xs
xsm
sm
md
lg

นักเศรษฐศาสตร์ แนะทบทวนแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แฝงหายนะเศรษฐกิจระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ แนะรัฐทบทวนก่อนแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ฉุดงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องหลายปี หรือสร้างหนี้ที่สูงมาก และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ได้ไม่คุ้มเสีย ชี้ภาพลวง ช่วยคนไทยใช้เงินดิจิทัลเป็น ไม่กระทบปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของไทย ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้ว อาจแฝงหายนะราคาสินค้าและบริการจะสูงขึ้น ค่าเช่าเพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อจะมาตามกลไกตามหลักเศรษฐศาสตร์


ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ หรือ ดร.นุช นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ ได้โพสต์ถึงประเด็นนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10000 บาท ของ "นายเศรษฐา ทวีสิน" จากที่หาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย โดย ดร.ได้อธิบายประเด็นปัญหาที่อาจแฝงอยู่ในนโยบายดังกล่าวดังนี้ว่า

ข้อควรระวังและประเด็นที่ควรคิดให้หนักก่อนแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ทันทีที่ผลการโหวตนายกรัฐมนตรีออกมาปุ๊บ หลายคนได้รับข้อความให้กดรับสิทธิ์หรือลิงค์ให้เข้าไปอ่านเงื่อนไขของผู้มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินดิจิตอลนี้

... และแน่นอนว่า เป็นข้อความจากเหล่ามิจฉาชีพแน่นอน เพราะการโหวตเพิ่งเสร็จสิ้น ยังไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาล ยังไม่มีการแถลงนโยบายของรัฐมนตรีประจำกระทรวง ย่อมไม่สามารถนำนโยบายของพรรคการเมืองมาใช้ทำมาตรการใดๆ

สิ่งที่เกิดนี้ เตือนทุกคนว่า หากมีการใช้มาตรการดังกล่าวและมีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ หรือต้องมีการกดรับสิทธิ์การรับเงินดังกล่าว ก็จะมีกลุ่มมิจฉาชีพใช้วิธีการเดิมๆ ที่เราประสบกันมาตลอด 3-4 ปี คือการส่งข้อความไปยัง smartphone ของประชาชนเพื่อเชิญชวนกด link เข้าไปดูคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ วิธีรับสิทธิ์ หรือแม้แต่แจ้งให้กดรับสิทธิ์

หลายคนมักจะกด เพราะกลัวว่าจะพลาดโอกาสการรับเงินก้อนนี้ แต่กลายเป็นการติดตั้งแอพพลิเคชั่นของมิจฉาชีพ เปิดช่องให้มีการดูดเงินอีก

ถ้าจะหลีกเลี่ยงปัญหานี้คือต้องให้สิทธิ์ทุกคนเท่ากันโดยไม่สร้างความซับซ้อนด้วยการกำหนดคุณสมบัติสารพัด ..... แต่ปัญหา คือคนที่จะได้รับเงินจะเยอะมาก จนงบประมาณขาดดุลไปอีกหลายปี หรือสร้างหนี้ที่สูงมาก และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ได้ไม่คุ้มเสีย

ก่อนออกใช้มาตรการนี้ ควรมีการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยศึกษาให้ครอบคลุมผลเชิงลบและเชิงบวก

อย่ามองเพียงว่าการแจกเงินจะทำให้ประเทศมีการบริโภคเพิ่มขึ้น แล้วหวังจะให้ธุรกิจได้รับอานิสงส์ในเชิงรายรับที่เพิ่มสูงขึ้นผ่านการจับจ่ายของประชาชน

การแจกเงินดิจิทัล หลายคนอาจจะบอกว่าการแจกครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ มันจะช่วยให้คนไทยใช้เงินดิจิทัลเป็นและมันก็เป็นแค่ตัวเลข ไม่กระทบต่อปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของไทย และไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ต่างมองว่าเงินก้อนนี้จะแค่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ

>>>> เดี๋ยวนะคะ ถ้ามันกระตุ้นเศรษฐกิจ ราคาสินค้าและบริการจะสูงขึ้น ค่าเช่าจะเพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อจะมาตามกลไกตามหลักเศรษฐศาสตร์

วันนี้ขอกลับไปอยู่ในร่างนักเศรษฐศาสตร์อีกครั้ง ขออธิบายถึงกลไกทางเศรษฐกิจตามหลักเศรษฐศาสตร์ ว่าทำไมเมื่อมีการแจกเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินธนบัตร เงินเข้าบัญชีธนาคาร/เข้าแอพ หรือเป็นเงินดิจิทัล ต่างก็ส่งผลกระทบต่อปริมาณเงิน อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ค่าเงิน และตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศ

1. หากเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ถูกนำมาจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการ อุปสงค์ในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อุปทานและปัจจัยการผลิตเท่าเดิม นี่จะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น หรือก็คือภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ต้องยกระดับอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่อาจนำไปสู่วิกฤตศรษฐกิจ

ประเทศในแถบละตินและตุรกีเป็นตัวอย่างของประเทศที่ใช้มาตรการคล้ายคลึงกับมาตรการแจกเงินนี้จนนำไปสู่วิกฤตเงินเฟ้อ วิกฤตค่าเงิน และวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาแล้วหลายปีก็ยังไม่สามารถแก้วิกฤตได้ และประชาชนก็ยังคงเดือดร้อนกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (ในบางประเทศมีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 20% ต่อปี)

ดังนั้น เมื่อเงินดิจิทัลสามารถนำมาใช้ชำระสินค้าและบริการได้ตามกฏหมาย เงินดิจิทัลที่แจกออกไป 10,000 บาทต่อคน จะทำให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเพิ่มสูงขึ้น เช่น ถ้าแจกประชากรประมาณครึ่งประเทศ (33 ล้านคน) เท่ากับมีการฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 3.3 แสนล้านบาท

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณเงินในความหมายแคบ (ซึ่งรวมเหรียญ ธนบัตร และเงินฝากของสถาบันการเงิน) อยู่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท หากมีการแจกเงินดิจิทัลรวม 3.3 แสนล้านบาทโดยไม่ได้เป็นเงินสะสมของภาครัฐหรือได้จากการเก็บภาษีหรือการออกพันธบัตรระดมทุน จะเท่ากับว่าเงินดิจิทัลนี้ก็คือการพิมพ์เงินเพิ่มเข้ามาในระบบนั่นเอง ทำให้ปริมาณเงินในความหมายแคบเพิ่มขึ้นในระบบทันที 11% ตามกลไกทางเศรษฐกิจ อัตราการเพิ่มขึ้นของราคา (หรือก็เงินเฟ้อ) จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน นั่นหมายถึง เราอาจจะได้เห็นอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 11% ภายใน 1 ปีหลังมีการแจกเงิน

2. บางคนบอกว่า รัฐไม่ขาดดุลหรอก หนี้ไม่เยอะหรอก โดยหวังว่าเงินดิจิทัลที่ประชาชนเอาไปใช้จ่ายนี้ จะทำให้ธุรกิจมีรายได้ รัฐเก็บภาษีกลับมา

ลองคิดก่อนนะคะ ว่าเงินดิจิทัลที่แจกไป ถ้าทำให้เกิดรายได้กับภาคธุรกิจ แต่ก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ ธุรกิจอาจไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นมาเสียภาษีให้รัฐได้เพิ่มขึ้น อย่าลืมว่าธุรกิจเสียภาษีบนกำไรค่ะ ไม่ใช่รายรับ

บางคนบอกว่าแต่ธุรกิจจะผลิตเพิ่มขึ้น จ้างงานมากขึ้น เพื่อสนองอุปสงค์ในตลาดที่เพิ่มขึ้น คนก็มีรายได้/เงินเดือนสูงขึ้นไง ..... ลองถามตัวเองนะคะว่าเงินเดือนหรือโบนัสของคุณขึ้นตามปริมาณการขาย ยอดขาย หรือกำไรของบริษัท ถ้าธุรกิจไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้น จะมีหรือไม่มีการแจกเงินดิจิทัล คุณก็ได้เท่าเดิม

แต่เงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะทำให้รายได้ที่แท้จริง (รายได้หลังหักผลของอัตราเงินเฟ้อ) ลดลง
นี่เพราะธรรมชาติของค่าจ้าง มันไม่ได้ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อค่ะ ทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกว่า wage rigidity

3. ในทางกลับกัน อาจเกิดกรณีที่การแจกเงินดิจิทัลไม่ได้ทำให้ประชาชนผู้ได้รับเงินดิจิทัลมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีการใช้จ่ายเท่าเดิม (โดยเงินที่ได้รับแจกจะกลายเป็นเงินช่วยสนับสนุนค่าครองชีพ และเลือกที่จะเอารายได้ส่วนที่เหลือไปเป็นเงินออมหรือชำระหนี้)

เมื่อไม่มีการใช้จ่ายหมุนเวียนภายในประเทศเพิ่มขึ้น ธุรกิจต่างๆ ย่อมไม่ได้รับอานิสงส์ใดๆ จากมาตรการดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน เมื่อมีเงินออมในระบบเพิ่มขึ้น จะทำให้ปริมาณเงินความหมายกว้าง (เงินในความหมายแคบ บวกกับเงินฝากกับสถาบันการเงิน) ของประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

แม้จะทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจก็ดูเหมือนจะลดลง แต่ธุรกิจก็ไม่กู้มาลงทุนเพราะการบริโภคไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลุ่มที่จะกู้ยืมมากขึ้นคือกลุ่มที่ลงทุนเพื่อเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่

4. อีกประเด็นหนึ่งที่ควรคำนึงถึง คือ กลุ่มที่จะได้รับเงินดิจิทัลนั้นมีจำกัด ไม่ใช่ทุกคนสามารถได้รับเงินดิจิทัล ทั้งนี้เพราะ ไม่ใช่ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟน ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจเงินดิจิทัล เงื่อนไขสำคัญของการจะได้รับเงินดิจิทัล คือ ต้องมีสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ที่สามารถใช้เงินดิจิทัล และนี่นำมาซึ่งปัญหา

คนที่จะสามารถใช้เงินดิจิทัล คือ กลุ่มคนที่มี smartphone หรือ tablet ย่อมไม่ใช่กลุ่มที่อยู่ใต้เส้นความยากจน

คนที่อยากได้เงินดิจิทัลแต่ไม่มี smartphone อาจจะยอมกู้หนี้ยืมสิน ทำทุกวิถีทาง เพื่อจะซื้อ smartphone เพียงเพราะจะได้มีโอกาสรับสิทธิ์นี้รวมถึงสิทธิ์อื่นๆ ที่จะมาจากมาตรการอื่นของรัฐบาลใหม่ ..... สร้างหนี้ไปอีก

คนที่ไม่มี smartphone และไม่อยากมี แต่อยากได้รับ 10,000 บาทนี้ ก็จะจ้างคนอื่นที่มีสมาร์ทโฟนมากดรับสิทธิ์ รับเงินสดไปแทน แบบถูกหักค่าบริการจัดการจากเจ้าของสมาร์ทโฟน .... กลายเป็นธุรกิจผิดกฏหมาย เม็ดเงินรั่วไหล

แยกให้ชัดนะคะ เงินดิจิทัล กับเงินในบัตร วัตถุประสงค์คล้ายกัน แต่ลักษณะและกระบวนการจัดการต่างกัน

5. ประเด็นสุดท้าย นั่นก็คือ หากเงินก้อนนี้ถือเป็นรายจ่ายของภาครัฐ ผู้รับภาระ คือ ผู้ที่เสียภาษี ไม่ว่าจะในรูปเงินที่ต้องจ่ายภาษีรายได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีอากรอื่นๆ ถึงแม้จะมีการออกพันธบัตรรัฐระดมทุน เงินที่เอามาจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้กับผู้ถือครองพันธบัตรรัฐก็ยังคงเป็น "เงินภาษี" #เศรษฐศาสตร์วันละนิด


กำลังโหลดความคิดเห็น