บทความหัวข้อ “เศรษฐา”ผ่าตัดใหญ่ตลาดหลักทรัพย์ ในคอลัมน์ชุมชนคนหุ้น ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360 องศา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา สร้างความไม่พอใจให้นายภากร ปิตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างรุนแรง
ความไม่พอใจระเบิดออก โดยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ติดต่อขอให้ยกบทความทิ้ง ติดต่อขอแก้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่นายภากร โทรศัพท์ชี้แจงข้อเท็จจริงในบางข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนด้วยตัวเอง
แม้ข้อมูลในบทความจะได้รับการแก้ไขตามที่มีการชี้แจงแล้ว แต่นายภากร ยังไม่พอใจ สั่งให้เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ออกคำชี้แจงตอบโต้บทความอีกครั้ง
ระบุว่า บทความพาดพิงการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งแม้ทำความเข้าใจกับผู้เขียนบทความและบรรณาธิการของสื่อ จนผู้เขียนบทความได้ยินยอมปรับแก้ไขแล้ว แต่คงมีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง
การกล่าวลอยๆ อ้างว่า คงมีข้อมูลคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง โดยไม่ระบุข้อความที่คลาดเคลื่อนนั้น เป็นเพียงยุทธวิธี "ตีกิน" สร้างความคลุมเครือ เป็นการกระทำที่ไม่ใช่สุภาพบุรุษ และจงใจทำให้สาธารณชนรู้สึกว่า ผู้เขียนคอลัมน์เป็นสื่อที่ไม่มีจริยธรรมจรรยาบรรณ พยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง
ต้องกราบขอความกรุณานายภากร แล้วว่า บทความเรื่อง “เศรษฐา” ผ่าตัดใหญ่ตลาดหุ้น ที่คงมีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงนั้น โปรดระบุได้ไหมว่า คลาดเคลื่อนตรงจุดไหน ข้อความใด จะได้แก้ไขทันที
คำชี้แจงของตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 4 ข้อ โดยสรุปเป็นการอวดอ้างสรรพคุณผลการทำงาน ระบุว่า โครงสร้างองค์กรและการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เทียบเคียงได้กับตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในต่างประเทศ
ส่วนการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะแสวงหาความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับองค์กรชั้นนำในต่างประเทศ ส่งเสริมการเรียนรู้พัฒนาการใหม่ๆ
และการเดินทางเป็นไปตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีการเดินทางในระดับเฟิร์สคลาส และมีการบริหารใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม
สำหรับบทความที่กล่าวหาตลาดหลักทรัพย์ฯว่า มีความหละหลวมบกพร่องอย่างร้ายแรงในกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK นั้น ตลาดหลักทรัพย์ชี้แจงว่า
เนื่องจากหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ติดตามดูแลบริษัทจดทะเบียนให้เปิดเผยข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญ จึงมิได้อยู่ต้นทางที่จะได้รับทราบข้อมูลที่เปิดเผยโดยบริษัทจดทะเบียน
บทความที่ถูกโต้แย้งมี 2 ประเด็นใหญ่คือ การตีแผ่การใช้จ่ายการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ การจัดไวน์เลี้ยงในงานประชุมกรรมการตลาดหลักทรัพย์ การตั้งคำถามถึงเงินโบนัสพนักงาน และเงินเดือนรายได้ของกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์
และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะความบกพร่อง หละหลวม และล้มเหลวการกำกับดูแลแก้ปัญหาหุ้น STARK ซึ่งสร้างความเสียหายวงกว้าง จนนำไปสู้แผนการผ่าตัดใหญ่ตลาดหลักทรัพย์ของรัฐบาลชุดใหม่
ไม่รู้ว่าอารมณ์ที่ขุ่นมัวของนายภากร ถูกจุดชนวนจากการตีแผ่งบการใช้จ่ายของตลาดหลักทรัพย์ การเปิดตัวเลขรายได้มหาศาลของกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละปี
หรือโกรธเพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานที่ผิดพลาด บกพร่อง หละหลวมในการกำกับดูและ STARK จนรัฐบาลนายเศรษฐา มีเป้าหมายที่จะรื้อโครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์
การอวดอ้างว่าการทำงานของตลาดหลักทรัพย์เทียบเคียงได้กับตลาดหุ้นชั้นนำในต่างประเทศ เป็นการประเมินตัวเองเพียงฝ่ายเดียว
การหยิบยกปัญหา STARK โดยระบุว่า หน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์คือ ติดตามดูแลบริษัทจดทะเบียนให้เปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ จึงไม่ได้อยู่ต้นทางที่จะได้รับข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียน เป็นข้อแก้ตัวที่น่าตลก ฟังไม่ขึ้น และไม่น่าจะถูกเขียนมาในแถลงการณ์ชี้แจงให้อายชาวประชา
เพราะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์ไม่มีความตระหนักในบทบาทหน้าที่ตัวเอง และพยายามปัดความรับผิดชอบ
ทั้งที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นหน่วยงานต้นทางในการตรวจสอบบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน เป็นหน่วยงานแรกที่ต้องกลั่นกรองไม่ให้หุ้นเน่าหลุดเข้าตลาดหุ้น
ผลงานการแก้ปัญหา STARK จบลงด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กระแสการโจมตี คำประณามที่พุ่งใส่ตลาดหลักทรัพย์
และไม่ได้ยินใครที่ไหนชื่นชมการทำงานของตลาดหลักทรัพย์
คำชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ ทิ้งท้ายไว้ด้วยคำยืนยันว่า การทำงานของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักบรรษัทภิบาล มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
คนแวดวงตลาดหุ้นคงมีคำถามตามมาทันที ตลาดหลักทรัพย์มีบรรษัทภิบาล มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้จริงหรือ
ถ้าโปร่งใสและตรวจสอบได้ ขอตรวจสอบการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศของกรรมการตลาดหลักทรัพย์ในยุคนายภากร ได้ไหม ไปกันกี่ครั้ง แต่ละครั้งใช้งบเท่าไหร่ พักโรงแรมอะไร
ขอตรวจสอบได้ไหม รายได้นายภากร ปีละเท่าไหร่ พนักงานตลาดหลักทรัพย์รับโบนัสปีละกี่เดือน
เพราะสังคมจะได้ประเมินว่า นายภากร ทำงานคุ้มเงินเดือนหรือไม่
เบื้องหลังการออกมาโวยวาย ลุกขึ้นอาละวาด ฟาดงวงฟาดงาของนายภากร ที่จริงแล้วอาจไม่ใช่ประเด็นการใช้จ่ายของตลาดหลักทรัพย์
แต่อยู่ที่การรื้อโครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งมองเห็นความล้มเหลวของตลาดหลักทรัพย์จากการแก้ปัญหา STARK
การอวดอ้างการทำงานของตลาดหลักทรัพย์เทียบเคียงตลาดหุ้นชั้นนำทั่วโลก การแก้ต่างความล้มเหลวในการกำดับดูแล STRAK อาจเป็นการดิ้นรนเฮือกสุดท้าย เพื่อสร้างกำแพง ป้องกันตัวเองจากการเปลี่ยนแปลง
รายได้ของนายภากร น่าจะตกประมาณปีละ 25 ล้านบาท บวกลบคงไม่กี่ล้านบาท นายภากร อยู่มาแล้ว 5 ปี คงได้เงินจากตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วประมาณ 145 ล้านบาท ถ้าประคองตัวเองให้รอดจบครบวัยเกษียณในปีหน้า อาจได้เงินอีกสัก 20 ล้านบาท และใช้ชีวิตสบายไปตลอดชาติ
กระแสการเปลี่ยนแปลงในตลาดหลักทรัพย์กำลังรุกคืบเข้ามา และไม่มีใครต้านทานได้ รวมทั้งคนในตลาดหลักทรัพย์ที่ชินกับการอยู่อย่างสุขสบาย จนไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงใดๆ
นโยบายรื้อโครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของรัฐบาลชุดใหม่จะปิดฉากตลาดหุ้นยุคนายภากร ซึ่งเป็นยุคที่ตลาดหลักทรัพย์เงียบมาก
ช่วงเวลากว่า 5 ปีของนายภากร ตลาดหลักทรัพย์แทบไม่มีพัฒนาการในเชิงสร้างสรรค์ใด
คนแวดวงตลาดหุ้นรู้สึกว่า สมควรแก่เวลาที่นายภากร จะต้องลุกจากเก้าอี้เสียทีแล้ว