“ทนง พิทยะ” อดีตขุนคลัง ฝากโจทย์ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีนั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แนะนโยบายดิจิทัลวอลเลต แจกเงินต้องวางแผนต่อยอดผ่านกองทุนหมู่บ้าน ให้กู้ยืม-ดอกเบี้ยต่ำ สร้างแพลตฟอร์มบล็อกเชนควบคุมบริหารเงินตรงวัตถุประสงค์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประสานเสียง เตือนนโยบายรัฐอย่าทำแบบ‘เหวี่ยงแห’ ต้องไม่ทำลายภูมิคุ้มกันการคลัง
นายทนง พิทยะ ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฝากโจทน์ให้กับรัฐบาลว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง จากปัญหาช็กคโลกของโควิต มีผลกระทบทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเริ่มกลับเข้าสู่ระยะของการฟื้นตัว นโยบายของรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ต้องร่วมมือช่วยกันทั้งประเทศ มีหลายอย่างที่อยากจะแนะนำ ไม่ว่ารัฐบาลจะนำไปทำหรือไม่ก็ตาม แต่เชื่อว่าจากประสบการณ์ ช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ต้องลอยตัวค่าเงินบาท เจ็บช้ำอยู่ประมาณ 5-6 ปี พยายามดูแลสถาบันการเงินไม่ให้ล้ม เพื่อให้ทุกภาคส่วนเดินต่อไปได้
ในยุครัฐบาลนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้มีส่วนร่วมเข้าไปเป็นรัฐมนตรีในสมัยที่สอง ซึ่งได้สร้างกลยุทธ์หลายอย่างขึ้นมา ไม่ได้เป็นแค่นโยบายหลวม ๆ อาทิ กองทุนหมู่บ้าน, สินค้า OTOP, 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เป็นนโยบายดูแลประชาชนชายเหลือคนจนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เห็นชัดเจน แต่ในยุครัฐบาลเศรษฐา ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่เห็นกลยุทธ์ที่ชัดเจนเลย โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ความท้าทายและเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องเผชิญ แบ่งออกเป็น เรื่องของคนจน, SME, ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ
ความท้าทายของนโยบายเศรษฐกิจเพื่อคนจนที่ผ่านมามีปัญหามาก จากผลพวงของนโยบายประชานิยมที่ทำมา ทำให้ชาวบ้านคอยยกมืออ้าปาก ขอความช่วยเหลือจากรัฐ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร นี่คือ สิ่งที่น่ากลัวมากๆ อันที่สองเป็นผลพวงจาก covid-19 รุนแรงมากๆในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่รัฐบาลอัดฉีดเงินช่วยคนจน เพราะบอกไม่ให้คนทำงาน 2 ปี ทั้งกรรมกรและคนจนทั้งหลาย คนจนในเมือง เกือบจะหยุดเยอะมากในอุตสาหกรรมทั้งหลาย ในสองปีที่ไม่ให้ทำงาน และก็อัดฉีดเงินเข้าไปช่วย ผ่านคนละครึ่งบ้าง พยายามทำทุกอย่าง รัฐบาลก็อัดฉีดใช้เงินเกือบล้านล้าน
หนี้ครัวเรือนที่เคยอยู่ระดับ 70% ของ GDP ที่มีประมาณ 18 ล้านล้านบาท หนี้ก็ประมาณ 10 ล้านล้าน พุ่งขึ้นไปในช่วง 4 ปีเป็น 90% ของ GDP หรือเพิ่มขึ้น 20% อีก 3 ล้านล้านที่คนจนเป็นหนี้เพิ่มจากที่รัฐบาลอัดฉีดไปแล้วหนึ่งล้านล้าน โควิด ทำลายและสร้างความยากจนให้คนจนเป็นวิกฤติซึ่งรุนแรงมาก
วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 คนรวยคือคนที่เสียหาย รัฐดูแลทุกอย่าง ฟื้นฟูหนี้ ฟื้นฟูแบงก์ ฟื้นฟูทุกอย่าง ใช้เงินเยอะมาก เพื่อคนรวย เพราะหนี้เสียหายเกือบประมาณ 50% ของระบบสินเชื่อของไทย มีความพยายาม save แบงก์ save ทุกอย่าง คนรวยก็กลับฟื้นมาได้ พอถึงเวลาคนจน ถามว่าหนี้ 3 ล้านล้านที่เพิ่มขึ้นมา รัฐบาลจะช่วยอะไรได้บ้าง ยังไม่มีคำตอบ จะพักหนี้ พักหนี้แล้วจะทำอะไรต่อ แล้วเงินต้นอยู่ที่ไหน หนี้ของคนจนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะถูกพักได้ เป็นหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยสูงมากๆ ในที่สุดถูกยึดทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ บ้าน ที่ดิน ที่นา รัฐจะเข้าไปดูแลอย่างไรกับธุรกิจสีเทาพวกนี้ ซึ่งสร้าง informal sector ที่ยังไม่รู้จักจบ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น
รัฐบาลใหม่‘แจกเงินดิจิทัลวอลเลต’ ต้องมีกลยุทธ์
การทำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต ใช้งบฯกว่า 5.6 แสนล้านบาท เพื่อแจกให้กับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป 50 ล้านคน ถ้าเอาไปใส่ในกองทุนหมู่บ้านจะได้เงินหมู่บ้านละ 6 ล้านบาท จากเดิมมี 1 ล้านบาท ครอบคลุมกว่า 7 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งเข้าถึงคนจนอย่างแท้จริง มองว่าจะช่วยเศรษฐกิจหมู่บ้านได้มาก และหากทำทรานแซกชั่นด้วยบล็อกเชนดี ๆ มีการซื้อขายกันระหว่างหมู่บ้านและตำบล จากผลผลิตของแต่ละคนที่มีอยู่ ซึ่งไอเดียดีอยู่แล้วที่จะให้ใช้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร
แต่หัวใจสำคัญคือว่า ถ้าแจกเงินมันหมดไป แต่ถ้าให้ยืม คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ๆ ที่ระดับ 2-5% ต่อปี รัฐบาลเองก็มีเงินใช้จ่ายคืน และการใช้งบประมาณก็จะน้อยมากผมว่าคิดง่าย ๆ นอกกรอบอีกนิดหนึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่ามั้ย ทุกอย่างการซื้อขาย วิธีการใช้เงิน อยู่ในบล็อกเชนทั้งหมด และเงินไม่หมด เพราะจะถูกหมุนเวียนในระบบของกองทุนหมู่บ้านต่อไป ไม่ให้ออกนอกระบบ แต่พอเอาเงินไปแจก สุดท้ายเงินก็ย้ายไปอยู่ในมือคนรวยเหมือนเดิม
ส่วนการแข่งขันทางด้านภาคการเกษตร ถือว่ามีจุดจำกัด เพราะเติบโตเฉลี่ยไม่เกิน 3% ต่อปี ฉะนั้นอย่าหวังจากตรงนี้มากนัก เพราะไม่ได้สร้างให้ประเทศมีรายได้จากการส่งออกมากพออย่างที่คิดไว้ ต้องทำอย่างไรจะเพิ่มนวัตกรรมของการส่งผลไม้และอาหารสำเร็จรูปไปต่างประเทศ ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนให้เร็ว ซึ่งการไปรุกภาคการเกษตร อย่าไปใช้ชาตินิยมผิด ๆ ว่าไทยต้องเป็นเจ้าโลก ประเทศเราเล็กนิดเดียว ผลิตข้าวก็น้อยกว่าอินเดียเยอะ หรือปีไหนเวียดนามข้าวดี เราก็แพ้ คือเราเจริญกว่าเขาไปมาก มีรายได้ต่อหัวมากกว่าเวียดนามเท่าตัว ดังนั้น เราต้องเดินหน้าไปแข่งขันกับประเทศที่รวยกว่า เหมือนที่เกาหลีใต้แข่งกับญี่ปุ่น
สำหรับภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ตอนนี้ถือว่าถูกกระทบจากคนจีนที่กำลังมาทำธุรกิจในประเทศไทยเกือบทุกสินค้า ซึ่งไม่กังวลเรื่องนี้ แต่ปัญหาคือเอสเอ็มอีไทยจะปรับตัวสู้เขาได้อย่างไรเท่านั้นเอง คงต้องคิดหาวิธีต่อไป แต่เชื่อว่าเปลี่ยนแปลงได้สำหรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพราะเด็กรุ่นลูกหลานสามารถเข้ามาช่วยให้ปรับตัวไปได้ ส่วนโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางภาครัฐต้องดูแล เพราะว่าคือการสร้างผลิตภัณฑ์กึ่งสําเร็จรูป (Intermediate products) ให้แก่ระบบอุตสาหกรรมของไทย ตอนนี้โรงงานรถยนต์มีเป็นหมื่น ๆ โรงงาน และมีเอสเอ็มอีหลายหมื่นบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเขาจะอยู่รอดได้คือต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์อีวี มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการซ่อมรถยนต์
ส่วนภาคการค้าและอุตสาหกรรม นโยบายการค้าเสรีเริ่มไม่ช่วยการค้าระหว่างประเทศแล้ว และการขาดสมรรถนะการแข่งขันกับประเทศคู้ค้าในเอเชียก็สำคัญมาก ๆ ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งเติบโตเร็วกว่าไทย ฉะนั้น ถ้าเป็นแบบนี้อีก 20 ปี ประเทศเหล่านี้จะแซงหน้าไทย โดยเฉพาะเวียดนามน่าจะมาเร็วกว่านั้น
ถ้าจะผลักดันให้ GDP ไทยเติบโตได้ 5% การคิดซ้ำเดิมอยู่ตลอดไม่ได้ โดยสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาใหม่คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แม้เกิดได้แต่ช้ามาก เพราะความไม่พร้อมของเราเอง และไทยก็มีข้อเรียกร้อง (Requirement) ที่จะให้เขาทำ Hi-Tech Industrial แต่ไม่มีวิศวกร โรโบติก ทรัพยากรมนุษย์ ศูนย์กลาง R&D มีเพียงแต่ที่ดินและสาธารณูปโภคเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเข้าใจสิ่งที่เราขาดและซ่อมแซมได้ EEC จะเกิดขึ้นมาได้แน่
ส่วนระบบภาษีและกฎระเบียบยังไม่เอื้ออำนวย ที่บอกว่าอยากจะผลักดันต่างชาติเข้ามาลงทุนและเข้ามาอาศัยทำงาน แต่ต้องยอมรับว่าภาษีบุคคลธรรมดายังแพงกว่าสิงคโปร์และฮ่องกงเท่าตัว จ่ายอยู่ 35% ทำให้คนเหล่านี้ไปอยู่ที่สิงคโปร์ไม่มาอยู่อีอีซี เราคือกรรมกรเหมือนเดิม รับจ้างผลิต แต่เราไม่ได้เป็นผู้นำในการตลาด ในการสร้างสำนักงานใหญ่หรือ headquarters หรือการค้าระหว่างประเทศในอาเซียน จากระบบภาษีไม่จูงใจ
ด้านภาคบริการสำคัญที่สุด เพราะคิดเป็นสัดส่วน 60% ของจีดีพี รัฐต้องสนับสนุนระบบการท่องเที่ยวที่สะดวกและปลอดภัยตลอดการเดินทาง ส่วนเรื่องของคอร์รัปชั่นในระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำโดยผู้มีอิทธิพลจะต้องกวาดล้างให้หมดไป เชื่อว่าการเมืองพัฒนาการจนใกล้จะจบแล้ว และโอกาสประเทศไทยใกล้จะมาถึงแล้ว อดทนอีก 4 ปี แน่นอนว่าคราวนี้การฟอร์มรัฐบาลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ ‘ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล’ รวมตัวกัน จะมีการแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัวตลอดเวลา
อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ’เตือนรัฐบาลอย่าทำนโยบายแบบ‘เหวี่ยงแห
นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศนั้น ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปฏิรูปภาครัฐ รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ และต้องรับฟังคนที่เป็นผู้ใช้บริการให้มากขึ้น แต่ในการพัฒนาผลิตภาพของประเทศนั้น คงไม่ได้อยู่ที่ภาคภาครัฐอย่างเดียว ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพในภาพรวม อย่างในภาคเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากฝากชีวิตไว้ เช่น ภาคเกษตร ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องการพัฒนาผลิตภาพนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เป็นเรื่องที่ต้องทำแบบมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้ด้วยการวิธีการทำ Demand management policy (นโยบายการจัดการด้านอุปสงค์) แบบเหวี่ยงแห การดำเนินนโยบายต่างๆจะต้องควบคู่กับการเพิ่มผลิตภาพ ไม่ทำลายภูมิคุ้มกันด้านการเงินการคลังของประเทศ และวินัยการเงินของประชาชน ดังนั้น การทำอะไรต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และจัดแรงจูงใจที่เหมาะสม เช่น การทำคลินิกแก้หนี้จะต้องมีแรงจูงใจ ไม่นำไปสู่การก่อหนี้ใหม่ มีทางออกให้ได้ โดยต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ มีรายได้เพิ่ม
ธปท.’แนะรัฐบาล‘พักหนี้ฯ-แจกเงินดิจิทัล’เฉพาะกลุ่ม-ย้ำไม่เปลี่ยนนโยบายการเงิน
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลตนั้น เป็น สิ่งที่ ธปท. เป็นกังวลและได้พูดคุยกับนายกฯระดับหนึ่ง ภาพรวมเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2566 ออกมาต่ำกว่าคาดไว้ และดูที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่าภาคการบริโภคมีการฟื้นตัวและเติบโตได้ค่อนข้างดี ทั้งไตรมาส 1/2566 และไตรมาส 2/2566 ดังนั้น ตัวที่ขาดจริงๆ จึงไม่ใช่เรื่องการบริโภค แต่เป็นหมวดอื่น โดยเฉพาะตัวที่บ้านเราสิ่งที่ขาดมานาน คือ การลงทุน และเมื่อพิจารณาภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเปรียบเทียบระหว่างการกระตุ้นการบริโภคกับการกระตุ้นภาคอื่นๆ โดยเฉพาะการลงทุน จะเห็นว่าการกระตุ้นตัวอื่นน่าจะสำคัญกว่าการกระตุ้นการบริโภค ดังนั้รการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ทำในรูปแบบ targeting (พุ่งเป้า) หรือทำเฉพาะกลุ่ม น่าจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก และไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเงิน 1 หมื่นบาท
“การทำนโยบายต่างๆ ต้องฉายภาพระยะปานกลางให้ชัดว่า ถ้าทำมาตรการอย่างนี้ๆ ภาพรวมของรายจ่าย ภาพรวมของหนี้ การขาดดุลอะไรต่างๆจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าในเรื่องวินัยการคลังนั้น รัฐบาลและนายกฯมีความห่วงใย และจะมีมาตรการต่างๆที่จะทำอย่างนี้ ถ้าทำไปแล้วจะมีการบริหารให้ภาพรวมทางการคลังยังอยู่ในกรอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้ต่องบประมาณ หนี้ต่อ GDP ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นโยบาย‘พักหนี้ฯ’ไม่ควรทำเป็นวงกว้าง
การพักหนี้ฯควรเป็นหนึ่งในนโยบาย ที่ธปท.เห็นว่าการพักหนี้ฯในวงกว้างไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม เนื่องจากการพักหนี้ ต้องมีนำมาใช้ใน่วงที่เหมาะสม และเป็นเรื่องชั่วคราว หากดำเนินการติดต่อยาวนาน จะส่งผลให้เกิดความเคยชิน ทำให้เสียวินัยการเงินการคลังได้ ซึ่งถ้าผ่านตรงนี้ไปแล้วลูกหนี้จะฟื้น เช่น ช่วงโควิดที่ทุกอย่างถูกล็อกดาวน์ก็อาจจะเหมาะ แล้วทำในวงกว้าง เพราะทุกคนถูกกระทบ แต่หลังจากทำแบบนั้นธปท.ได้ทยอยถอยเพื่อให้เกิดการปรับตัวอย่างช้าๆ และเริ่มแก้หนี้ให้ตรงกลุ่มตรงกับปัญหามากยิ่งขึ้น เพื่อ ให้เกิดความยั่งยืน
การพักหนี้ฯ อาจจะเหมาะกับคนที่มีศักยภาพ แต่เจออะไรชั่วคราวที่ทำให้มีปัญหา เมื่อถ้าพักไปแล้วสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ แต่ไม่ควรทำโดยปริยาย ทำในวงกว้าง มันเป็นอะไรที่ไม่เหมาะ เพราะมีผลข้างเคียงเยอะ ถ้าเราดูตัวอย่างหนี้เกษตรกร มีบางกลุ่มที่มีศักยภาพ ก็ควรหาวิธีให้เขาปิดจบหนี้ได้ หรือมีแรงจูงใจให้เขาชำระต่อ ส่วนบางกลุ่ม ซึ่งมีไม่น้อยที่เป็นหนี้เรื้อรัง ดูแล้วปิดจบยาก คือ อายุเยอะแล้วก็ยังปิดไม่ได้ กลุ่มนี้ถ้าพัก ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเขา เพราะปิดจบไม่ได้
ธปท.จึงออกมาตรการปล่อยมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการดูแลกลุ่มหนี้เรื้อรัง โดยมาตรการลักษณะนี้จะทำให้คนปิดจบหนี้ได้ และการพักหนี้ฯเราก็เห็นประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วว่า 14 ครั้งในรอบ 8 ผลไม่ชัด และไม่ค่อยได้ผลดี โดย 70% ที่พักหนี้ มีหนี้มากขึ้นกว่าเดิม คนที่เข้าโครงการพักหนี้ฯ มีโอกาสเป็น NPL สูงขึ้น จึงเห็นได้ว่าผลข้างเคียงค่อนข้างมากตามด้วย