xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 34.33 แนวโน้มผันผวนในทางอ่อนค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย คาดกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.45 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม กนง. และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.50 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง.ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 ส.ค.) ที่ระดับ 34.33 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิดวันอังคารที่ 1 สิงหาคม) โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนลักษณะ sideway up หรือทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 34.21-34.43 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้าน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับฐานของราคาทองคำ ก่อนที่เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้างหลังราคาทองคำรีบาวนด์ขึ้น

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ท่ามกลางแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าเงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก และมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้างหาก กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินบาทอาจจะทยอยแข็งค่าขึ้นได้ในกรณีดังกล่าว แต่เรามองว่าความวุ่นวายของสถานการณ์การเมืองไทยอาจทำให้ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติยังไม่กล้ากลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยอย่างชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจขาดแรงหนุนที่จะทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน โดยเรายังคงมองว่า โซนแนวรับของเงินบาทจะยังคงอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวต้านยังคงเป็น 34.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงนี้

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มเผชิญแรงขายทำกำไรมากขึ้น หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงผ่านมา นอกจากนี้ บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่เผชิญแรงขายเพิ่มเติม (Amazon -1.5% Alphabet -0.9%) หลังบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 4.00% อีกครั้ง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.27%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ลดลงกว่า -0.89% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH -2.3% Hermes -1.9%) หลังผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทกลุ่มดังกล่าวออกมาไม่สดใสนัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่สะท้อนผ่านภาวะหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตอุตสาหกรรมในหลายประเทศ ทั้งในฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และผลการประชุม BOE ในช่วงปลายสัปดาห์ ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.1 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102-102.4 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวนด์ขึ้นบ้างสู่ระดับ 1,989 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนโดยภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ทั้งนี้ เรามองว่าราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideway จนกว่าตลาดจะรับรู้ทั้งผลการประชุม BOE และรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราประเมินว่า กนง. จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 2.25% ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง รวมถึงความต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ทั้งนี้ เราจะรอติดตามว่า กนง. จะมีการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคตอย่างไรบ้าง โดยหาก กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่สิ้นสุด เราพร้อมปรับมุมมองใหม่ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจบที่ระดับ 2.50%

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ซึ่งอาจช่วยสะท้อนแนวโน้มของยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ได้ และนอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ในช่วงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น