xs
xsm
sm
md
lg

มีโอกาสหรือไม่ ? ‘ฟันด์โฟลว์’ ไหลเข้าไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหตุผล 6 ประการ ที่ทำให้เรามองว่าฟันด์โฟลว์น่าจะไหลจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) มายังกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ในช่วงกลางปี 2023 รวมถึงไทยด้วย แต่อาจจะไหลเข้าไทยช้ากว่าประเทศ EM อื่น ๆ เนื่องจาก

1. DM ยังคงห่วงว่าตนเองยังไม่ชนะเงินเฟ้อ เกิดความไม่แน่นอนว่าดอกเบี้ยจะขึ้นจุดสูงสุดตรงไหน

โดยมีแนวโน้มจะส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้นและบอนด์ จนถึงฟันด์โฟลว์ แม้ว่าตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศ DM จะมีอัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสามารถชะลอลงได้เร็วกว่าคาดเล็กน้อย รวมถึงอัตราเติบโตเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก ถือว่าดีกว่าคาด ทว่าคงต้องยอมรับว่ายังไม่มีใครกล้าฟันธงว่าจะไม่เกิดภาวะ Recession ทั้งในสหรัฐและยุโรปในปีนี้ และไม่มีใครกล้าบอกว่า ระดับสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับสูงสุดของทั้งคู่จะอยู่ตรงจุดไหน ซึ่งผิดกับกลุ่มประเทศ EM ที่เราทราบว่าโดยส่วนใหญ่ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ระดับความไม่แน่นอนของกลุ่มประเทศ EM มีระดับต่ำกว่ากลุ่มประเทศ DM

2. ปรากฏการณ์ De-coupling ระหว่างจีนกับสหรัฐยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งจีนกับสหรัฐต่างจะออกมาตรการกันไม่ให้อีกฝั่งหนึ่งได้เปรียบด้านเทคโนโลยีซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลเชิงลบต่อความน่าสนใจของเงินตราระหว่างประเทศที่จะเข้าไปใน 2 ประเทศมหาอำนาจของโลกนี้ โดยสำหรับยุโรปนั้น ถือว่าความไม่แน่นอนของการเติบโตทางเศรษฐกิจและความไร้เสถียรภาพด้านพลังงานในระยะยาวสกัดไม่ให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าแบบจริงจัง

3. ค่าเงินดอลลาร์ไม่แข็งในรอบนี้ เพราะกังวล US Recession

โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก สิ่งที่เรามักจะเห็นอยู่บ่อย ๆ นั่นคือ ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนั้นมักจะตามมาด้วยบรรดาประเทศ EM จะเริ่มเบี้ยวหนี้ต่างประเทศซึ่งมักจะอยู่ในรูปเงินสกุลดอลลาร์ แล้วประเทศ EM ก็เริ่มจะเกิดวิกฤตหนี้ต่างประเทศ

ในครั้งนี้ ปรากฏการณ์ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า เกิดขึ้นเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงต้นของการเกิดวิกฤตโควิด ในขณะที่บรรดาประเทศ EM ส่วนใหญ่ไม่ได้มีหนี้ต่างประเทศในรูปสกุลเงินดอลลาร์ในปริมาณมากมายดังเช่นในอดีต ขณะนี้ ค่าเงินดอลลาร์ค่อนข้างอยู่ในระดับที่อ่อนค่าเสียด้วยซ้ำนั้น ซึ่งเกิดจากความกังวลของหลายฝ่ายว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเกิดภาวะ Recession ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

4. ธนาคารกลาง EM ขึ้นดอกเบี้ยก่อน DM ในรอบนี้

โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศ EM ได้ถึงจุดสูงสุดในช่วงเวลานี้พอดี สำหรับวิกฤตโควิดในรอบนี้ ต้องยอมรับว่าบรรดาธนาคารกลางของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ไม่ว่าจะเป็นบราซิล เม็กซิโก และอาเซียน สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้แบบมีความรัดกุมมากกว่าในอดีตค่อนข้างมาก โดยเลือกที่จะขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างเร็ว ตั้งแต่ปี 2021 หลังเกิดวิกฤตโควิดประมาณปีเศษ ๆ หลังจากรัฐบาลของกลุ่มประเทศ EM ได้ประกาศออกมาตรการเงินช่วยเหลือและลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทันทีหลังเริ่มเกิดโควิดในเดือนมีนาคม 2020 ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มขึ้นดอกเบี้ยในวิกฤตรอบนี้ช่วงเดือนมีนาคม 2022 ยุโรปก็ขึ้นดอกเบี้ยในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งทั้งธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปยังคงยังต้องขึ้นดอกเบี้ยอยู่ในตอนนี้

5. EM หลายประเทศ รัฐบาลมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางในทางอ้อม

ด้วยวัฒนธรรมด้านการเมืองของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ อาทิ บราซิล และเม็กซิโก ผู้นำของรัฐบาลมักจะมีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณทั้งในทางตรงและทางอ้อมในการที่จะสื่อว่ารัฐบาลต้องการให้ธนาคารกลางลดหรือขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ยกตัวอย่างเช่น บราซิลในขณะนี้ ประธานาธิบดี ลูล่า เดอ ซิลวา ได้พยายามส่งสัญญาณให้ผู้ว่าการธนาคารบราซิลลดดอกเบี้ยในตอนนี้ได้แล้ว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อได้ลดลงมาพอสมควรแล้ว

ในขณะที่อัตราการว่างงานยังสูงอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้การลดดอกเบี้ยมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เป็นการเร่งให้ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ EM มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยลงค่อนข้างเร็วขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าค่าเงิน EM ใน Q3 ปี 2023 จะแข็งค่าขึ้น

6. สำหรับไทย รอสถานการณ์การเมืองนิ่งหลังรัฐบาลใหม่ และอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่จุดสูงสุด

เราคาดว่าจะเป็นไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งนั่นจะถึงจังหวะที่ฟันด์โฟลว์น่าจะกลับมาตาม EM ประเทศหลักอื่นๆ เนื่องจากความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศของเรายังคงมีอยู่สูง คาดว่าฟันด์โฟลว์จะค่อย ๆ ทยอยเข้ามาในบ้านเราในช่วงต้นปีหน้า

บทความโดย : ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ที่มา : บล. ลิเบอร์เรเตอร์

กำลังโหลดความคิดเห็น