ราคาหุ้น "ท่าอากาศยานไทย" ยังขาขึ้น รับแรงคาดหวังผลประกอบการพลิกฟื้นเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แถมได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากรัฐบาลใหม่ ในการรองรับเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวเพิ่ม โบรกฯประเมินฟื้นตัวต่อเนื่องปีนี้คาดกำไรหมื่นล้านบาท ส่วนปีหน้ากระโดดเพิ่ม แถมมีแผนลงทุนช่วยขยายศักยภาพไม่หยุด
ชั่วโมงนี้ต้องยอมรับว่าหุ้นของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ AOT มีความร้อนแรงมาก จากโอกาสในการพลิกฟื้นกำไรของบริษัท หลังจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเผชิญมรสุมใหญ่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เล่นงานแทบแย่
สิ่งที่ทำให้ AOT กลับมามีอนาคตที่สดใสหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ลดความรุนแรงลงจากช่วงแรก โดยเฉพาะอาการของผู้ติดเชื้อที่ไม่รุนแรงเนื่องจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้ทั่วโลกกลับมาเปิดประเทศอนุญาตให้ประชาชนและนักลงทุนท่องเที่ยวเดินทางได้อย่างเสรี สถานการณ์ดังกล่าวช่วยทำให้ผลประกอบการของ AOT กลับมาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเปิดประเทศของรัฐบาลจนทำให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาสู่เมืองไทยอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งนำไปสู่การแห่เข้ามาลงทุน เพื่อดักเก็งกำไรผลประกอบการที่ฟื้นตัวของบริษัทในปีนี้
โควิด-19 ทุบราคาหุ้นไม่มาก
อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมสำหรับหุ้นAOT นั่นคือในช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 แม้จะกดดันให้ตลาดหุ้นเคลื่อนในทิศทางลบมากกว่าบวก แต่สำหรับ AOT ที่ถูกมองว่าจะเป็นหุ้นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก กลับมาการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นที่ไม่รุนแรงมากนัก
โดยหลายต่อหลายคนให้เหตุผลในความแข็งแกร่งของราคาหุ้น AOT ที่ผ่านมาว่า เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจว่า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย นักท่องเที่ยวจะทยอยเดินทางมาประเทศไทย และทำให้ผลประกอบการ AOT เติบโตเหมือนเดิม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการถือครองอย่างเหนียวแน่นของนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างประเทศ ด้วยเพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของธุรกิจ จึงพร้อมที่จะรอให้ราคาหุ้นพลิกกลับมาฟื้นตัวมากกว่าตัดขายเพื่อโกยต้นทุนกลับคืนมา
นอกจากนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับราคาหุ้น AOT อีกประการ นั่นคือ ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ราคาหุ้น AOT เคยพุ่งทะยานสูงสุด เกือบทะลุ 100 บาท ก่อนทรุดลงในช่วงวิกฤตโควิด-19 และในรอบ 12 เดือน เคยลงไปต่ำสุดที่ 66 บาท สูงสุดที่ 76.50 บาท
นักท่องเที่ยวทะลักเพิ่ม
สำหรับ AOT ก่อนหน้านี้ เคยขาดทุนหนักหลายปีติดต่อ เริ่มจากปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 1.63 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2565 ขาดทุน 1.10 หมื่นล้านบาท แต่งวด 6 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 5.35 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 9.75 พันล้านบาท นำไปสู่แรงคาดหวังว่าค
ส่วนสถานการณ์ท่องเที่ยวมีแนวโน้มสดใส โดยยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย จากต้นปีจนสิ้นสุดวันที่ 20 สิงหาคม มีจำนวนกว่า 17 ล้านคน และคาดว่านักท่องเที่ยวที่จะเข้าประเทศไทยในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 25 ล้านคน
ขณะที่ ตัวเลขสถิติการบินท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ของ AOT ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (ต.ค. 2565-พ.ค. 2566) มีผู้โดยสารรวม 66.38 ล้านคน เพิ่มขึ้น 170.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 34.31 ล้านคน เพิ่มขึ้น 635.7% และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.06 ล้านคน เพิ่มขึ้น 61.3% โดยมีเที่ยวบิน 422,900 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 79% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 202,700 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 175.2% และเที่ยวบินภายในประเทศ 220,300 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 35.4%
นโยบายเพื่อไทยหนุน
โดยปัจจัยผลักดันเพื่มเติมต่อจากนี้ มาจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ด้วยนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อฟืนฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวคึกคัก และสร้างอานิสงส์กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ AOT เป็นผู้นำกลุ่มที่โดดเด่น ด้วยค่า P/E ในระดับสูงมาก 259 เท่า และผู้ลงทุนคาดหวังว่า ผลประกอบการที่เติบโต จะทำให้ค่าP/E ลดลง ดังนั้นราคาหุ้นในปัจจุบันการซื้อหุ้นราคานี้เหมือนซื้ออนาคต แม้ราคาหุ้นจะอยู่ในข่ายที่แพงก็ตาม
ด้านโครงสร้างผู้ถือหุ้น AOT ประกอบด้วยกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 70% ของทุนจดทะเบียน โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรก เกือบทั้งหมดเป็นนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเพื่อการลงทุนระยะยาว ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย มีจำนวน 78,988 ราย
เชื่อมั่นกำไรเติบโตกว่าคาดการณ์
ขณะที่ทิศทางธุรกิจ "นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT" คาดการณ์ผลประกอบการปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 65-ก.ย. 66) ว่าจำนวนผู้โดยสารทั้งปีจะสูงกว่าที่ AOT เคยประมาณการไว้ 25% หรือ 120 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าเดิมที่คาดว่าจำนวนผู้โดยสารทั้ง 6 ท่าอากาศยานของ AOT จะอยู่ที่ 96 ล้านคน ส่งผลให้รายได้และกำไรในปีนี้ก็จะเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ปัจจุบันการดำเนินงานได้เข้าสู่ช่วงไตรมาส 4 ของผลประกอบการ โดยพบว่า AOT มีผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรวม (ทั้งผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศ) เฉลี่ย 160,000-170,000 คนต่อวัน, ท่าอากาศยานดอนเมืองเฉลี่ยอยู่ที่ 70,000 คนต่อวัน และรวม 6 ท่าอากาศยานอยู่ที่ 300,000 คนต่อวัน แต่ยังไม่กลับไปเทียบเท่าปี 2562 ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ AOT มีผู้โดยสารรวม 6 ท่าอากาศยาน ประมาณ 450,000 คนต่อวัน อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าในปี 2567 จำนวนผู้โดยสารจะกลับไปเทียบเท่าปี 2562
รองรับนักท่องเที่ยงจีน-อินเดียเพิ่ม
สำหรับในการเข้าหารือร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมานั้น ทางนายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงเรื่องการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนกับอินเดีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวยอดนิยมของไทย จึงอยากให้ AOT และหน่วยงานด้านการบินเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวช่วงฤดูท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ที่จะมาถึงในปลายปีนี้ เพื่อส่งเสริมรายได้เข้าประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น (Quick win)
นอกจากนี้ นายเศรษฐาได้มอบหมายให้ AOT ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณาเพิ่มเวลาการบิน (Slot) ให้กับสายการบินจากจีนและอินเดียที่มีความประสงค์จะเพิ่มเที่ยวบินมายังไทยแต่ไม่มี Slot ที่จัดสรรให้ได้ ซึ่ง AOT จะเร่งหารือกับ กพท.เพื่อบริหารการเพิ่ม Slot ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางยอดนิยม คือเชียงใหม่ กับ ภูเก็ต ด้านผู้ประกอบการสายการบินทั้ง 8 ราย ที่ร่วมหารือกับนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ก็แสดงความพร้อมที่จะบริหารเครื่องบินให้สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้อย่างน้อย 20%
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 28 กันยายนนี้ AOT จะเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งล่าสุดจะมีเที่ยวบินจาก 3 สายการบินมาใช้บริการ คือ สายการบินเอมิเรตส์, ไทยเวียตเจ็ต และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ รวมประมาณ 12 เที่ยวบินต่อวัน เพื่อเป็นการทดลองแบบ Soft opening ก่อน จากนั้น AOT จะประเมินการให้บริการ และเปิดบริการเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2566
เดินหน้าลงทุนพัฒนาสนามบิน
ทั้งนี้ AOT มีแผนจะเสนอการดำเนินงานของ AOT ใน 3 เรื่องให้พิจารณา คือ 1.แผนการบริหารจัดการท่าอากาศยานในความดูแล เพื่อลดความแออัด เพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น รวมทั้งแผนการเพิ่ม Slot การบิน 2.แผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ซึ่งจะดำเนินการในปี 2566-2570 วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท
โดยแบ่งเป็นการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คือ การก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเปิดประกวดราคาได้ต้นปี 2567 มีพื้นที่ 60,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) สามารถรองรับผู้โดยสารได้อีก 15 ล้านคนต่อปี จากนั้นจะดำเนินการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิมด้านทิศตะวันตก (West Expansion) วงเงินประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท ต่อไป
สำหรับการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเฟส 3 วงเงิน 3.68 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2567 และเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคา โดยจะเปิดประกวดราคาแบบผู้รับงานรายเดียว รับผิดชอบทั้ง 5 กลุ่มงาน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารโครงการ ซึ่งการก่อสร้างจะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป
และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งเฟส 3 จะสามารถรองรับผู้โดยสารสูงสุดได้ที่ 50 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันรองรับที่ 30 ล้านคนต่อปี ขณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ต มีแผนก่อสร้างอาคารระหว่างประเทศหลังใหม่ เพิ่มการรองรับเป็น 18 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 12 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างปี 2568
สำหรับท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีแผนก่อสร้างอาคารระหว่างประเทศหลังใหม่ เพื่อรองรับที่ 18 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 9 ล้านคนต่อปี วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และท่าอากาศยานเชียงราย-หาดใหญ่ ที่มีแผนปรับปรุงบริเวณโถงพักคอยของผู้โดยสาร ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาวงเงินลงทุน
เตรียมรับโอนสนามบินเพิ่ม
นอกจากนี้ AOT ยังมีแผนการรับโอนท่าอากาศยานมาจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้เห็นชอบให้ AOT รับโอน 3 ท่าอากาศยาน คือ อุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ ดังนั้น AOT จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลชุดปัจจุบันก่อนว่าจะให้เดินหน้าเรื่องดังกล่าวต่อไปหรือไม่ ซึ่งจากการนำเสนอนายเศรษฐาเบื้องต้น ระบุว่าเห็นด้วยกับการที่ AOT จะรับโอนทั้ง 3 ท่าอากาศยานดังกล่าว
พร้อมกับ เห็นว่า AOT ควรรับโอนท่าอากาศยานจากกรมท่าอากาศยานเพิ่มเติมอีก แต่อย่าเลือกเฉพาะท่าอากาศยานที่มีกำไรเท่านั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาท่าอากาศยานสู่ระดับสากล ซึ่ง AOT ได้พิจารณาเบื้องต้นแล้วว่าจะเสนอขอรับโอนอีก 6 ท่าอากาศยาน คือ พิษณุโลก แม่สอด อุบลราชธานี ขอนแก่น ตรัง และ ระนอง
โดยคาดงานการรับโอนสนามบินจากกรมท่าอากาศยานอยู่ระหว่างดำเนินขั้นตอนการขอใบรับรองเป็นท่าอากาศยานสาธารณะกับกพท. คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ หากครม.ชุดปัจจุบันอนุมัติให้เดินหน้าต่อไป AOT ประเมินว่าจะสามารถรับโอนท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งได้เสร็จสิ้นภายในปลายปี 2566
คาดกำไรพลิกฟื้น2ปีต่อเนื่อง
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ผลประกอบการดีขึ้นจากการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งในหลายประเทศ ถือเป็นปัจจัยหนุนหลักต่อกำไรของ AOT ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ถูกขับเคลื่อนจากการ กลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้สถานการณ์ผลการดำเนินงานในทุกส่วนธุรกิจของ AOT ดีขึ้นเด่น ต่อเนื่อง AOT สามารถใช้ประโยชน์ (Utilize) เต็มที่ จากสินทรัพย์ถาวร
ดังนั้นคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ที่ 1.39 หมื่นล้านบาท และที่ 2.70 หมื่นล้านบาทปี 2567 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประมาณการกำไร AOT อาจมี Downside จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยชะลอตัวเพราะปกติชาวจีนเป็นผู้ซื้อหลัก ในร้าน Duty Free ในไทย โดยคงคำแนะนำ "ซื้อ" ราคา เป้าหมายอยู่ที่ 86.00 บาท
ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส "เพิ่มน้ำหนัก" เข้าลงทุนในหุ้น AOT คาดแนวโน้มผลการดำเนินงาน Q4/66 จะเร่งตัวต่อเนื่องหลังล่าสุดเดือน ก.ค. จำนวนผู้โดยสารต่างประเทศฟื้นตัวขึ้นแตะ 77% เทียบกับก่อน Covid-19 และคาดดีขึ้นอย่างจาก High Season ใน Q1-Q2/67โดยรายได้สัมปทานที่คาดฟื้นตัวต่อเนื่องหลังหมดมาตรการช่วงเหลือ
ดังนั้นฝ่ายวิจัยคาดกำไรปี 66-67 ที่ 1 หมื่นล้านบาท และ 3.2 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ จากขาดทุนปี 65 และยังมี Catalyst จากโอกาสได้รับโอนสนามบินภูมิภาคเข้ามาบริหารเพิ่มเติมแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 85 บาท
ขณะที่ ด้าน บล.ดาโอ ยังคงประมาณการกำไรปี 2566 ของ AOT ที่ 8.9 พันล้านบาท ดีขึ้นจากปี 2565 ที่ขาดทุน 1.1 หมื่นล้านบาท โดยกำไรในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 จะคิดเป็น 61% จากทั้งปี ขณะที่ไตรมาส 4/66 จะดีขึ้นจากจำนวนผู้โดยสารที่เติบโต หลังจากผ่านช่วง low season ของการท่องเที่ยว
ส่วนกำไรปี 2567 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตขึ้น และ King Power ทั้งนี้ยังประเมินจำนวนผู้โดยสารปี 2566-2567 ที่ 100 ล้านคน เพิ่มขึ้น 114% จากปีก่อน และ 140 ล้านคน เพิ่มขึ้น 40% จากปีก่อน ใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 ทำให้ประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้นซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 254.57 เท่า เทียบกับ P/E ตลาด
โดยรวมที่ระดับ 21.51 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายสูงกว่าตลาดหลายเท่าตัว สอดคล้องกับ P/BV ที่ระดับ 9.61 เท่า ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดที่ปัจจุบันซื้อขาย P/BV เฉลี่ยที่ 1.51 เท่า โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 83.37 บาท จากราคาต่ำสุด 72.00 บาท และราคาสูงสุด 92.00 บาท