นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า AI คือศาสตร์แขนงหนึ่งในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้เครื่องจักรและซอฟต์แวร์สามารถเลียนแบบความฉลาดของมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลข้อมูล การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ไปจนถึงการตัดสินใจ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ AI สามารถทำได้ด้วยผ่านการป้อนข้อมูลจากมนุษย์
ด้วยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและศักยภาพของ AI ที่จะมาปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงทำให้หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก อย่าง ไมโครซอฟต์ กูเกิล แอปเปิล หรือเมตา เริ่มทดสอบการใช้งานบอท AI และระบบต่างๆ โดย AI ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานของหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการเงิน และล่าสุดกับอุตสาหกรรมบล็อกเชน โดยบล็อกเชนถือเป็นเทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology - DLT) ที่สามารถใช้งานเพื่อบันทึกการทำธุรกรรมต่างๆ ที่ปลอดภัยและคงไว้ซึ่งลักษณะเดิมได้โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อีกทั้งบอท AI อย่าง ChatGPT ยังสามารถนำมาใช้สร้างแอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นหลักเพื่อมอบการทำธุรกรรมรวมทั้งการแบ่งปันข้อมูลที่ปลอดภัยให้กับผู้ใช้ได้
ก่อนที่จะมาเจาะลึกว่า AI สามารถกลายมาเป็นเครื่องมืออันแสนทรงพลังของเหล่านักพัฒนาบล็อกเชนได้อย่างไร เรามาเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ถึงคุณสมบัติพื้นฐาน 2 ประการของบล็อกเชนที่สามารถทำให้การทำงานร่วมกับ AI นั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่าง AI และ บล็อกเชน
หนึ่งในหลักการพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชนคือลักษณะของการทำงานร่วมกันผ่านโค้ดของบล็อกเชนและโปรโตคอลพื้นฐานนั้นถูกทำให้เป็นสาธารณะและสามารถถูกแก้ไขปรับเปลี่ยนหรือเผยแพร่โดยใครหรือสิ่งใดก็ได้ทั้งสิ้น นักพัฒนาที่ใช้ AI สามารถใช้ทรัพยากรจากแหล่งข้อมูลแบบเปิดเพื่อพัฒนาการทำงานของบล็อกเชนหรือแม้กระทั่ง สร้างบล็อกเชนขึ้นมาใหม่ได้ตั้งแต่แรกเริ่ม
แหล่งรวมข้อมูลจำนวนมหาศาล
เนื่องจากอุตสาหกรรมต่างๆ พยายามที่จะสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าประหลาดใจเลยที่บล็อกเชนจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล โดยข้อมูลในด้านการกำหนดค่าเครือข่าย การตั้งค่าอุปกรณ์ จำนวนการรับส่งข้อมูล การสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้ และการบันทึกความปลอดภัยสามารถกลายมาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งยังช่วยระบุรูปแบบของข้อบกพร่องหรือช่องโหว่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่ง AI จะมาช่วยทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าการวิเคราะห์โดยมนุษย์ พร้อมทั้งยังทำหน้าที่ในการช่วยดึงข้อมูลเชิงลึกในแง่ต่างๆ มาให้นักพัฒนาได้เข้าใจสถานะของบล็อกเชนในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น
AI ช่วยให้ผู้ใช้ทำงานง่ายขึ้นได้อย่างไร
การวิเคราะห์ข้อมูลและตลาด
นักพัฒนาสามารถใช้ AI เพื่อช่วยในการขุดข้อมูลจำนวนมหาศาลจากหลากหลายแหล่งข้อมูล รวมถึงนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมกับการระบุหรือทำนายเทรนด์ ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลให้นักพัฒนามีเวลาเหลือ เพื่อไปโฟกัสกับการออกแบบบล็อกเชนได้อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการเลือกฟีเจอร์ การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจที่สมเหตุสมผล การตัดสินใจด้านกลไกฉันทามติและการวางแผนงานของคุณสมบัติต่างๆ อย่างมี กลยุทธ์มากขึ้น
การพัฒนาสัญญาอัจฉริยะ
สัญญาอัจฉริยะถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของบล็อกเชนเนื่องจากเป็นลำดับรหัสชั้นบนสุดของระบบที่ช่วยในการดำเนินการด้านธุรกรรมและการใช้งานกรณีอื่นๆ เช่น การพัฒนากระเป๋าเงิน
โดยบอท AI จะเข้ามาช่วยนักพัฒนาในการเขียนรหัสเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ ตรรกะ และการดำเนินงานของสัญญาอัจฉริยะ เพื่อให้เข้ากับบล็อกเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยทดสอบรหัสเพื่อให้มั่นใจว่าฟังก์ชันของบล็อกเชนสามารถทำงานได้อย่างไร้ขอบเขต
การค้นหาและทำนายข้อผิดพลาด
การค้นหาและกำจัดข้อผิดพลาดในระบบอันแสนซับซ้อนของบล็อกเชนด้วยตนเองอาจทำให้เสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้น AI จึงกลายมาเป็นตัวเลือกที่ดีในการค้นหาข้อผิดพลาด เนื่องจากบอท AI สามารถถูกเขียนโปรแกรมให้ทำหน้าที่สร้างและทดสอบระบบต่างๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของรหัส การแก้ไขข้อผิดพลาดง่ายๆ รวมถึงการติดตามตรวจสอบและบันทึกข้อผิดพลาดต่างๆ ในระบบผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลได้อีกด้วย
ระบบ AI ที่ซับซ้อนสามารถทำได้แม้กระทั่งการวิเคราะห์รหัสและจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อทดสอบระบบการทำงานของบล็อกเชนหรือสัญญาอัจฉริยะ พร้อมคาดการณ์ข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นและวางแผนแก้ไขล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพก่อนนำไปใช้กับบล็อกเชนเพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้
การเพิ่มประสิทธิภาพบล็อกเชน
AI ช่วยส่งเสริมการทำงานของบล็อกเชนด้วยการใช้ Machine learning หรือการให้ระบบคอมพิวเตอร์เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น การให้ซอฟต์แวร์ AI ขั้นสูงวิเคราะห์จุดอ่อนของบล็อกเชนที่สมควรได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นในด้านความสามารถของการขยายเครือข่าย (Scalability) ความคุ้มค่า (Cost-efficiency) หรือความปลอดภัย (Security) โดย AI ยังสามารถช่วยเพิ่มความแม่นยำให้กับการทำธุรกรรม พร้อมกับการพัฒนาสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ให้เป็นระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มความถูกต้องและรวดเร็ว รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ช่วยนักพัฒนาในการเพิ่มประสิทธิภาพการขุดรหัสข้อมูลได้อีกด้วย
AI ความเป็นไปได้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด
ถ้า AI สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาบล็อกเชนได้ เทคโนโลยีดังกล่าวก็น่าจะสามารถนำมาใช้ในพัฒนากระเป๋าเงิน (Wallet) และแอปพลิเคชันแบบกระจายอำนาจ (DApps) ได้ด้วยเช่นกัน หากได้รับการป้อนข้อมูลที่เหมาะสมจากเหล่านักพัฒนา โดย AI ยังสามารถนำมาใช้ในการสร้างโซลูชันเพื่อการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างระบบอัตโนมัติเพื่อกระบวนการพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (KYC) รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคาดการณ์การฉ้อโกงบนบล็อกเชนได้ด้วยเช่นกัน
ข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคของ AI
ถึงแม้ว่า AI จะทำให้กระบวนการสร้างบล็อกเชนง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ AI ก็ยังไม่สามารถมาแทนที่มนุษย์ได้ เนื่องจากซอฟต์แวร์ AI ในปัจจุบันยังคงต้องพึ่งพาการตัดสินใจของนักพัฒนาที่เป็นมนุษย์ ทั้งในด้านการตีความมูลค่าเชิงพาณิชย์ของฟีเจอร์บล็อกเชนที่ AI ยังไม่สามารถทำได้ รวมถึงการเขียนโค้ดโปรแกรมต่างๆ ที่ถึงแม้ AI จะทำได้ดี แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะกระบวนการดังกล่าวยังคงต้องอาศัยการพัฒนาโปรแกรม และการป้อนข้อมูลที่จำเป็นโดยมนุษย์ให้กับ AI ก่อนการเริ่มดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้ นักพัฒนามีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยจะแบ่งหน้าที่ให้นักพัฒนาได้มีเวลามุ่งเน้นไปที่การออกแบบเชิงแนวคิด ในขณะที่เทคโนโลยี AI จะมาช่วยในการดำเนินการด้านโปรแกรมแทน ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลให้เกิดวิวัฒนาการใหม่ในแง่แนวทางปฏิบัติการ พร้อมทำให้อุตสาหกรรมคริปโตเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างอย่างแน่นอน