xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยมีหวังสิ้นปีแตะ 1,600 จุด เม็ดเงินต่างชาติเริ่มไหลกลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคธุรกิจและภาคตลาดทุนหวัง เม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเข้าประเทศ หลังเห็นสัญญาณบวกเมื่อประเทศได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หนุนวอลุ่มการซื้อขายตลาดหุ้นกลับมาที่ระดับ 7 หมื่นล้านบาท/วัน โดยรวมเชื่อทั้งปีมีลุ้นดัชนีฟื้นตัวกลับมาที่ระดับ 1,600 จุด และต่ำสุดไม่หลุด 1,500 จุด คาดต่างประเทศยังรอดีท่าทีรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะ ครม.และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้เป็นจังหวะเหมาะเข้าเก็บหุ้นดีราคาถูก เพื่อรอการดีดตัวในอนาคต

เป็นเวลาร่วม 8 เดือนแล้ว ที่นักลงทุนต่างประเทศขายสะสมออกจากตลาดหุ้นไทยไปแล้วกว่า 1.3 แสนล้านบาท โดยมีนักลงทุนทั่วไป (รายย่อย) ซื้อสะสมตั้งแต่ต้นปี 8.17 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มสถาบันซื้อสะสม 5.11 หมื่นล้านบาท ภาพรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 118 จุด จากแรงกดดันภายนอกประเทศ และในประเทศ โดยเฉพาะแรงกดดันทางการเมืองในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เมือพิจารณาจากวันที่ 3 ม.ค.66 ดัชนีฯปิดที่ระดับ 1,678.97 จุด กับล่าสุด (25ส.ค.) ปิดที่ระดับ 1,560.20 จุด

ดัชนีเริ่มฟื้นตัว

อย่างไรก็ หากพิจารณาจากจุดต่ำสุดของปีที่ระดับ 1,466.93 จุด เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.66 พบว่า ดัชนีเริ่มกลับมาสู่ทิศทางขาขึ้นอีกครั้งแม้บางช่วงเวลาจะปรับตัวพักฐานไปบ้าง โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในเหตุผลสำคัญหนีไม่พ้นที่ประเทศไทยก้าวข้ามเหตุการณ์สำคัญ นั่นคือ พรรคเพื่อไทยสามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ

คลายกังวลดอกเบี้ยUS

ส่วนภาพรวม ณ ปัจจุบัน สถานการณ์ในต่างประเทศ ตลาดหุ้นได้รับในเชิงบวกโดยเชื่อว่าถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะกล่าวสุนทรพจน์ในงานประจำปีเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล น่าจะส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็ได้ ส่วนการลดดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ทำให้ตลาดคลายกังวลเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. โดยให้น้ำหนักคงดอกเบี้ยในระดับ 80%

อสังหาฯจีนทำเอเชียน่าวิตก

ส่วนสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชีย ล่าสุด Goldman Sachs ระบุว่าความเครียดในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนได้แพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยจะทําให้รายได้และผลตอบแทนของภูมิภาคช้าลง พร้อมทั้งลด เป้าหมายราคาสําหรับดัชนี MSCI Asia Pacific ยกเว้นญี่ปุ่น

โดยลดการคาดการณ์การเติบโตของรายได้ในภูมิภาคปี 2566 จาก 0 เป็น -2% จากการคํานึงถึงการประมาณการของจีนที่แก้ไขแล้วเนื่องจากความเสี่ยงด้านทรัพย์สิน ตลอดจนความเชื่อมโยงของประเทศกับเอเชีย สิ่งนี้รวมถึงการลดรายได้ในออสเตรเลีย ฮ่องกง และมาเลเซีย

SCB เชื่อ ศก. ถดถอยไม่รุนแรง

ด้านนายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB CIO) แสดงความเห็นว่า SCB CIO ได้ปรับมุมมองที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยคาดว่า จะชะลอตัวลงแบบจัดการได้ จากเดิมที่มองว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบไม่รุนแรง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แม้จะยังต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีกว่าที่จะเข้าสู่อัตราเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำให้การลดดอกเบี้ยของ เฟด ในรอบนี้จะมีลักษณะค่อยๆ ลดลง และน้อยกว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งก่อนๆ โดย คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ย 100 และ 120 bps. ในปี 2567-2568 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ปลายปี 2568 อัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟด ยังอยู่ในระดับสูงถึง 3.4% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อชะลอมากกว่าคาด น่าจะเริ่มเห็นการลดดอกเบี้ย เช่น จีนและเวียดนามหรือการหยุดขึ้นดอกเบี้ย เช่น ไทย ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างระหว่างสหรัฐฯ และประเทศ Emerging ยังคงอยู่ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ จากมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเป็นภาวะ Soft landing ทำให้ปรับมุมมองหุ้นกู้ Investment Grade กลับขึ้นมาเป็น Slightly Positive หรือทยอยสะสมได้ แต่ยังคงแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield หรือ HY) โดยเฉพาะในตลาดหุ้นกู้จีน เนื่องจาก เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงบวกกับท่าทีของเฟด ในการหยุดขึ้นดอกเบี้ยและแนวโน้มลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2567 จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งระยะสั้นและยาว ทยอยลดลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า และเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ค้างในระดับสูงในช่วงที่เหลือของปี มีแนวโน้มทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของหุ้นกู้กลุ่ม HY ยังมีโอกาสขยับสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะหุ้นกู้ในกลุ่มธุรกิจที่มีการก่อหนี้สูง เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีน

นอกจากนี้ SCB CIO มองว่า ความตึงตัวของ Valuation ของตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มปรับลดลงโดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯกลุ่มTech ซึ่งแนะนำสับเปลี่ยนเข้าลงทุนในกลุ่มหุ้นทนทานความผันผวนไปก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันได้ปรับมุมมองหุ้นญี่ปุ่นเป็น Neutral (หยุดขายหรือถือไว้) หลังตลาดรับรู้การเปลี่ยนกรอบนโยบายการควบคุมการเคลื่อนไหวของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control) ไปพอสมควรแล้ว

ขณะที่ในระยะถัดไปยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าการปฏิรูปตลาดหุ้นญี่ปุ่นเน้นเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้นและแนวโน้มการฟืนตัวของผลประกอบการบริษัทพร้อมกันนั้น ยังคงแนะนำทยอยสะสมหุ้นจีน A-share แนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงในช่วงครึ่งหลังของปี และหุ้นไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายเริ่มลดลง

หุ้นไทยเฝ้ารอ ครม.ใหม่

ส่วนตลาดหุ้นไทยล่าสุด (25ส.ค.) ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงท้ายผลักดันดัชนีให้ดีดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารซึ่งเป็นกลุ่มที่แข็งแรงในช่วงตลาดไม่ดี ขณะที่ในสัปดาห์นี้(28ส.ค. – 1ก.ย.) เชื่อว่านักลงทุนกำลังเฝ้าติดตามข่าวคณะรัฐมนตรี(ครม.) ของรัฐบาลใหม่ รวมถึงการประกาศนโยบายรัฐบาล ทำให้มีแรงซื้อกลับมา โดยเฉพาะหุ้นที่ลงไปแรงก่อนหน้านี้

ด้าน "ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล" ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แสดงความเห็นถึงตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังว่า หากการเมืองนิ่ง กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) จะกลับมาได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติอาจจะกำลังพิจารณาแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย ว่าจะสร้างอนาคตอย่างแท้จริงได้แค่ไหน เพราะการลงทุนของต่างชาติจะเป็นระยะยาว 5-10 ปี

ดังนั้นโจทย์หลักของรัฐบาลใหม่ คือ การประคองเศรษฐกิจไทยให้ผ่านช่วงคับขันที่สุดช่วงหนึ่งของเศรษฐกิจโลกไปให้ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 3% และในช่วงต้นปี 2567 ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ จากปัญหาเรื่องงบประมาณที่ล่าช้าออกไป 3 เดือน

ทั้งนี้มองว่า เศรษฐกิจไทยจะมีภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักช่วยผลักดันในช่วงครึ่งปีหลัง และหากปลายปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้เพิ่มเป็น 3 ล้านคนต่อเดือน จะทำให้ทั้งปีมีนักท่องเที่ยวแตะระดับ 29-30 ล้านคนได้

เฝ้ารอดูนโยบายรัฐบาลใหม่

จากมุมมองดังกล่าวทำให้เชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติ ยังรอซื้อหุ้นไทยอยู่ เพียงแต่กำลังเฝ้ารอดูว่านโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะ ออกมาจะเป็นผลบวกต่อกลุ่มอุตสาหกรรมไหนบ้าง โดยจะเน้นเลือกรายตัว หรือเฉพาะกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น สะท้อนได้จากตอนนี้ แม้ตลาดอาจปรับตัวนิ่ง ๆ แต่หุ้นบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มค้าปลีก โรงพยาบาล โรงแรม ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นดีกว่าตลาด และแน่นอนว่า ตราบใดที่ทุกอย่างยังเป็นไปตามนี้ น่าจะเห็นการฟื้นตัวกลับของดัชนีหลักทรัพย์

นอกจากนี้หลายฝ่ายเห็นควรว่า การจัดเก็บภาษีขายหุ้นคงต้องพับแผนไปก่อน และเชื่อว่าหากยังไม่ดำเนินการจะช่วยให้การแข่งขันและความน่าสนใจต่อตลาดหุ้นไทยในมุมมองนักลงทุนต่างชาติปรับตัวเพิ่มมากขึ้น

สำหรับกรณีเลวร้าย หากมีปัจจัยอื่นๆเข้ามากดดันตลาดหุ้นไทยในเดือนก.ย. นักวิเคราะห์เชื่อว่าแนวรับที่บริเวณ 1,500 จุดน่าจะรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้อยู่


เป็นจังหวะดีทยอยเข้าลงทุนหุ้น

นั่นทำให้มุมมองต่อการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนจะค่อยๆ ทยอยเก็บสะสมหุ้นที่ดี พื้นฐานเยี่ยม เข้าพอร์ตเพื่อหวังผลในการทำกำไรในอนาคต จากที่หลายฝ่ายเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ดัชนีหลักทรัพย์จะฟื้นกลับมาเคลื่อนไหวบริเวณ 1,600 จุด ได้ในระยะไม่นานต่อจากนี้ จากปัจจัยหนุนในเรื่องของการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไปของรัฐบาลใหม่

เอกชนเชื่อมั่นนายกฯคนใหม่

เนื่องจากมีรายงานว่า บรรดาผู้ประกอบการหรือบรรดาภาคเอกชนหลากหลายธุรกิจ มีมุมมองเป็นบวก ต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทย เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเคยเป็นพรรครัฐบาลมาก่อน มีประวัติมายาวนาน และมีความเข้าใจระบบราชการ รวมไปถึง การบริหารประเทศด้วย จึงเชื่อว่าจะสามารถเดินหน้าในการบริหารประเทศต่อไปได้ ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนใหม่ ภาคเอกชนมองว่าการเป็นนักธุรกิจมาก่อน จะทำให้ เข้าใจการทำงานของภาคเอกชนมากขึ้นด้วย ทำให้มีโอกาสในการเชื่อมภาคการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม อยากให้มีการจัดตั้งทีมที่พิเศษที่เข้ามาดูแลเรื่องของการดึงเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทย เพราะประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายของการย้ายฐานทุนต่างชาติด้วย และ EEC เป็นโอกาสที่ นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนอย่างมาก

พบสัญญาณวอลุ่มเทรดโต

ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่มีการโหวตให้นายเศรษฐา เป็นนายกฯ ดัชนีหุ้นพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง จนตีฝ่าแนวต้านสำคัญระดับ 1,550 จุดได้อีกครั้ง และสิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ มูลค่าซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นจาก ระดับ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อวัน ฟื้นขึ้นมาที่ระดับวันละกว่า 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนในประเทศมีแรงซื้อหุ้นเข้ามาอย่างชัดเจน จนมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ดัชนีหุ้นฟื้นตัว

ปฏิกิริยาตอบรับในเชิงบวกของตลาดหุ้นครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมีความมั่นใจในรัฐบาลของนายเศรษฐา และทยอยกลับเข้ามาลงทุน แต่การซึมซับตอบรับรัฐบาลชุดใหม่ตอนนี้อาจยังไม่มากพอ เพราะการที่นักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมา อาจเป็นเพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนายเศรษฐา จะกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำได้หรือไม่ จึงชะลอการลงทุน รอดูนโยบายและผลงาน ไม่รีบร้อนเข้ามาไล่ซื้อหุ้น

ต่างชาติเริ่มกลับมาสนใจ

นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเมื่อภาพการเมืองไทยชัดเจน หลังเลือกนายกฯ และนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาสนใจ แต่ยังต้องรอติดตามความเร็วการจัดตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ที่จะประคองเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 2.7-3% จากปัจจุบันมีเพียงท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์เดียวเท่านั้น และรอดูมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว โดยเฉพาะการสร้างรายได้

ดังนั้นยังมีมุมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยระยะสั้น คาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้ แนวรับ 1,590 จุดและแนวต้าน1,620 จุด กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) 90% และพี/อี(P/E) 17 เท่า สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจลงทุน เช่น กลุ่มหุ้นใหญ่ อาทิ ท่องเที่ยว เช่นโรงแรม โรงพยาบาล และการบริโภคในประเทศ รวมถึงกลุ่มไฟแนนซ์ เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐทั้งระยะสั้นและระยะยาว และเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลกลับ

อย่างไรก็ตามหากดัชนีใกล้ระดับ 1,580จุด ควรหาโอกาสทำกำไรบางส่วน และในไตรมาส 3 ปีนี้ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนภายนอกประเทศ อาจทำให้ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับหลายลงมาปรับฐานมาที่แนวรับ 1,520จุด ซึ่งดาวน์ไซด์ค่อนข้างจำกัดแล้ว เป็นโอกาสกลับเข้าไปทยอยสะสมหุ้นไทยอีกรอบหนึ่ง แต่ฝั่งอัพไซด์ยังจำกัด

ระยะสั้นหุ้นไทยขยับตัวจำกัด

ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด มองทิศทางดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (28 ส.ค.- 1 ก.ย.) มีแนวรับอยู่ที่ 1,540 จุด และ 1,515 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,565 จุด และ 1,580 จุด ตามลำดับ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ (Flow) ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค. รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนก.ค. ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค.ของญี่ปุ่น จีน และยูโรโซน

ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในระหว่างสัปดาห์ก็มีความชัดเจนเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะไฟแนนซ์ ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์

แต่การปรับขึ้นของหุ้นไทยเริ่มจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังตอบรับประเด็นบวกภายในประเทศไปพอสมควร ประกอบกับหุ้นภูมิภาคปรับตัวลงระหว่างรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดจากงานประชุมสัมมนาประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล


กำลังโหลดความคิดเห็น