xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แนวโน้มส่งออกครึ่งปีหลังน่าห่วง รับผลกระทบหนักเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุจากการส่งออกไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 หดตัวมากกว่าคาดการณ์ที่ -6.2%(YoY) โดยเป็นผลจากความต้องการสินค้าของตลาดคู่ค้าสำคัญลดลงเกือบทั้งหมดยกเว้นสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้เล็กน้อย โดยตลาดจีนที่ดูเหมือนว่าการส่งออกผลไม้ยังคงขยายตัวได้แต่ชะลอลงจากที่เร่งตัวในเดือนก่อนหน้าซึ่งไม่เพียงพอให้ภาพรวมการส่งออกไทยไปจีนขยายตัวได้ในเดือนนี้ ดังนั้น แม้ในช่วงที่เหลือของปี 2566 จะมีปัจจัยฐานของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แต่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะตลาดจีนที่เศรษฐกิจอ่อนแอมากกว่าที่คาดการณ์ อีกทั้งยังมีปัจจัยท้าทายอื่นๆ ที่อาจเข้ามากดดันภาพรวมการส่งออกไทย ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ ภัยแล้งที่อาจรุนแรงและยืดเยื้ออาจกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรให้ลดลง และค่าเงินที่ผันผวน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นถึงความเป็นไปได้ที่ภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 จะหดตัวเพิ่มขึ้นจาก -1.2% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุการส่งออกเดือน ก.ค.ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ตามการส่งออกทั้งหมวดอุตสาหกรรม และหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้อุปสงค์ลดลงและผู้ผลิตลดการสต๊อกสินค้า สำหรับการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องที่ -11.1% และดุลการค้าในเดือน ก.ค. ขาดดุล 1,977.8 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจากอุปสงค์ตลาดหลักยังซบเซา และอาจกดดันการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังให้เติบโตได้ต่ำ โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่องจากกลุ่มสิ่งทอ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น โดยภาคการผลิตของประเทศตลาดหลักหดตัวจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ปรับลดลงทำให้ผู้ผลิตลดการสต๊อกวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปลง

กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.85-35.50
ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.85-35.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.10 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.84-35.42 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทกลับมาแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 2 สัปดาห์ ขณะที่ภาพทางการเมืองชัดเจนมากขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เน้นย้ำในงาน Jackson Hole Symposium ว่า เงินเฟ้อยังคงสูงเกินไป อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าการตัดสินใจด้านนโยบายจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง ส่วนเงินปอนด์ซื้อขายที่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 สัปดาห์ ขณะที่ตลาดลดคาดการณ์ดอกเบี้ยปลายทางของธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) หลังตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 1,204 ล้านบาท และ 4,706 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ เราคาดว่าเงินดอลลาร์จะย่ำฐานในโซนที่แข็งค่าเล็กน้อยในระยะนี้ ทั้งนี้ ตลาดสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยบ่งชี้ว่ามีความน่าจะเป็นราว 80.5% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% และมีโอกาส 19.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. นอกจากนี้ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนและยุโรปมีแนวโน้มจำกัดการฟื้นตัวของราคาสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์

ส่วนประเด็นในประเทศ กรุงศรีประเมินว่าความกังวลเกี่ยวกับภาวะดอกเบี้ยสูงยาวนานในสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงทำให้นักลงทุนลังเลที่จะเพิ่มสถานะการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในตลาดกำลังพัฒนา รวมถึงสินทรัพย์สกุลเงินบาท ขณะที่จีดีพีไตรมาส 2/66 ของไทยขยายตัวเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าคาดมาก สะท้อนการส่งออก การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่ลดลง โดยสภาพัฒน์ลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้เป็น 2.5-3.0% ส่วนกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าส่งออกเดือน ก.ค. ลดลง 6.2% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่ยอดนำเข้าเดือน ก.ค.หดตัว 11.1% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1.98 พันล้านดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น