ไม่ควรไล่หุ้นที่ขึ้นมาเยอะ) และ 2) กลุ่มได้ประโยชน์ทางอ้อม จากกำลังซื้อของต่างชาติที่มากขึ้น ได้แก่ BDMS, BH, BCH, AOT, SPA, AWC, ERW เป็นต้น

ส่วน ต้น ต.ค. มองกลุ่มธนาคารมีโอกาสฟื้นก่อนการประกาศผลประกอบการ และกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ลดลงทดสอบแนวรับ มีโอกาสฟื้นตัว อย่างไรก็ตามภาพรวมยังเป็นการเลือกเก็งกำไรแบบกำหนดจุดตัดขาดทุน

หุ้นแนะนำ: AOT , BDMS , TU , SMT มองแนวรับ: 1,450-1,460 / แนวต้าน : 1,490-1,500 จุด สัดส่วนลงทุน: เงินสด 40% vs พอร์ตหุ้น 60%

MBKET มองบาทอ่อนเป็นปัจจัยเสี่ยง แนะระมัดระวัง

ด้านบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าแรงกว่าภูมิภาค ทิศทางค่าเงินบาทที่ล่าสุดทำจุดสูงสุดใหม่ทะลุ 37 บาท/ดอลลาร์ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องระมัดระวังในระยะสั้น สะท้อนแรงขายของกระแสเงินทุนต่างชาติที่ยังมีต่อเนื่อง โดยล่าสุดสะสม YTD ขายสุทธิในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ 1.57 แสนล้านบาท และ 1.46 แสนล้านบาท ตามลำดับ

สอดคล้องกับทิศทางผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของไทย ที่ทรงตัวในโซนสูงช่วง 3.15 – 3.20% ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดของปีที่ทำไว้ระดับ 3.26%

การลงทุนจึงยังคงต้องระมัดระวัง และเน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว / กำไรเด่น


กำลังโหลดความคิดเห็น