ปัจจัย 3 ประการซึ่งทำให้เรามองว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้น ในระยะเวลาอีก 6 เดือนถัดจากนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ดี ใน Q4 ปีนี้ หลังจากรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเริ่มเข้ามาบริหารประเทศ
ปัจจัยที่ 1 เงินกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จากรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย
- นโยบายเพิ่มรายได้ภาคแรงงานและการจ้างงาน:
• ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2570
• เงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี พ.ศ. 2570 รวมทั้งข้าราชการด้วย
- ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท/ เดือน
- กระตุ้นเศรษฐกิจใหญ่เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ทุกคน ใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตร
ปัจจัยที่ 2 อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยน่าจะไม่สูงขึ้น
การแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทต่อคนของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย เรามองว่าเป็นเหมือนการแจกเงินแบบเฮลิคอปเตอร์ สไตล์ เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินแบบสุดขั้ว ตรงจุดนี้ เรามองว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย น่าจะมีความตั้งใจให้นโยบายการเงินเป็นแนวที่เน้นอยู่ในโหมดผ่อนคลายแบบมากที่สุด
ตัวอย่างที่ได้เห็นเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นบราซิลในขณะนี้รัฐบาลใหม่ของบราซิลที่เคยบริหารประเทศแบบประสบความสำเร็จมาในอดีตแล้วกลับมาได้รับการเลือกตั้งเพื่อมาบริหารประเทศอีกครั้ง คือ ลูลา เดอ ซิลวา ซึ่งชนะการเลือกตั้งบราซิลในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ส่งสัญญาณให้แบงก์ชาติบราซิลลดดอกเบี้ย หลังจากที่แบงก์ชาติบราซิลขึ้นดอกเบี้ยมาโดยตลอด ซึ่งแบงก์ชาติบราซิลก็ลดดอกเบี้ยลง 50 bp ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา เรามองว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้พรรคเพื่อไทยก็น่าจะมีโอกาสที่จะทำคล้ายกับรัฐบาลบราซิลเช่นกัน
ปัจจัยที่ 3 เรามองว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า มาจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่
1. อัตราดอกเบี้ยสหรัฐสูงแบบยาวนานขึ้น (US Higher for Longer) ซึ่งเศรษฐกิจ สหรัฐน่าจะมาถึงจุดที่เชื่อได้ค่อนข้างแน่ว่ากำลังจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อยในช่วงกลางปี 2024 เนื่องจากทั้งอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่จะลดลงด้วยความยากลำบากมากขึ้น หลังจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐมาแตะในระดับ 3% กว่าๆ รวมถึงมีแนวโน้มที่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะทอดยาวไปอีกจนถึงกลางปีหน้า กว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐจะลงไปแตะจุดต่ำสุดของรอบนี้ ซึ่งมีโอกาสทั้งชะลอตัวแบบ Soft Landing หรือ แบบ Recession ก็เป็นได้
นั่นคือ กล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐน่าจะยังอยู่ในขาขึ้นที่ยาวนานขึ้นกว่าเดิม โดยที่เศรษฐกิจสหรัฐมีความเป็นไปได้ที่จะชะลอลงช้ากว่าคาดไว้ก่อนหน้า
โดยผลลัพธ์จากประเด็นดังกล่าว เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อายุ 10 ปี จะอยู่ในระดับสูงจนถึง Q1-2 ของปี 2024 ซึ่งน่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจนถึงกลางปีหน้า
2. การกระตุ้นผ่านนโยบายการคลังของจีน โดยเศรษฐกิจจีนในขณะนี้ น่าจะเผชิญกับปัญหาแบบระยะยาว มากกว่าระยะสั้น สาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจจีนมาจากสาเหตุหลัก 2 ประการ ได้แก่ ฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ และ ความไม่สมดุลของประชากรจีนทั้งในมิติปริมาณและคุณภาพ
โดย ณ เวลานี้ ขอบเขตของปัญหานี้อยู่ในระดับที่พอจะจัดการได้ โดยในขณะที่จีดีพีของจีนมีขนาดราว $19 ล้านล้าน ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนมีขนาด $4.5 ล้านล้าน หรือคิดเป็นประมาณ 21% ของจีดีพีจีน ส่วน Shadow Bank มีขนาด $3 ล้านล้าน หรือคิดเป็นประมาณ 15% ของจีดีพีจีน โดยสมมติฐานในการวิเคราะห์ คือ ปัญหาอสังหาริมทรัพย์จีนในตอนนี้น่าจะยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการเงินแบบเป็นทางการ ทว่าอยู่ในส่วน Shadow Bank
ดังนั้น การจะกล่าวว่าวิกฤตหรือปัญหาอสังหาฯ จีนกำลังจะกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจหรือวิกฤตการเงินในทันที น่าจะยังไม่สามารถกล่าวเช่นนั้นได้ แต่ปัญหายังน่าจะกระจุกตัวในส่วน 15-20% ของจีดีพีจีน ซึ่งหากโฟกัสให้ลึกลงไปปัญหา Shadow Banking ในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน มีขนาดราว $1.2 ล้านล้าน เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ใช้แหล่งเงินจาก Shadow Banking ราว 26% ของทั้งหมด
ทั้งนี้ ด้านความเสี่ยงในระยะยาวและทางแก้ในระยะสั้นของจีนนั้น พบว่า ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ของจีนได้กลายเป็นจุดกำเนิดของวิกฤตความเชื่อมั่นต่อประชาชนชาวจีนที่มีเงินออมส่วนหลักอยู่ในรูปแบบของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ชาวจีนไม่กล้าหรือมั่นใจเพียงพอในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ออกมาแบบซบเซาจนน่ากังวล ตรงนี้ ทางการจีนยอมรับว่ามีปัญหาเศรษฐกิจจีนจริงๆ ในตอนนี้
โดยหากล้อมกรอบปัญหาในระยะสั้น เรามองว่าฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดหากเกิด Panic ในระบบ Shadow Banking ทางแก้ในระยะสั้น คือการออกมาตรการการการันตีการจ่ายคืนดอกเบี้ยและเงินต้นของบรรดา Shadow Bank ให้กับเจ้าหนี้นักลงทุน Offshore ซึ่งเคยเกิดขึ้นในสมัย Evergrande เมื่อราว 2 ปีก่อน
3. คาดว่า รัฐบาลของไทยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มตัว และ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะไม่ขึ้นในปีนี้
เรามองว่าสถานการณ์การเมืองนิ่งจนได้รัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้วและอัตราดอกเบี้ยไทยน่าจะสู่จุดสูงสุดแล้ว ซึ่งนั่นจะถึงจังหวะที่ฟันด์โฟลว์น่าจะกลับมาตาม EM ประเทศหลักอื่นๆ ซึ่งเรามองว่าน่าจะเข้ามาสู่บ้านเราพร้อมๆ กับประเทศ EM รายอื่นในรอบนี้ เนื่องจากความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศของเราถือว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงนี้ แต่คาดฟันด์โฟลว์จะเข้ามาในบ้านเรามากที่สุดในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า หลังตัวเลขเศรษฐกิจไทยเริ่มออกมาให้เห็นว่าดีขึ้นจริงหลังรัฐบาลใหม่เริ่มทำงาน
นอกจากนี้เรามองว่าแบงก์ชาติบ้านเราน่าจะมีโอกาสคงดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ เราจึงประเมิน Neutral ต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์
ท้ายสุด สำหรับเซกเตอร์ตลาดหุ้นไทยที่น่าสนใจในช่วงปลายปีนี้ เรามองว่า ได้แก่ กลุ่มส่งออก การแพทย์ ICT ค้าปลีก และท่องเที่ยว
บทความจาก ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุน
ที่มา: บล.ลิเบอเรเตอร์