xs
xsm
sm
md
lg

ไฟลามทุ่ง เคส “แอชตัน อโศก” ทำพิษ คอนโดฯ แนวรถไฟฟ้า ตบเท้าชี้แจงลูกบ้าน-ผู้บริโภค หวั่นลูกค้าไม่มั่นใจใบอนุญาตก่อสร้างถูกต้องหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง โครงการ “แอชตัน อโศก” โครงการคอนโดมิเนียมหรู ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุน ระหว่างบริษัท อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ภายหลังจากมีปัญหาถูกร้องเรียนเรื่องทางเข้าออกโครงการ ตามข้อกำหนดอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ รวมถึงการใช้ที่ดินของ รฟม. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีความยืดยาวมานานหลายปี โดยล่าสุด “อนันดา” ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง จะเรียกร้องค่าเสียหายกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเยียวยาลูกบ้าน โดยจะหาทางออกพูดคุยกับทางกรุงเทพมหานคร และ รฟม. ภายในระยะเวลา 14 วัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินในคดีที่เกี่ยวข้องกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และพวก (ผู้ฟ้องคดี) ที่ยื่นฟ้องต่อหน่วยงานรัฐ (ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เพื่อพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร รวมถึง บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ที่ไม่ได้ถูกฟ้องคดีโดยตรง แต่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาดังกล่าว

โดยศาลปกครองสูงสุดตัดสินในเรื่องที่ดินของ รฟม. ที่ไม่สามารถให้บริษัทฯ ใช้ในโครงการได้ ทำให้หน่วยงานรัฐไม่สามารถออกใบอนุญาตก่อสร้างตามกฎหมาย ซึ่งมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อกฎหมาย ถ้ารัฐอนุมัติหรืออนุญาตให้มีการกระทำบางอย่าง รัฐต้องดำเนินการตามกฎหมายด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ไม่เสียหายให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการ หากมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วสร้างความเสียหาย หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบและเร่งดำเนินการเยียวยาความเสียหายอย่างเร่งด่วน

ดังนั้น ผลการพิจารณาคำพิพากษานี้ทำให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ซึ่งรวมถึงเจ้าของร่วมอาคารชุด และบริษัทฯ หากหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติก่อน โครงการนี้จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งในกรณีนี้ อนันดาฯ ได้เดินหน้าดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเยียวยาความเสียหายให้เจ้าของร่วมอาคารชุด โดยจะประสานงานคณะกรรมการนิติบุคคล พร้อมทั้งขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยภายใน 14 วัน

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองความเสียหายตามสัดส่วนการถือหุ้นที่บริษัทร่วมทุนในโครงการ แอชตัน อโศก ในส่วนของห้องชุดพักอาศัยที่ยังไม่ได้มีการขายออกไปซึ่งมีมูลค่าที่ต้องตั้งสำรองเข้ามาในงบการเงินของบริษัทราว 250-300 ล้านบาท โดยปัจจุบันโครงการ แอชตัน อโศก ขายไปแล้ว 87% จากมูลค่าโครงการ 6,480ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แต่ในส่วนของผู้ถือหุ้นกู้นั้นยืนยันว่าไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นเพราะการตั้งสำรองที่เกิดขึ้นถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินของบริษัทและบริษัทยังมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทอย่างครบถ้วน

“ยอมรับว่ากรณีของ “แอชตัน อโศก” ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติที่จะเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในไทยจากการตีความกฎหมายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพันธมิตรญี่ปุ่นของเราที่อาจจะมีความสงสัยอยู่บ้างและเรายืนยันการดำเนินการโดยสุจริต อย่างไรก็ดี กรณีที่เกิดขึ้นทำให้มีโครงการที่เราเปรียบเทียบที่ดำเนินการในลักษณะที่เหมือนกันกับ “แอชตัน อโศก” ซึ่งมีกว่า 13 โครงการที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน และยังมีอีกหลายโครงการที่ดำเนินการในลักษณะใกล้เคียงกันราว 100 โครงการ ซึ่งเราไม่อยากให้กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อวงการอสังหาฯ ไทยจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาทางออกเยียวยา และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านและบริษัทที่ได้รับผลกระทบ”

ขณะที่อนันดาฯ เดินหน้าเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐร่วมกันหาทางออกและเยียวยาเจ้าของร่วมในโครงการ “แอชตัน อโศก” บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ๆ ที่มีการพัฒนาโครงการในแนวรถไฟฟ้าซึ่งมีการขอใช้ทางร่วมกับ รฟม. ในการเปิดทางเข้าออกโครงการคล้ายๆ กันต่างดาหน้าออกมาชี้แจงกรณีการขออนุญาต และดำเนินการโครงการของตัวเองเพื่อสร้างความเข้าใจและเชื่อมั่นให้ลูกค้าและผู้อยู่อาศัยในโครงการ

“การที่บริษัทอนันดาฯ บอกว่ายังมีอีก 13 โครงการมีลักษณะคล้ายกันนั้น คำพิพากษาผูกพันเฉพาะคู่ความ คือ โครงการแอชตัน อโศก ซึ่งแต่ละโครงการมีข้อเท็จจริงแตกต่างกัน เพราะไม่ใช่ลักษณะเดียวกันทั้งหมดอย่าเหมารวม นอกจากนี้การสร้างทางเชื่อม หรือสกายวอล์กกับสถานีรถไฟฟ้าเป็นการเชื่อมสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถไฟฟ้าไปอาคารต่างๆ ทำให้คนโดยสารรถไฟฟ้าไม่ต้องลงมาเดินทางเท้า” นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าว

ทั้งนี้ แต่การเชื่อมทางในลักษณะของบริษัทอนันดาซึ่งได้รับอนุญาตเมื่อปี 2557 เป็นการเชื่อมจากอาคารหรือที่ดินของเอกชนเพื่อออกสู่ถนนสาธารณะ ไม่ได้ถือเป็นการเชื่อมกับการบริการรถไฟฟ้าเป็นเรื่องเฉพาะโครงการที่จะทำให้โครงการสามารถเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ตามกฎกระทรวงของพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และ รฟม.จะไม่มีการอนุญาตในลักษณะนี้อีกแล้ว ส่วนการอนุญาตสกายวอล์กเป็นคนละกรณีกันด้วย

ธงชัย บุศราพันธ์
 "โนเบิล" แจงข้อแตกต่างการใช้ทางร่วม รฟม.

นายธงชัย บุศราพันธ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์
จำกัด (มหาชน)
กล่าวว่า บริษัทมีโครงการคอนโดฯ อยู่ติดกับรถไฟฟ้าที่ใช้ทางเข้าออกของรัฐแต่ไม่เหมือนกับโครงการแอชตัน อโศก เพราะไม่ได้ขอเพิ่มขนาดทางหรือขยายพื้นที่ไม่ว่าโครงการ นิว โนเบิล รัชดา-ลาดพร้าว บริเวณอาคารจอดรถสถานีลาดพร้าว โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ตรงอาคารจอดแล้วจรสถานีศูนย์วัฒนธรรม ซึ่ง รฟม.อนุญาตให้ใช้ทางเข้าออกอาคารจอดรถแบบไม่กำหนดระยะเวลา โดยทางเข้าออกที่ รฟม. อนุญาตให้ใช้ยังคงสภาพเป็นทางเข้าออกเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคลใดโดยผิดวัตถุประสงค์เดิม

เพื่อทำความเข้าใจให้ลูกค้า “โนเบิล” ขอชี้แจงข้อแตกต่างการใช้ทางร่วมกับทาง รฟม. ซึ่งเป็นคนละกรณีกับประเด็นที่มีปัญหาของ ASHTON ASOKE เนื่องจากโครงการนิว โนเบิล รัชดา-ลาดพร้าว และโนเบิลรีวอลฟ์ รัชดา มีความแตกต่างในเรื่องของสภาพทางเข้าออกโครงการที่ รฟม.อนุญาตให้ใช้ค่อนข้างชัดเจน ด้วยทางเข้าออกอาคารที่ทาง รฟม.สร้างไว้เดิมอยู่แล้วเพื่อไปอาคารจอดแล้วจร ตรงตามวัตถุประสงค์เดิมของการเวนคืนซึ่งโนเบิลได้มีการขออนุญาตใช้ทางเข้าออกนี้ในรูปแบบที่ไม่ได้มีการดัดแปลงแก้ไขจากสภาพเดิมที่มีอยู่เลย ซึ่งเดิมเคยถูกใช้งานอย่างไร ปัจจุบันยังถูกใช้งานเช่นนั้นซึ่งเป็นสิทธิเดิมที่มีอยู่แล้วจากเจ้าของที่ดินเก่าไม่ได้มีการดัดแปลงการใช้งานเพื่อใช้เปลี่ยนแปลงประโยชน์การใช้ที่ดินแต่อย่างใด ดังรายละเอียด

โดยโครงการ “นิว โนเบิล รัชดา-ลาดพร้าว” นั้นโนเบิลขอชี้แจงดังนี้

NOBLE ได้ยื่นขอ EIA โดยใช้ทางเข้าออกทางฝั่งถนนรัชดาภิเษก ซึ่งทางเข้าออกเป็นที่ดินของ รฟม. ที่เวนคืนที่ดินไป ทำให้ที่ดินแปลงโครงการไม่มีทางเข้าออก ดังนั้น รฟม. จึงอนุญาตให้ใช้ทางเข้าออกอาคารจอดรถแล้วจรของ รฟม. ซึ่งในปัจจุบันเป็นทางเข้าออกของโครงการได้ในแบบที่ไม่มีเงื่อนระยะเวลา โดยการอนุญาตดังกล่าวได้มาตั้งแต่สมัยที่ที่ดินยังเป็นของเจ้าของที่ดินเดิมแล้ว ซึ่งในการอนุญาต ทางเจ้าของที่ดินเดิมได้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้ทาง รฟม. ไปเรียบร้อยแล้ว

โครงการสามารถเข้าออกได้ผ่านเส้นทางนี้เพียงทางเดียวซึ่งเป็นทางที่คนทั่วไปสามารถขับรถผ่านเพื่อนำรถเข้ามาจอดในอาคารจอดแล้วจรได้ หรือจะเดินไปใช้บริการรถใต้ดิน ก็ได้เช่นกัน

รูปแบบการใช้งาน คือใช้เป็นทางเข้าออกและเป็นการใช้ในแบบที่ไม่ได้มีการดัดแปลงไปจากเดิมเลยยังคงใช้งานตามวัตถุประสงค์เดิมทุกประการ จึงเรียกได้ว่าเป็นทางเข้าออกที่ รฟม. อนุญาตให้ใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

ในการณีนี้ ทาง รฟม. ได้ขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องการอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้จากการเวนคืนซึ่ง รฟม. ใช้เป็นทางเข้าออกอาคารจอดรถสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าของ รฟม.เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ เป็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินนอกเหนือวัตถุประสงค์ของการเวนคืนหรือไม่

ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความมาแล้วว่าในกรณีของโครงการนิว โนเบิล รัชดา-ลาดพร้าว สามารถกระทำได้ เนื่องจากการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออกดังกล่าวไม่ได้ทำให้วัตถุประสงค์ของการเวนคืนเดิมต้องเสียไป และ รฟม.ยังคงใช้ที่ดินดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนได้ส่วนโครงการ “โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา2” โนเบิลขอชี้แจงดังนี้

โครงการโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา ทั้ง 1 และ 2 ทาง NOBLE ยื่นขอ EIA โดยใช้ที่ตรงรัชดาซอย 6 เป็นทางเข้าออกหลักเพียงอย่างเดียวตั้งแต่แรก และในปัจจุบันตรงซอย 8 ทางเจ้าของที่ดินมีการกั้นรั้วเอาไว้ไม่ให้ผ่านเข้าออก ทางเข้าออกที่ รฟม.อนุญาตให้ใช้ บริเวณปากซอยรัชดา 6 นี้แบ่งออกเป็นทั้งที่ดินของเจ้าของเดิม รวมกับที่ดิน รฟม. ที่เวนคืนมา โดยที่ดินของเจ้าของเดิมทางโนเบิลเอามาจดเป็นภาระจำยอมเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกร่วมกันของทั้ง 2 โครงการแล้ว เหลือที่ดินของ รฟม. เล็กนิดเดียว ซึ่งได้รับอนุญาตจาก รฟม.ให้ใช้เป็นทางเข้าออกเพื่อวัตถุประสงค์ในการผ่านเข้าออกโครงการในแบบไม่มีเงื่อนเวลา โดยที่ทาง รฟม. ไม่ได้คิดค่าตอบแทน

โนเบิลเองไม่ได้ไปปรับเปลี่ยนดัดแปลงรูปแบบการใช้งานใดๆ ในส่วนของทางเข้าออกที่ รฟม. อนุญาตให้ใช้ตรงนี้ แบบเดียวกับที่นิว โนเบิล รัชดา-ลาดพร้าว คือไม่ได้ผิดจากวัตถุประสงค์เดิมของการเวนคืนแต่อย่างใด ซึ่งเดิมทาง รฟม. ทำไว้เป็นทางเข้าออกของลานจอดรถอยู่แล้ว ทางเข้าออกเรานี้จึงชอบด้วยกฎหมาย และ รฟม. ยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้เพื่อกิจการรถไฟฟ้าได้เหมือนเดิมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน

อุทัย อุทัยแสงสุข
“แสนสิริ” ชี้ที่ดินหน้าเดอะ เบส เวนคืนแบบรอนสิทธิ ยังใช้สิทธิเข้าออกได้เหมือนเดิม

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียม เดอะ เบส การ์เดนท์ พระราม 9 ซึ่งเจ้าของที่ดินเดิมถูกการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เวนคืนที่ดินด้านหน้าโครงการซึ่งเป็นการเวนคืนแบบรอนสิทธิทำให้ที่ดินเดิมยังสามารถใช้สิทธิเข้าออกได้เหมือนเดิม อีกโครงการ เดอะ เบสเพชรเกษม ซึ่งที่ดินบริเวณด้านหน้าโครงการ ทาง รฟม.เวนคืนไปเป็นรูปแบบรอนสิทธิเช่นกัน จึงยังสามารถเข้าออกได้เหมือนเดิมซึ่งบริษัทยืนยันว่าทั้ง 2 โครงการนี้ดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันโครงการขายหมดแล้ว

“หลังมีข่าวออกมามีลูกบ้านสอบถามแต่เราอธิบายไปหมดแล้ว แจกแจงให้ดูว่ามีกฎหมายรอนสิทธิทำให้ยังสามารถได้สิทธิเข้าออกเหมือนเดิม ซึ่งเรามีการตรวจสอบข้อมูลกฎหมายในทุกมิติ ถ้าที่ดินตรงไหนทำได้ เราก็ทำ ถ้าไม่ได้เราก็ไม่ทำ ซึ่งที่ดินแต่ละแปลงจะมีข้อกฎหมายไม่เหมือนกัน สร้างอะไรได้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม คงส่งผลกระทบบ้างในระยะสั้นต่อการซื้อขายคอนโดมิเนียม” นายอุทัย กล่าว

ทั้งนี้ ตามข้อมูลการพัฒนาโครงการของแสนสิริ ระบุว่า โครงการเดอะ เบสการ์เดนท์-พระราม 9 นั้น ที่ดินโครงการด้านหน้าติดแนวเขตที่ดินที่ได้ถูกเวนคืนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งการเวนคืน ทำให้ "แสนสิริ" ถูกรอนสิทธิทางเข้าออกที่ดินทาง กทพ.จึงได้ให้สิทธิทางเข้าออกไม่ให้เป็นที่ตาบอดตามสิทธิเดิม ขณะที่โครงการ เดอะ เบส เพชรเกษม ซึ่งที่ดินโครงการด้านหน้าติดแนวเขตที่ดินที่ได้ถูกเวนคืนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยการเวนคืน ทำให้แสนสิริ ถูกรอนสิทธิทางเข้าออกตัวที่ดินทาง รฟม. จึงได้ให้สิทธิทางเข้าออก แสนสิริไม่ให้เป็นที่ตาบอดตามสิทธิเดิม

“ดังนั้น แสนสิริขอยืนยันว่า โครงการเดอะ เบส การ์เดนท์-พระราม 9 และเดอะ เบสเพชรเกษม ได้รับการอนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายและขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่าแสนสิริดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลเสมอมา”

อัษฎา แก้วเขียว
ขณะที่ “วิซดอม พินนาเคิล คอร์ปอเรชั่น” เป็นอีกค่ายอสังหาฯ ที่ต้องเร่งออกมาชี้แจงและให้ข้อมูลกับลูกค้าผู้ซื้อโครงการ “วิสซ์ดอมอเวนิว รัชดา-ลาดพร้าว” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีทางเข้าออกโครงการที่ถูกมองว่ามีส่วนคล้ายคลึงกับกรณีของโครงการ “แอชตัน อโศก” โดยนายอัษฎา แก้วเขียว กรรมการ บริษัท วิซดอม พินนาเคิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือบริษัทแมคโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ผู้พัฒนาโครงการ วิสซ์ดอม อเวนิวรัชดา-ลาดพร้าว ได้ออกแถลงการณ์ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับที่ดินของโครงการวิสซ์ดอมอเวนิว รัชดา-ลาดพร้าว ว่า

โครงการวิสซ์ดอม อเวนิว รัชดา-ลาดพร้าวตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 13046 และ 13062 ซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 13046 เป็นที่ดินที่มีการเชื่อมทางเข้าออกของโครงการสู่ถนนลาดพร้าว มีสิทธิเดิมสามารถขึ้นอาคารขนาดใหญ่พิเศษและอาคารสูงตามกฎหมายควบคุมอาคารได้อย่างถูกต้องอยู่แล้วเพราะมีด้านหน้าของที่ดินเกินกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะคือถนนลาดพร้าวมาตลอด ถือเป็นสิทธิดั้งเดิมที่เจ้าของที่ดินมีอยู่แต่ต้น

โดยทางเข้าออกของโครงการวิสซ์ดอม อเวนิวรัชดา-ลาดพร้าวนั้น เมื่อมีโครงการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทาง รฟม.ได้ออกประกาศ เรื่องกำหนดประเภทการขออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนสามารถใช้ที่ดินของ รฟม.ที่เวนคืนมานั้นเป็นทางผ่านของที่ดินออกสู่ถนนสาธารณะเพื่อพัฒนาที่ดินเป็นโครงการอาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารสูงได้ตามสิทธิเดิมที่เคยมี

ที่ดินโฉนดเลขที่ 13046 จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศของ รฟม.ทุกประการ เจ้าของที่ดินได้รับใบอนุญาตให้ผ่านทางได้ตามประกาศ โดยในช่วงแรกเจ้าของที่ดินเดิมได้สิทธิผ่านเข้าออกขนาดกว้าง 4.5 เมตรตามขนาดความต้องการใช้ประโยชน์ประเภทบ้านอยู่อาศัยและภายหลังเจ้าของที่ดินเดิมได้แจ้งความประสงค์เปลี่ยนประโยชน์การใช้ที่ดินเป็นการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารขนาดใหญ่พิเศษและอาคารสูง

จึงได้รับอนุญาตให้ขยายขนาดทางเข้าออกและอนุญาตให้ผ่านทางเป็น 12.5 เมตร ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บริษัทฯ ยังไม่ได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และใบอนุญาตที่ออกตามประกาศของ รฟม. จึงยังคงมีผลบังคับใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาจากเจ้าของเดิมในปี 2557 บริษัทฯ จึงได้รับโอนสิทธิในการพัฒนาที่ดินและสิทธิในการใช้ที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่านต่อมาจากเจ้าของที่ดินเดิมอย่างสมบูรณ์

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ที่ออกมาสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความกังวลของผู้บริโภคที่ซื้อคอนโดมิเนียมในแนวรถไฟฟ้าโครงการต่างๆ เป็นวงกว้าง ขณะเดียวกัน ก็สั่นสะเทือนตลาดคอนโดมิเนียมในกลุ่มนักลงทุนและผู้ซื้อในกลุ่มชาวต่างชาติอย่างมาก จากนี้ไปคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรต่อตลาดคอนโดฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เพราะในช่วงครึ่งปีแรกต้องยอมรับว่าแย่กว่าคาดการณ์ไว้ ยิ่งต้องมารับผลกระทบจากปัญหาของโครงการแอชตัน อโศกด้วยแล้วจะมีส่วนทำให้โครงการแนวรถไฟฟ้าต้องชะลอตามไปด้วยหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น