ว่างเว้นไปแค่ 2 เดือนสัญญาณ “หุ้นกู้เน่า” ก็กลับมาอีก ระลอก ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนจนไม่กล้าโยกย้ายเงินจากบัญชีเงินฝาก ตอกย้ำความเสี่ยงตลาดหุ้นยังมีหลายด้าน โดยเฉพาะการปกปิดข้อมูล หลัง "สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น " แผลงฤทธิ์ทำเจ็บหนัก ล่าสุดหลายฝ่ายจับตา หุ้นกู้ล็อตอื่นๆของอีกหลายบริษัทจะรวนเหมือนก่อนหน้าหรือไม่? ขณะที่บรรดากูรูแนะ ช่วงนี้เน้นหุ้นกู้เรทติ้งสูง เลี่ยงจำพวกดอกเบี้ยโตล่อใจ พร้อมจี้หน่วยงานสแกนของเสียทั้งที่ขายไปแล้ว และยังไม่ได้ขาย
วิกฤตของหุ้นกู้ที่ไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ในวันครบกำหนดไถ่ถอนของหุ้นกู้ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ส่งผลให้กลายเป็นคลื่นอีกระลอกที่โถมเข้ามากระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน หลังจาก บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ได้สร้างผลกระทบให้กับตลาดหุ้นกู้ไปแล้วเมื่อช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการช่วยตอกย้ำนักลงทุนได้ดีว่า การลงทุนในหุ้นกู้นั้นมีความเสี่ยงเช่นกัน หากไม่พิจารณาหรือวิเคราะห์สภาพบริษัท และความสามารถในการแข่งขันของบริษัทที่เข้ามาขอระดมทุนให้ดี
ย้อนกลับไปช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หุ้น STARK เริ่มออกมาเปิดเผยถึงปัญหาของบริษัทและท้ายที่สุดนำไปสู่การทุจริตขนาดใหญ่จนสร้างผลกระทบให้กับผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย รวมไปถึงบรรดาเจ้าหนี้ในภาคสถาบันการเงิน
ขายก็ลำบาก-ต้นทุนก็พุ่ง!
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ STARK ยังเริ่มส่งผลให้ตลาดเกิดความหวาดระแวงไม่เชื่อมั่นในข้อมูล ตัวเลขงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยออกมา จนเป็นผลให้ต้นทุนต่างๆสำหรับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้
ในช่วงเวลานั้น หลายฝ่ายมองว่า นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เมื่อนักวิเคราะห์ หรือบริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง ผู้จัดการกองทุน ไม่สามารถเชื่อถือข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยออกมาได้ ไม่เพียงแต่การระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นกู้เท่านั้น เหตุการณ์ของ STARK ยังส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนอื่น ๆ ยากลำบากต่อการเข้าถึงแหล่งทุนอื่นๆ รวมไปถึงการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์)
มีรายงานออกมาตั้งแต่ช่วงเดือนดังกล่าวว่า การออกหุ้นกู้เพิ่มระดมทุนขยายกิจการของบริษัทจดทะเบียนเริ่มมีปัญหา นั่นเพราะทุกบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจ่ายต้นทุนดอกเบี้ยแพงขึ้น นั่นเพราะ ดอกเบี้ยหุ้นกู้ในทุกเรตติ้งของบริษัทจดทะเบียน ต้องขยับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 0.10-0.25% โดยเฉพาะ "หุ้นกู้ไฮยิลด์" หรือ หุ้นกู้ประเภทเครดิตเรตติ้งต่ำ ความเสี่ยงสูง และผลตอบแทนสูง ขณะนี้ได้รับผลกระทบเต็มๆ เห็นได้จากสัญญาณขายหุ้นกู้ไม่หมด กำลังซื้อถดถอย
"เรื่องที่เกิดขึ้นกับ STARK มันมีผลเชิงจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นของหุ้นในตลาดทั้งหมด เรามองว่าต่อจากนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่เกิดขึ้นเพียงการเสนอขายหุ้นกู้ที่ยากขึ้น แต่ต้นทุนค่าบริการอื่นๆจะสูงขึ้น รวมถึงการขอสินเชื่อแบงก์ และมันจะลามไปถึงการระดมทุนขายหุ้นไอพีโอด้วย” แหล่งข่าวให้ความเห็น
ภาพรวมพบหุ้นกู้เน่า 1.9 หมื่นล.
กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน สัญญาณหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่าหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment) จนถึงปัจจุบันรวมกับ JKN มีอยู่ทั้งหมด 7 บริษัท จำนวน 23 รุ่น มูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านบาท ได้แก่
1.บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) จำนวน 5 รุ่น มีมูลค่าหนี้คงค้าง 9.19 พันล้านบาท
2.บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) จำนวน 7 รุ่น มีมูลค่าหนี้คงค้าง 2.33 พันล้านบาท
3.บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) จำนวน 7 รุ่น มีมูลค่าหนี้คงค้าง 2.57 พันล้านบาท
4.บมจ.เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ (APEX) จำนวน 1 รุ่น มีมูลค่าหนี้ 765 ล้านบาท
5.บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) จำนวน 1 รุ่น มีมูลค่าหนี้3 พันล้านบาท
6.บมจ.เดซติเนชั่น โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท (DR) จำนวน 1 รุ่น มีมูลค่าหนี้ 557 ล้านบาท
และ 7 .บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) จำนวน 1 รุ่น มีมูลค่าหนี้ 609 ล้านบาท
ปาดเหงื่อ Rollover ยังลำบาก
สิ่งที่เกิดขึ้นช่วยสะท้อนชัดว่า ได้เกิดผลกระทบในวงกว้างกับตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นกู้กลุ่ม High Yield (อันดับเครดิตต่ำกว่า BBB-) และหุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต (Non Rating) ซึ่งขายได้น้อยกว่าที่จดทะเบียนไว้ มีผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการจะ Rollover ที่จะครบกำหนด และส่งกระทบกับสภาพคล่องของบริษัท หากไม่มีแหล่งเงินทุนสำรอง จึงหนีไม่พ้นการยอมเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ลงทุน แลกกับการแบกรับต้นทุนเพิ่ม
โดยในภาพรวมยอดคงค้างหนี้ กลุ่ม High Yield และ Non Rating มีมูลค่าโดยรวม 2.2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5% เทียบกับมูลค่าหุ้นกู้ทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้กำลังประสบปัญหาการขาย เนื่องจากนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในข้อมูล แม้จะมีอัตราผลตอบแทนรูปแบบดอกเบี้ยที่สูง แต่ความเสี่ยงที่สูงท่ามกลางช่วงเวลานี้ก็ทำให้นักลงทุน ยอมหลีกเลี่ยงมากกว่า
“หุ้นกู้ที่เรทติ้งสูง บริษัทมีศักยภาพ โปร่งใสยังได้รับการตอบรับจากนักลงทุน นั่นเพราะเขาเชื่อมั่นในศักยภาพ และธุรกิจของบริษัท ขณะที่หุ้นกู้เรทติ้งต่ำ หรือไม่มีเรทติ้ง จุดนี้ถือว่าเป็นปัญหา เพราะเริ่มเห็นภาพขายไม่หมดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง บางทีหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก อาจทำให้ตลาดหุ้นกู้ High Yield และ Non Rating อาจไม่ใช่แหล่งระดมทุนที่ดี หรืออาจจะลามไปถึงการขอสินเชื่อแบงก์ ที่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบจากคนกลางมาใช้พิจารณา หรือมีค้ำประกัน ผู้ที่เป็นผู้ควบคุมควรใส่ใจเรื่องนี้ และเข้มงวดต่อหุ้นกู้ที่จำหน่ายไปแล้ว และยังไม่จำหน่าย อย่าปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้ลามไปเรื่อยๆแล้วบอกว่า ปกติ”
BBB ขึ้นเพิ่มความอุ่นใจ
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ตลาดหุ้นกู้ของไทยปีนี้สร้างความกังวลใจให้นักลงทุน เนื่องจากมีปัญหาสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้เริ่มจาก STARK, CHO, ALL, CGD และล่าสุด JKN ที่แจ้งว่าหุ้นกู้รุ่น JKN239A ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนวันนี้ มูลค่ารวม 609.98 ล้านบาท ซึ่งบริษัทสามารถชำระเงินต้นได้เพียง 156.6 ล้านบาท เหลือยอดค้างชำระ 443.4 ล้านบาท
ส่วนสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (THAIBMA) รายงานว่าในช่วงที่เหลือของปีมีหุ้นกู้ Non-Rated ที่จะครบกำหนดชำระหนี้มูลค่า 2.38 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น CGD, INET, TNITY, ALL, KCC, CHEWA, NVD, RICHY ถูกหลายฝ่ายเฝ้าต้องติดตามดูสถานการณ์ใกล้ชิด
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีคำแนะนำการลงทุนในหุ้นกู้ช่วงนี้ว่า ควรเน้นคัดสรรการลงทุนหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งระดับ BBB ขึ้นไป หรือเป็นระดับ Investment Grade เช่น TRUE253A, SIRI263A, CPALL266A
โดยฝ่ายวิจัยทำการคัดกรองหุ้นที่มีสถานะการเงินแข็งแกร่ง และมีระดับ Net Gearing (หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน) อยู่ในระดับต่ำ หรือเป็น Net Cash (มีเงินสดมากกว่าหนี้สินที่มีดอกเบี้ย) จะถือเป็นหุ้นที่มีเกราะป้องกันในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น AOT, CPN, PTT, PTTGC, SCC, AP, EA, CENTEL, AMATA, IVL, HMPRO, SCGP เป็นต้น
เงินฝากไม่กล้าขยับออก
แหล่งข่าวรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า การผิดชำระของหุ้นกู้ที่เกิดขึ้น กระทบกับภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน กำลังพยายามกระตุ้นให้นักลงทุนนำเงินออกมาจากเงินฝากในบัญชีธนาคาร มาสู่หุ้นกู้และกองทุนเพื่อช่วยขับเคลื่นเศรษฐกิจ และได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ปัญหาการผิดนัดชำระ หรือไม่สามารถชำระเงินคืนได้ของหุ้นกู้ ยิ่งกลับตอกย้ำให้ประชาชนและนักลงทุนไม่กล้าโยกย้ายเม็ดเงินออกมา
สถาบันเลือกลดความเสี่ยง
ส่วนการคัดสรรหุ้นกู้เพื่อลงทุนของกลุ่มสถาบันนั้นมีรายงานว่า ขณะนี้สถาบันหรือกองทุนส่วนใหญ่จะคัดสรรการลงทุนหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งระดับ BBB ขึ้นไป หรือเป็นระดับ Investment Grade เพื่อลดความเสี่ยงและยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนได้ ส่วนหุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้ง หรือเรทติ้งต่ำ แม้จะเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูง แต่ความเสี่ยงในการผิดนัดก็มีสูงเช่นกัน จึงทำให้หลายสถาบันเลือกที่จะเลี่ยงเข้าลงทุน
นอกจากเรทติ้งต้องดูงบการเงิน
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ผู้ลงทุนควรพิจารณาก่อนลงทุนในหุ้นกู้ ได้แก่ อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ โดยระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกู้ที่ผู้ออกหุ้นกู้มีอันดับความน่าเชื่อถือลดลง เพราะเป็นสัญญาณสะท้อนความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น พิจารณาประเภทหุ้นกู้
โดย เลือกหุ้นกู้ที่มีหลักประกัน หากรับความเสี่ยงได้น้อย และอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย คือ บรรษัทภิบาลของผู้ออกหุ้นกู้ ขณะเดียวกันผู้ลงทุนควรวิเคราะห์งบการเงิน ทั้งงบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสดของบริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นกู้ประกอบ รวมทั้งอ่านความเห็นของผู้สอบบัญชีประกอบการตัดสินใจว่า หากความเห็นคือ “ไม่มีเงื่อนไข” แสดงว่า บริษัทไม่ค่อยมีประเด็นให้น่ากังวล แต่หากความเห็นคือ “มีเงื่อนไข งบการเงินไม่ถูกต้อง” หรือ ไม่แสดงความเห็น” ถือว่าบริษัทดังกล่าวมีความเสี่ยง ยังไม่ควรเข้าไปลงทุน