xs
xsm
sm
md
lg

ส่องประวัติ “เศรษฐา” นั่งนายกฯ คนที่ 30 ด้วยคะแนน 482 เสียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน
22 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นวันที่จัดให้มีการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยครั้งที่ 2 หลังจากการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ซึ่งมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แต่ปรากฏว่าได้รับเสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส. และ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 375 เสียง

โดยในวันนี้ (22 ส.ค.) เป็นวันที่มีการประชุมรัฐสภา โดยมีวาระสำคัญ คือ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีการเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้ถือหุ้นและผู้บริหารระดับสูง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เป็นนายกฯ คนที่ 30 โดยเป็นการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 3

โดยล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่าที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยคะแนน 482 เสียง เลือกนายเศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30

โดยผู้จัดการออนไลน์ เปิดปูมทุกแง่มุมของนายกฯ คนใหม่ พร้อมกับพันธกิจสำคัญๆ ในการบริหารประเทศและสังคม

“เศรษฐา ทวีสิน” ชื่อเล่น นิด เกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2505 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในปี 2566 อดีตประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้นำการขับเคลื่อนแสนสิริ สู่บริษัทชั้นนำในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ทั้งนี้ ก่อนร่วมงานกับแสนสิริ เศรษฐา เคยทำงานกับ Procter & Gamble บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เคลื่อนไหวเร็ว (FMCG)

“เศรษฐา เข้าสู่สนามการเมืองกับพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มตัวในเดือนมีนาคม 2566 “เศรษฐา” ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก เน้นย้ำอย่างจริงจังถึงปากท้องของประชาชน ความเหลื่อมล้ำของสังคม และการให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพในการเลือก อีกทั้งยังมักประกาศว่าภารกิจสำคัญหากได้เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอุปสรรคให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างยากลำบาก

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้เป็นพรรคอันดับ 2 รองจากพรรคก้าวไกล สิทธิในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจึงอยู่กับพรรคก้าวไกล อย่างไรก็ตาม ในการโหวตนายกรัฐมนตรีที่เป็นแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2556 ได้คะแนนเสียง 324 เสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ขาดอีก 52 เสียง ซึ่งไม่เป็นผลสำเร็จ และไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.อย่างเพียงพอ เป็นผลให้พรรคก้าวไกลจำเป็นต้องส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทย มีมติส่ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก่อนที่ เศรษฐา จะเข้าสู่สนามการเมือง เศรษฐาเป็นผู้สังเกตการณ์ที่เฉียบคมเกี่ยวกับวาระทางสังคมของประเทศ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นผู้บริหารแสนสิริ และได้มอบหมายแนวคิดในการสร้างกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแรงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้ประเทศชาติในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม สนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลาย รวมถึงในหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน และกีฬา

ชีวิตส่วนตัว และครอบครัว

“เศรษฐา ทวีสิน” เกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2505 ปัจจุบันอายุ 61 ปี เศรษฐาเป็นบุตรคนเดียวของของร้อยโทอำนวย ทวีสิน กับ ชดช้อย ทวีสิน (สกุลเดิมจูตระกูล) บิดาของเศรษฐาเสียชีวิตตั้งแต่เศรษฐาอายุเพียง 3 ขวบ

ร้อยโทอำนวย ทวีสิน เป็น classmate กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร พล.อ.ประจวบ แต่งงานกับคุณหญิงพิมพา ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ ของร้อยโทอำนวย ทวีสิน ร้อยโทอำนวย ทวีสิน จึงมีศักดิ์เป็นพี่เขยของ พล.อ.ประจวบ ในสมัยที่ พล อ.เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประจวบ ได้รับดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกฯ ควบคู่กับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

ในหนังสืองานศพของคุณหญิงพิมพา ท่านเปรม ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษในขณะนั้น ได้เขียนถึงคุณหญิงพิมพา มีหัวข้อว่า ‘คิดถึงดํา’ (ดำคือชื่อเล่นของคุณหญิงพิมพา) กล่าวถึงในสมัย 2481 ร้อยโทอำนวย ทวีสิน ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชายของคุณหญิงพิมพา (ดำ) เป็นนักเรียนเทคนิคทหารบกรุ่นเดียวกันกับ พล.อ.เปรม จึงมีความสนิทสนมกันและได้ชวน พล.อ.เปรม และเพื่อนสนิทอีก 3-4 คนไปค้างที่บ้านบ่อยๆ จึงถือว่าเป็นโชคดีมากเพราะทำให้ได้รู้จักและมีความสนิทสนมกับกับคุณหญิงพิมพา ซึ่งเป็นน้องสาวของร้อยโทอำนวย หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้จบสิ้นลง ร้อยโทอำนวย ได้ลาออกจากราชการ กลับไปช่วยดำเนินธุรกิจของครอบครัว แต่ยังได้ติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ

“เศรษฐา” นับว่าเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะ ตระกูลทวีสิน เป็นหนึ่งในตระกูลที่มีความเกี่ยวข้องกับสายเครือญาติ 5 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย อันได้แก่ ตระกูลยิบอินซอย จักกะพาก จูตระกูล ล่ำซำ และบูรณศิริ ซึ่งเป็นสายสกุลของเศรษฐา ทวีสิน

1.ตระกูลยิบอินซอย
บริษัท ยิบอินซอย จำกัด
•ริเริ่มทำธุรกิจเหมืองแร่
•บุกเบิกธุรกิจด้านการเกษตร : ปุ๋ย และเคมีเกษตรรายแรกให้แก่เกษตรกรไทย
•ต่อยอดธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ : ไอทีโซลูชัน ร่วมพัฒนาระบบไอทีแก่ภาครัฐและเอกชน
•รวมถึงมีธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ระดับ Hi-End
•ปัจจุบัน ได้มีการต่อยอดเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับลูกค้าโลจิสติกส์ และพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด สำหรับลูกค้าโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์ม

2.ตระกูลจักกะพาก
บริษัท เงินทุน เอกธนกิจ จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม ฟินวัน
•บริษัทการเงินไทยแสนล้าน กิจการล้มละลายภายใต้การบริหารของ นายปิ่น จักกะพาก
•อดีตพ่อมดการเงินของประเทศไทย ที่โดนคดียักยอกทรัพย์ ก่อนหลบหนีไปต่างประเทศ ล่าสุดคดีสิ้นสุดอายุความแล้ว

3.ตระกูลจูตระกูล
บริษัท แสนสิริ จำกัด
•ก่อตั้งระหว่าง 3 ตระกูล ได้แก่ จูตระกูล ล่ำซำ และบุรณศิริ
•ปัจจุบัน นายอภิชาติ จูตระกูล และนายอภิรักษ์ จูตระกูล ลูกพี่ลูกน้องของนายเศรษฐา ทวีสิน รับหน้าที่บริหารกิจการ
บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
•นางชฎาทิพ จูตระกูล ภรรยาของนายอภิชาติ จูตระกูล เป็นผู้บริหารธุรกิจศูนย์การค้าภายใต้บริษัทสยามพิวรรธน์ เช่น Icon Siam, Siam Paragon และ Siam Discovery ศูนย์การค้าชั้นนำใจกลางกรุงเทพมหานคร

4.ตระกูลล่ำซำ
ธนาคารกสิกรไทย
•ก่อตั้งโดยนายโชติ ล่ำซำ นายจุลินทร์ ล่ำซำ และนายเกษม ล่ำซำ ทายาทรุ่นที่ 3
•ส่งต่อการบริหารให้แก่ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานคณะกรรมการ ก่อนกล่าววางมือในปี 2563
•ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว แต่ยังคงพ่วงตำแหน่งประธานกิตติคุณของธนาคารกสิกรไทย
•ลงมาทุ่มเทให้โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” และโครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์” อย่างเต็มตัว ที่จังหวัดน่าน
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
•ก่อตั้งบริษัทโดย นายจุลินทร์ ล่ำซำ และส่งต่อธุรกิจมารุ่นสู่รุ่น
•ปัจจุบัน ได้นายสาระ ล่ำซำ ทายาทรุ่นที่ 5 ลูกชายคนเล็กของนายโพธิพงษ์ ล่ำซำ เข้ามารับช่วงบริหารต่อ
บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
•อดีตดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ก่อนแยกตัวออกมาในปี 2541 โดยมีนายโพธิพงษ์ ล่ำซำ เป็นผู้บริหารธุรกิจ
•ปัจจุบัน ได้ นางนวลพรรณ ล่ำซำ ลูกสาว หัวหน้าสโมสรฟุตบอลการท่าเรือในไทยลีก ประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัท ซังออนอเร่ (กรุงเทพ) จำกัด นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ HERMÈS จากประเทศฝรั่งเศส และอื่นๆ อีกมากมายเข้ามารับช่วงบริหารต่อ

5.ตระกูลบุรณศิริ
บริษัท แสนสิริ จำกัด
•ปัจจุบัน มีนายวันจักร์ บุรณศิริ อดีตรองประธานบริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น

จะเห็นว่าบรรดาเครือญาติหลายสายที่มีส่วนเกี่ยวพันและเป็นสาแหรกเครือญาติของนายเศรษฐา ทวีสิน มีประวัติไม่ธรรมดา เพราะนอกจากจะเป็นสายสกุลที่มาจากต้นตระกูลเก่าแก่หลากหลายสายแล้ว ปัจจุบันยังคงสานต่อเจตนารมณ์ธุรกิจเครือญาติจนเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับสอง รองจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คนนี้ เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญและน่าจับตามองอย่างยิ่ง

ในปี 2532 “เศรษฐา” สมรสกับ พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญความงามด้านผิวพรรณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีบุตรธิดา 3 คน ได้แก่
1.ณภัทร ทวีสิน (น้อบ) บุตร
2.วรัตม์ ทวีสิน (แน้บ) บุตร
3.ชนัญดา ทวีสิน (นุ้บ) ธิดา

การศึกษา

ในระดับประถม เศรษฐา ศึกษาที่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาในระดับไฮสกูล เศรษฐาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสสาชูเซตส์ (University of Massachusetts) และปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจด้านการเงินจากบัณฑิตวิทยาลัยแคลมอนต์ (Claremont Graduate School) สหรัฐอเมริกา

การทำงาน

หลังเรียนจบในปี 2529 เศรษฐา กลับมาทำงานที่ประเทศไทยในบริษัท Procter & Gamble ซึ่งในเวลานั้น P&G เพิ่งย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเขาเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดคนแรก เมื่อทำงานไปได้ประมาณ 3 ปี ทาง P&G ได้เสนอให้เขาไปทำงานในต่างประเทศ โดยระบุว่าเป็นหนทางเดียวที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงสุดในเส้นทางอาชีพ ด้านเศรษฐาที่เพิ่งกลับจากการใช้ชีวิตในต่างประเทศได้ไม่นาน ปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในเมืองไทยกับครอบครัวจึงตัดสินใจปฏิเสธโอกาสการทำงานดังกล่าว ก่อนที่จะไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ร่วมกับคุณอภิชาติ จูตระกูล ผู้เป็นญาติในชื่อบริษัทแสนสำราญ จำกัด (ชื่อเดิมของแสนสิริ) ในปี 2533

บริษัท แสนสำราญ จำกัด ได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โครงการแรก คือ โครงการบ้านไข่มุก ซึ่งเป็นอาคารชุดริมหาดหัวหิน มีมูลค่าต้นทุนสร้างประมาณ 250 ล้านบาท และประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของลูกค้าในตลาดระดับสูง ซึ่งโครงการบ้านไข่มุก เป็นคอนโดมิเนียมลักชัวรีติดชายหาดระดับตำนาน ห้องขนาด 242 ตารางเมตร ซึ่งครั้งเปิดตัวมีราคาขาย 7 ล้านบาทต่อยูนิต สู่การขายเปลี่ยนมือ ล่าสุด ทำราคาแพงสุดที่ 80 ล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นโครงการแฟลกชิปของแสนสิริที่อากาศดีที่สุดและแพงที่สุด

บริษัทแสนสิริ เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แสนสิริภายใต้การนำของเศรษฐา ได้เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2538 สองปีถัดมาประเทศไทยรวมถึงบริษัทแสนสิริ ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงอย่างต้มยำกุ้ง แสนสิริมีการปลดพนักงาน ขายสินทรัพย์เพื่อให้มีทุนหมุนเวียน และท้ายที่สุดนำองค์กรผ่านมรสุมธุรกิจและกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งหนึ่ง ในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งถัดมาอย่างแฮมเบอร์เกอร์ปี 2550 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 แสนสิริสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว มีกระแสเงินสดที่ดี และกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ถือว่าเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงสูง จนถึงปัจจุบัน เป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นแนวหน้า และเป็นอันดับ 1 ที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานมากที่สุด

ในปี 2565 แสนสิริมีกำไรมากที่สุดในรอบ 38 ปี ทะลุ 4,280 ล้านบาท อัตราการเติบโตด้านกำไรโตก้าวกระโดด 112% สูงสุดในอุตสาหกรรม มีรายได้ขึ้นมาอยู่ที่ 34,973.59 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการตอบรับในแบรนด์ที่อยู่อาศัยของแสนสิริ ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าที่ดีมาโดยตลอด รวมถึงการควบคุมวินัยทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างดี

แสนสิริ ในการนำของเศรษฐา ให้ความสำคัญอย่างมากกับ “4 เสา” ที่เป็นตัวค้ำบัลลังก์ให้แสนสิริมั่นคง ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า และสังคม หน้าที่หลักของผู้บริหาร คือการสร้างความสมดุลและการให้ความสำคัญกับการใส่ใจและส่งมอบคุณค่ากลับคืนให้ทั้ง 4 เสาเหล่านี้ กล่าวคือ ตอบแทนผู้ถือหุ้นด้วยผลกำไรที่ดี ตอบแทนพนักงานด้วยค่าจ้าง สวัสดิการ และสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม ตอบแทนลูกค้าด้วยสินค้าที่มีคุณภาพ และตอบแทนสังคมด้วยการส่งมอบโอกาสในด้านต่างๆ ให้ผู้คน

“เศรษฐา” สร้างแรงจูงใจให้พนักงานโดยมีเงินเดือนและมีสวัสดิการต่างๆ ที่แข่งขันได้กับธุรกิจเดียวกันในตลาด นอกจากนี้ เศรษฐายังพัฒนา SIRI CAMPUS ออฟฟิศที่ออกแบบโดยเอื้อต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีสภาพแวดล้อมที่ดี และเอื้อต่อการทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาค เท่าเทียมไม่มีลำดับชั้น

เศรษฐา” มักจะนั่งทำงานใน Co-Working Space โดยไม่มีที่นั่งประจำ เพื่อให้พนักงานสามารถแวะเวียนเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เศรษฐาเชื่อว่าการพบเจอกันและเข้าถึงได้ง่ายจะทำให้พนักงานกระตือรือร้น และเมื่อต้องมีการตัดสินใจใดๆ จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากตำแหน่งหน้าที่ในบริษัทแสนสิริ ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2566 เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งกรรมการในกว่า 30 บริษัท เช่น บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (เดิมชื่อ บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน)) บริษัท สิริพัฒน์ ทเวลฟ์ จำกัด บริษัท สิริพัฒน์ อีเลฟเว่น จำกัด บริษัท สิริพัฒน์ เท็น จำกัด บริษัท สิริพัฒน์ ไนน์ จำกัด เป็นต้น

ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 เศรษฐาได้ทำรายการโอนหุ้นของ SIRI จำนวน 661 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 4.44% ที่ถืออยู่ทั้งหมดให้ชนัญดา ทวีสิน บุตรคนเล็ก ส่งผลให้ เศรษฐาไม่ได้ถือหุ้น SIRI อีกต่อไป จากที่ก่อนการทำรายการเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ของ SIRI และได้ขอลาออกจากตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งทุกตำแหน่งในฐานะกรรมการบริษัท และกรรมการชุดย่อยของบริษัท ได้แก่ ประธานกรรมการบริหาร รองประธานกรรมการลงทุน และกรรมการบรรษัทภิบาทและความยั่งยืน โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566 เป็นต้นไป ถือเป็นการเปิดฉากการเข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการของเศรษฐา

การเข้าสู่การเมือง

เศรษฐาเปิดเผยว่าเขาไม่ได้มีความฝันที่จะก้าวเข้าสู่การเมืองมาก่อน แต่สิ่งที่เริ่มจุดประกายให้เขาสนใจการเมืองมากขึ้นคือนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐาเห็นว่าการยึดอำนาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและรับไม่ได้ บวกกับปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 8-9 ปีหลังมานี้ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สะท้อนให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เศรษฐาเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม และมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกได้ ตนจึงตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยเพราะเชื่อว่าเพื่อไทยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง

เดือนพฤศจิกายน 2565 เศรษฐาสมัครเป็นสมาชิกครอบครัวเพื่อไทย และในเดือนมีนาคม 2566 นั่งตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยให้แพทองธาร ชินวัตร ในเดือนเมษายน 2566 พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อคุณเศรษฐาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพร้อมกับอีก 2 ท่าน ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร และชัยเกษม นิติสิริ

เศรษฐาพูดเสมอว่า “ผมไม่ได้อยากเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะอยากมีตำแหน่งว่าเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง”


ระหว่างการหาเสียง

“เศรษฐา” อธิบายว่า ทุกครั้งที่ไปต่างจังหวัดเพื่อปราศรัย เศรษฐาจะใช้เวลากับการพูดคุยกับผู้ประกอบการ หอการค้า ผู้นำความคิด สภาอุตสาหกรรมจังหวัดก่อน เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหา และเมื่อขึ้นเวทีปราศรัยจะมีข้อมูลเชิงลึกนำไปสื่อสารบนเวที ทั้งนี้เศรษฐาลงพื้นที่ครั้งแรกที่คลองเตย และขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกที่พิจิตร

ในช่วงท้ายของการหาเสียง แพทองธาร ชินวัตร อีกหนึ่งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยลาคลอด ทำให้เศรษฐาเป็นบุคคลหลักในการนำหาเสียง

“เศรษฐา” ย้ำชัดเจนระหว่างการหาเสียง ว่า ประเด็นที่จะให้ความสำคัญที่สุด ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างยากลำบาก และจะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด การให้สิทธิเสรีภาพในการเลือกแก่ประชาชน รวมถึงทั้งการเลือกเพศสภาพ ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม การเลือกอาชีพ สมัครใจเกณฑ์ทหาร การทำข้อตกลงทางการค้ากับต่างประเทศ รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อให้เม็ดเงินกลับเข้าประเทศอย่างรวดเร็วที่สุด

นอกจากประเด็นข้างต้น อีกหนึ่งจุดยืนที่เศรษฐากล่าวถึงเสมอ คือ การแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน ดังที่เคยได้กล่าวไว้ว่า “ความยากจน คือ ศัตรูของผม ความไม่เสมอภาค คือ สิ่งที่ผมจะต่อกรด้วย ไม่ใช่การสู้กับพรรคการเมืองอื่น”

แคนดิเดตรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับ 2 มี ส.ส. 141 ที่นั่ง รองจากพรรคก้าวไกล ที่ได้ส.ส. 151 ที่นั่ง ซึ่งเศรษฐายอมรับว่าตัวเลขดังกล่าวน้อยกว่าที่คาดคิดไว้ และน้อมรับว่าตนอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาไม่ถึงเป้า เช่น จากการที่ตนตัดสินใจเข้าการเมืองช้า การไม่เข้าร่วมดีเบตเนื่องจากมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่มากกว่าและความพร้อมของตน ณ เวลานั้นๆ

“เศรษฐา” ยอบรับในผลเลือกตั้งและมองว่าเพื่อไทยต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทั้งในด้านการปรับตัวให้รวดเร็วต่อสถานการณ์ (Speed to Market) ไปจนถึงเรื่องความชัดเจน และหากไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตนจะไม่รับตำแหน่งอื่นใน ครม. แต่จะมุ่งมั่นขับเคลื่อนการสื่อสารและการทำงานภายในพรรคเพื่อไทยให้กลับมาเป็นพรรคที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป หลังจากวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ได้รับเสียงโหวตจากสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง โดยได้ 324 เสียง เป็นเสียงจากพรรคร่วม (8 พรรคในเวลานั้น รวมพรรคเพื่อไทย) 311 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 13 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 749 คน และการเสนอชื่อพิธาซ้ำในที่ประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ก็มีมติออกมาว่าไม่สามารถเสนอชื่อพิธา อีกครั้งได้ ทางพรรคก้าวไกลจึงเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เศรษฐาจึงถูกพูดถึงอย่างมากอีกครั้งในฐานะแคนดิเดตรัฐมนตรี

ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยแถลงว่าที่ประชุม 8 พรรค มีมติส่งมอบภารกิจแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทย โดยเห็นชอบแนวทางให้พรรคเพื่อไทยหาเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองนอกกลุ่มพรรคร่วมเดิม และสมาชิกวุฒิสภาได้ พรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งจาก ส.ว. และ ส.ส. พบว่านโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังคงเป็นเงื่อนไขหลัก ขณะที่บางพรรคและบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในทุกกรณี

พรรคเพื่อไทยจึงได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกัน และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ "นายเศรษฐา ทวีสิน" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย โดยพรรคและเศรษฐายืนยันว่าจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และไม่สามารถมีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม จากเงื่อนไขจากหลายพรรค และ ส.ว. โดยจะมีภารกิจสำคัญ 2 ข้อ ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ โดยจะกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ทำประชามติ และแต่งตั้ง สสร. ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง จากนั้นจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภารกิจที่ 2 จะดำเนินนโยบายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมเห็นสอดคล้องกัน เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายสุราก้าวหน้า การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ การเสนอชื่อเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคม 2566

ความสนใจในประเด็นสังคม

“เศรษฐา” เป็นหนึ่งในผู้บริหารแวดวงธุรกิจที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังใช้ต้นทุนที่ตนมีกับการทำเพื่อสังคมในหลายด้าน เป็นผู้บริหารที่เน้นย้ำเรื่องการตอบแทนสังคมเป็นอย่างมาก เห็นได้จากแสนสิริ โดยการนำของเศรษฐา ช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาโควิด แสนสิริเป็นบริษัทเอกชนเจ้าแรกๆ ที่ทำการสั่งซื้อวัคซีน Sinopharm เป็นจำนวนถึง 37,000 โดส เพื่อแจกจ่ายสู่พนักงาน ครอบครัวพนักงาน ชุมชม คู่ค้า พาร์ตเนอร์ ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่รวดเร็วมาก โดยที่พนักงานแสนสิริ ณ ขณะนั้นมีเพียง 3,000-4,000 คน รวมถึงบริจาคเงินให้ภาครัฐในการสร้าง รพ.สนาม เพื่อผู้ป่วยโควิด บริจาคถุงยังชีพ บริจาคสิ่งของเครื่องใช้ในชุมชน ไม่รวมถึงออกแคมเปญ CSR อย่างต่อเนื่อง เช่น No One Left Behind, แสนสิริช่วยเหลือ SME, Sansiri Care Relief Fund กองทุนช่วยเหลือพนักงานเรื่องโควิด ไปจนถึงเหมาซื้อผลผลิตจากเกษตรกรจากทั่วประเทศมาแจกให้ลูกบ้าน และให้ทางสมาพันธ์ช้างไทย ใช้ที่ดินที่รอการพัฒนาที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นอาหารแก่ช้างบ้านในช่วยที่เศรษฐกิจถดถอย ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ โดยทำทั้งหมดมากกว่า 30 โครงการ เป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท

การเมือง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “เศรษฐา” ได้แสดงความสนใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การบริหารบ้านเมือง โดยได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลผ่านช่องทางทวิตเตอร์หลายต่อหลายครั้ง ในหลายประเด็น เช่น ช่วงกลางปี 2564 เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านวัคซีนโควิด-19 และการจัดลำดับความสำคัญด้านงบประมาณท่ามกลางวิกฤตทางสาธารณสุข และในเดือนกันยายน 2562 มีการเขียนจดหมายถึงนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นด้านเศรษฐกิจผ่านทางสื่อหนังสือพิมพ์

เด็กและเยาวชน

“เศรษฐา” ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องกับองค์กรที่ทำงานในประเด็นเด็กและการศึกษาผ่านทางแสนสิริ อย่างเช่นกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) โดยแสนสิริได้เป็นพันธมิตรอย่างเป็นรูปธรรมกับยูนิเซฟเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยเศรษฐามองว่า หน้าที่ของผู้ใหญ่ คือ การส่งเสริมสิทธิและความเป็นอยู่ของเด็กๆ ทั่วโลก ขณะเดียวกัน พยายามผลักดันให้เกิดนโยบายต่างๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมเพื่ออนาคตของเด็กและเยาวชน

โครงการที่ทำร่วมกับยูนิเซฟ เช่น โครงการ “Iodine Please” ผลักดันจนเรื่องไอโอดีนกลายเป็นนโยบายระดับประเทศ โดยรณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักถึงอันตรายของโรคขาดสารไอโอดีนในเด็ก จนสามารถผลักดันจนเกิดกฎหมายให้มีการเติมสารไอโอดีนในเกลือบริโภค และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการ “Zero Child Labour” ผลักดันให้เกิดข้อสัญญาคุ้มครองแรงงานเด็ก โดยแสนสิริและคู่ค้าลงนามในสัญญาร่วมกันสนับสนุนการไม่ใช้แรงงานเด็ก ขณะที่ในช่วงเกิดโควิด-19 ระบาดไปทั้งโลก แสนสิริยังบริจาคเงินเพิ่ม 2 ล้านบาท และนำรายได้ 500,000 บาท จากการขายหนังสือ “เศรษฐา กับกีฬา” มาสมทบให้ยูนิเซฟ เพื่อนำไปใช้เยียวยาวิกฤตอย่างทันท่วงที

การศึกษา

แสนสิริภายใต้การบริหารงานของเศรษฐายังได้มีการออกหุ้นกู้ 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หุ้นกู้ดังกล่าวนำไปใช้กับโครงการ “ราชบุรีโมเดล” โดยมีเป้ามหายให้เด็กหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ภายใน 3 ปี เหตุที่เลือกจังหวัดราชบุรีเนื่องจากมีเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาอยู่ประมาณ 10,000 คน ซึ่งเหมาะสมกับจำนวนเงินระดมทุน 100 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ ที่ทำให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมช่วยเหลือเด็กได้โดยง่าย และแสนสิริไม่มีการพัฒนาโครงการและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในพื้นที่ดังกล่าว

กีฬาฟุตบอล

“เศรษฐา” ยังได้ริเริ่ม SANSIRI ACADEMY ในปี 2549 เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกคนที่อยู่ในชุมชนบริเวณโดยรอบโครงการให้ได้เรียนรู้พื้นฐานทางด้านกีฬาฟุตบอลอย่างถูกต้อง และไม่เสียค่าใช้จ่าย เศรษฐาได้จ้างโค้ชที่มีใบอนุญาตฝึกสอนมาอบรมให้เด็กเหล่านี้ โดยเชื่อว่าจะส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานฟุตบอลไทยซึ่งเป็นกีฬาที่ตนโปรดปรานกว่า 10 ปีที่ผ่านมาเป็นไปได้ว่ามีเด็กและเยาวชนที่ผ่านการบ่มเพาะทักษะฟุตบอลจากแสนสิริ อะคาเดมี่ถึงหนึ่งหมื่นคน หลายคนสามารถนำทักษะที่เรียนรู้มาไปต่อยอดความฝันสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้อย่างงดงาม เช่น เจ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่ได้ไปเรียนฟุตบอลที่อะคาเดมี่ตอนช่วงอายุ 13-14 ปี ปัจุบันแสนสิริ อะคาเดมี่มี 6 สาขา ได้แก่ รามอินทรา ประชาชื่น อ่อนนุช พุทธมณฑล อักษะ และภูเก็ต

นอกจากนี้ เศรษฐาเคยเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน ที่ตีพิมพ์เป็นประจำทุกวันศุกร์ ระหว่างปี 2015-2018 และได้มีการรวมเล่มเป็นหนังสือกับสำนักพิมพ์ สยามพริ้นท์ บจก. โดยรายได้จากการขายหนังสือเล่มดังกล่าวยังมีการมอบให้กองทุนยูนิเซฟด้วย

นอกจากความสนใจในฐานะกิจกรรมยามว่าง เศรษฐายังเคยมีบทบาทในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติ ในยุคที่คุณกิติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติ ในปี 2550-2551

ทั้งยังได้แสดงความคิดเห็นและความสนใจเกี่ยวกับฟุตบอลอย่างต่อเนื่อง ดังที่ได้โพสต์สนับสนุน กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้จัดการทีมชาติไทย มีคุณสมบัติคู่ควรกับการเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น