xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT เดินหน้าเป้าหมาย "ASEAN Reach" ลุ้นสินเชื่อต่างประเทศเฉียดแสนล้านในสิ้นปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า หลังจากธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปักธงชัดเจนในยุทธศาสตร์ ‘Digital-led Bank with ASEAN Reach’ โดยประกาศมีความพร้อมที่จะพาลูกค้าไปเติบโตอาเซียน และเดินตามแผนมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา จากการเป็นผู้ให้คำปรึกษาและเป็นตัวกลางทางการเงิน พบว่า บริษัทของไทยที่มีแผนชัดเจนจะไปเปิดตลาดในต่างประเทศ มีหลากหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ พลังงาน ปิโตรเคมี ค้าปลีก อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป เป็นต้น โดยรูปแบบของการออกไปขยายตลาดมีครบทุกรูปแบบ ทั้งการลงทุนขยายกิจการ การซื้อกิจการ และการควบรวมกิจการ

โดยประเทศปลายทางในภูมิภาคอาเซียนที่บริษัทไทยนิยมไปเปิดตลาด ได้แก่ ประเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยอินโดนีเซีย มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน จำนวน 275 ล้านคน เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงมาก ภาคธุรกิจดาวรุ่งคือ ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป เช่นเดียวกับเวียดนามมีจำนวนประชากรสูงเกือบ 100 ล้านคน และมีการเติบโตของ GDP ในปี 2565 สูงถึง 8% จึงเป็นที่นิยมในการเป็นฐานการผลิต ที่ตั้งโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม ด้านกัมพูชา มีโอกาสขยายตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งคนกัมพูชานิยมบริโภคสินค้าไทย ขณะที่มาเลเซีย เป็นประเทศเพื่อนบ้าน มีโอกาสเข้าถึงง่าย และมีตลาดของอาหารฮาลาล ส่วนสิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางด้านการค้าขาย หรือ Trading Hub

นอกเหนือจากกลุ่มประเทศอาเซียน ยังมีประเทศจีนเป็นอีกประเทศที่เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงอย่างที่ทุกคนทราบกัน กลุ่มซีไอเอ็มบีมีเครือข่ายสาขาทั้งในเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง ทางธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นอกจากโฟกัสตลาดหลักในอาเซียน ยังพร้อมพาลูกค้าไปเปิดตลาด beyond ASEAN อีกด้วย

จากการทำงานเป็นสะพานเชื่อมพาลูกค้าไปขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่องหลายปี พบว่า อุปสรรคที่ทำให้บริษัทไม่ออกไปเปิดตลาดเพราะ 1.ด้านกฎระเบียบกฎเกณฑ์ 2.ความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายของประเทศที่ไปลงทุน 3.การแข่งขันในตลาดของแต่ละประเทศ 4.ด้านวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น 5.ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและธุรกรรมการเงิน

สำหรับบริษัทที่ก้าวข้ามขีดจำกัดตรงนี้ได้ การออกไปเปิดตลาดต่างประเทศ ในระยะเวลาที่เข้าที่แล้ว พบว่า ช่วยให้บริษัทเติบโตก้าวกระโดด เปิดตลาดใหม่ ขยายฐานลูกค้าใหม่ ได้พันธมิตรรายใหม่ สามารถเพิ่มรายได้จากการขยายฐานธุรกิจให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่ 20% ถึงกว่า 100% ในระยะยาว ที่สำคัญคือเป็นการกระจายความเสี่ยงในด้านการมีตลาดหลากหลายประเทศ และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน

**ลุ้นสิ้นปีสินเชื่อ ตปท.ใกล้แสนล้าน**
สำหรับในครึ่งแรกปี 2566 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า เป็นตัวกลางพาลูกค้าขยายตลาดทุกรูปแบบ เฉพาะธุรกรรมสินเชื่อการลงทุนในต่างประเทศเติบโตไปแล้วกว่า 70% เทียบกับปลายปีที่แล้ว หรือมียอดคงค้างรวม 66,000 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่มียอดคงค้าง 38,000 ล้านบาท และคาดว่า ณ สิ้นปีนี้จะมียอดคงค้างใกล้ระดับ 100,000 ล้านบาท

"ลูกค้าที่ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยหลักจะมี 3 รูปแบบคือการลงทุนเปิดตั้งบริษัทใหม่ การร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นในประเทศนั้นเพื่อเติมเต็มความชำนาญของแต่ละแห่ง และการซื้อกิจการซึ่งจะมีสัดส่วนในพอร์ตค่อนข้างมากเพราะมีมูลค่าดีลที่สูง ซึ่งขณะนี้เรามีดีล M&A อยู่ 3-4 ดีล มูลค่าเฉลี่ย 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะสิ้นปีนี้จะปิดได้ 2-3 ดีล ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้สินเชื่อการลงทุนในต่างประเทศใกล้แสนล้านบาทได้"

สำหรับสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ในประเทศในปีนี้ตั้งเป้าหมายเติบโต 11% หรือมียอดคงค้างที่ 81,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2565 ที่มียอดคงค้าง 73,000 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ประมาณ 2% โดยธนาคารมีความระมัดระวังในการพิจารณาเนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีวงเงินสูงหากมีปัญหาจะกระทบเอ็นพีแอลค่อนข้างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น