xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเด่น ผู้ป่วยนอกแห่บินเข้าไทยใช้บริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มโรงพยาบาลทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ต่อเนื่อง หลายแห่งรายได้-กำไรปรับตัวเพิ่มตามยอดผู้ป่วยต่างชาติแห่บินมาใช้บริการ ขณะบางบริษัทรายได้-กำไรลดลงจากการลงทุนขยายกิจการ ด้านโบรกเกอร์ยกให้ “บำรุงราษฎร์” โดดเด่นสุดในกลุ่ม คาดครึ่งปีหลังการแข่งขันรุนแรง การบริโภคในประเทศชะลอตัว

ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/66 ที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และสำหรับกลุ่มโรงพยาบาลถือเป็นอีกอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจ โดยหลายโรงพยาบาลมีผลดำเนินงานที่เติบโต หรือมีการลดลงของกำไรสุทธิที่น่าสนใจ

เริ่มที่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (BDMS) ไตรมาส 2/66 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 24,372 ล้านบาท เติบโต 11% จากไตรมาส 2/65 จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่ารักษาพยาบาลร้อยละ 10 ตามการเติบโตของศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศ (Center of Excellence - COE) ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติ 22% และรายได้จากผู้ป่วยชาวไทยร้อยละ 7 จากไตรมาส 2/65 ทำให้มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 5,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และมีกำไรสุทธิจำนวน 3,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากไตรมาส 2/2565

นอกจากนี้ BDMS มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 48,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากครึ่งปีแรกของปี 2565 สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่ารักษาพยาบาล 7% โดยเฉพาะการเติบโตที่ดีจากรายได้ผู้ป่วยชาวต่างชาติร้อยละ 30 และรายได้ผู้ป่วยชาวไทยที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 (Thai-Non COVID) เติบโตสูงถึงร้อยละ 25 จากครึ่งปีแรกของปี 2565

ตามมาด้วย บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ไตรมาส 2/66 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 6,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 จาก 4,954 ล้านบาท ในไตรมาส 2/65 โดยกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.9 เป็น 1,748 ล้านบาท จาก 1,166 ล้านบาท ในไตรมาส 2/65 ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิเป็นร้อยละ 28.4 จาก 23.5 ในช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับผลดำเนินงาน 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีรายได้รวม 12,235 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.4 จาก 9,106 ล้านบาท ในชาวงเดียวกันปี 2565 ทำให้มีกำไรสุทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.2 เป็น 3,331 ล้านบาท จาก 1,891 ล้านบาทของครึ่งปีแรกของปี 2565

ขณะที่ บมจ.โรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9) ไตรมาส 2/66 มีรายได้ 1,015.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จาก 980.0 ล้านบาท ในไตรมาส 2/65 และมีกำไร 121.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับกำไรสำหรับงวดไตรมาส 2/65 จำนวน 124.8 ล้านบาท

ทำให้ ครึ่งปีแรกบริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 1,983.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จาก1,959.2 ล้านบาท และมีกำไรสำหรับงวดหกเดือนลดลงร้อยละ 18.5 จาก 281.8 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อน

ด้าน บมจ.เอกชัยการแพทย์ (EKH) ไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 310.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.73 จากจำนวน 246.9 1 ล้านบาท ในไตรสมาสที่ 2/65 สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้เข้ารับบริการทั้งในส่วนของผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน แต่มีการขาดทุนจากตราสารทุน จากการลงทุนในบริษัท เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม จำกัด (มหาชน) (KLINIQ) โดยบันทึกอยู่ในค่าใช้จ่ายในการบริหาร จำนวน 56.00 ล้านบาท ส่งผลทำให้มีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2/66 จำนวน 26.10 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 46.46 จากจำนวน 48.75 ล้านบาท ในไตรสมาสที่ 2/65

ส่วนผลดำเนินงานในรอบ 6 เดือน บริษัทฯ มีรายได้รวม 610.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.36 จากจำนวน 524.78 ล้านบาท ในงวด 6 เดือนปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของผู้เข้ารับบริการทั้งในส่วนของผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน และการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่น อย่างไรก็ตาม จากการบันทึกการลงทุน KLINIQ ส่งผลทำให้มีกำไรสุทธิในงวด 6 เดือน จำนวน 104.44 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.22 จากจำนวน 123.19 ล้านบาทในงวดเดียวกันปีก่อน

สำหรับ บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) มีอัตรากำไรสุทธิลดลงจากร้อยละ 31 ในไตรมาส 2/65 เป็นร้อยละ 11 หรือจาก 672 ล้านบาท มาอยู่ที่ 206 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ลดลงและการปรับลดรายได้ 46 ล้านบาท จากผลต่างการรับชำระเงินในส่วนของรายได้ค้างรับจากการการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงการเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ส่งผลให้มีอัตราต้นทุนเพิ่มขึ้น

ทำให้ผลดำเนินงานครึ่งปีแรกอยู่ที่ 446 ล้านบาท ลดลง 1,788 ล้านบาท หรือร้อยละ 80 จากงวดเดียวกันปี 2565 จากรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ลดลงอย่างมีสาระสำคัญ ขณะเดียวกันและในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้มีการขยายอัตรากำลังรวมถึงลงทุนในเครื่องมือแพทย์ต่างๆ เพื่อรับรองการรักษาผู้ป่วยในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ดังนั้น เมื่อกลับสู่ภาวะปกติทางบริษัทฯ จึงมีอัตราต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากทั้งจำนวนพนักงานและอัตราค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ปรับตัวมากขึ้น

ขณะที่ บมจ.ศิครินทร์ (SKR) ผลประกอบการไตรมาส 2/66 มีกำไรสุทธิ 227.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.43 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 171.73 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1,414.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.85 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,348.70 ล้านบาท โดยเติบโตจากรายได้กลุ่มคนไข้โรคยากที่มีความซับซ้อนโดยการผ่าตัดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลยุทธ์การรับรักษาลูกค้ากลุ่มประกันสังคมจากโรงพยาบาลอื่นกรณีเกินศักยภาพ ประกอบกับบริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่ารักษาพยาบาลลดลง อย่างไรก็ตามในงวด 6 เดือนแรกบริษัทมีกำไรสุทธิ 440 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 553 ล้านบาท

โบรกฯ ให้ BH โดดเด่นสุด

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ประเมินทิศทางธุรกิจ BH ว่า ที่ผ่านมาจัดเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากสุดในช่วงปี 63-64 เนื่องจากรายได้หลักมาจากลูกค้าต่างชาติที่ Fly-in มารับการรักษาโดยตรง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 56 ของรายได้ ดังนั้นการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ 1 พ.ย.64 ส่งผลให้ผู้ป่วยต่างชาติ Fly-in ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจน ทำให้กำไรทั้งปี 2565 อยู่ที่ 4,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 306 เทียบปีก่อน และผู้ป่วยต่างชาติยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก pending demand ที่ยังมีสูงมาก ทั้งผู้ป่วยจาก จีน CLMV และประเทศแถบตะวันออกกลาง

ทำให้เชื่อว่ารายได้จากผู้ป่วยต่างชาติยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะ Pending Demand จากคนไข้จากประเทศจีนที่ยังมีสูงมาก บวกกับไตรมาส 3/66 จะได้รับผลบวกจากภาคฤดูร้อนของชาวตะวันออกกลาง ที่นิยมเดินทางมารับรักษาพร้อมพาครอบครัวติดตามมาเที่ยวด้วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยจากประเทศซาอุดีอาระเบียมีแนวโน้มเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่ไทยกลับมาเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศซาอุดีอาระเบียในช่วงปีก่อน จึงมั่นใจว่ากำไรสุทธิในครึ่งปีหลังจะเติบโตจาก 6 เดือนแรก โดยกำไรสุทธิครึ่งปีแรกคิดเป็นร้อยละ 52 ของประมาณการ โดยคาดกำไรสุทธิของ BH ในปีนี้จะเติบโตร้อยละ 29 โดยมีราคาเป้าหมายปีนี้อิงวิธี DCF อยู่ที่ 280 บาท มี upside ร้อยละ 22.3

CHG เริ่มฟื้นตัว-ราคายังต่ำ

ส่วน บล.ทรีนิตี้ ประเมินทิศทางของ CHG ว่า รายได้ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 3.51 พันล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 45 เทียบปีก่อน และคิดเป็นร้อยละ 49 จากคาดการณ์ทั้งปีที่ 7.17 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 446 ล้านบาท ปรับตัวลดลง ร้อยละ 80 จากปีก่อนและคิดเป็นร้อยละ 40 ที่คาดการณ์ที่ 1.1 พันล้านบาท

สิ่งที่น่าสนใจ ในไตรมาส 3/66 บริษัทจะมีการเปิดบริการโรงพยาบาลใหม่อีก 1 แห่ง ได้แก่ Chularat Medical Center ที่รับผู้ป่วยมะเร็งทั้งจาก Chularat 3 และโรงพยาบาลใกล้เคียง ที่จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการรักษา โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเตียงจาก 793 เตียง เป็น 1,300 เตียง ภายในปี 2570 จากการเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาลที่ดำเนินการอยู่ และการสร้างโรงพยาบาลใหม่เพิ่ม ทำให้แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 3.94 บาท โดยปัจจุบัน CHG เทรดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 29X แม้ว่ารายได้และกำไรปี 2566-2567 จะลดลงจากฐานที่สูง แต่มองว่าจะเป็นการกลับสู่สถานการณ์ปกติที่มีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ทั้ง D/E ที่ระดับต่ำ

BCH เห็นสัญญาณเติบโต

ด้าน บล.บัวหลวง ระบุว่า ได้ประเมินหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเป็นกลาง (NEUTRAL) โดยให้ BH และ BCH เด่นสุด เนื่องจากสามารถเอาชนะโลว์ซีซันรอบนี้ได้ พร้อมแนะนำ "ซื้อสะสม" หุ้น BH อิงจากคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นต่อปริมาณผู้ป่วยจากฝั่งตะวันออกกลาง และการปรับเพิ่มประมาณการกำไรของตลาดในระยะสั้น และมองเห็นโอกาสในการเข้า "ซื้อ" หุ้น BCH อ้างอิงจากคาดการณ์การเติบโตของไตรมาส 2/66 เมื่อเทียบไตรมาส 1/66

สำหรับกำไรหลักไตรมาส 2/66 ของกลุ่มโรงพยาบาลที่ให้คำแนะนำอยู่ที่ 4,900 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 และร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 นำโดย BDMS และ CHG คาดรายได้ธุรกิจการแพทย์อยู่ที่ 34,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 และร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 และอัตรากำไรหลักอยู่ที่ 14.4% ลดลง 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 และร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66

ทั้งนี้ เชื่อว่า BH จะเอาชนะแนวโน้มของกลุ่มได้ด้วยกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 และร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 ทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) โดยได้แรงหนุนจากผู้ป่วยฝั่งตะวันออกกลางและค่ากำไรหลักของ BDMS ที่ 2,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 2565 แต่ลดลงตามปัจจัยฤดูกาลร้อยละ 19 เมื่อเทียบไตรมาส 1/2566

ขณะที่คาดกำไรหลักของ BCH อยู่ที่ 301 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 76 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 และคาดกำไร CHG ที่ 211 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 76

ผู้ป่วยต่างชาติหนุนทั้งกลุ่ม

ส่วน บล.ทิสโก้ ประเมินกลุ่มโรงพยาบาลว่า ภาพรวมไตรมาส 2/66 รายได้รวมลดลงเทียบปีก่อน จากการลดลงของการรักษาโควิด-19 นำโดย BCH และ CHG เมื่อพิจารณาจากเทียบไตรมาสก่อน รายได้น่าจะลดลงตามฤดูกาล ยกเว้น BCH เนื่องจากการเติบโตของผู้ป่วยต่างชาติ และเมื่อมองไปที่ช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าต้นทุนของโรงพยาบาลใหม่จะกดดัน CHG

ขณะที่โรงพยาบาลใหม่ของ BCH จะเปิดให้บริการต้นปีหน้า และ THG จะคงได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตของผู้ป่วยต่างชาติ และอัตราการใช้บริการโรงพยาบาลโดยรวมสูงขึ้น

โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ BDMS มูลค่าเหมาะสม 36.00 บาท โดยคาดการณ์ถึงผลดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากทั้งผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ ขณะที่อัตรากำไรเพิ่มขึ้นจากอัตราการใช้บริการที่สูงขึ้น ส่วน BCH แนะนำ “ถือ” โดยมูลค่าที่เหมาะสม 20.00 บาท และ CHG มูลค่าเหมาะสม 3.40 บาท ซึ่งถูกกดันจากค่าใช้จ่ายในการเปิดโรงพยาบาลใหม่ ขณะที่ THG แนะนำ “ขาย” โดยมูลค่าเหมาะสม 47.00 บาท จากราคาที่ยังแพงเกินไปตามการประเมินมูลค่า

ขณะเดียวกัน เมื่อประเมินมูลค่าของกลุ่มโรงพยาบาลภายใต้การวิเคราะห์ EV/EBITDA 66 โดยมี Upside ที่สำคัญ ได้แก่ การฟื้นตัวของผู้ป่วยต่างชาติที่เร็วกว่าที่คาด และผลประโยชน์จากการตลาดที่สูงกว่าที่คาดไว้ผู้ป่วยชาวไทย โดยความเสี่ยงเชิงลบที่สำคัญได้แก่การชะลอตัวผู้ป่วยต่างชาติ อัตรากำไร EBITDA ที่ต่ำกว่าคาดจากต้นทุนคงที่และผันแปร การแข่งขันที่รุนแรงจากโรงพยาบาลในประเทศ และการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น