xs
xsm
sm
md
lg

ทริสเผยผลการดำเนินงานแบงก์ครึ่งปีแรกแกร่ง-สินเชื่อยังฝืด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทริส เรทติ้ง ออกบทวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทยหลังประกาศผลการดำเนินงานใน 6 เดือนแรกของปี 66 โดยยังคงแนวโน้ม "คงที่" กำไรโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยในครึ่งแรกของปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นไปตามคาด แม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อจะอ่อนแอ แต่จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ดีขึ้น และเชื่อว่าสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องของระบบที่เพียงพอจะช่วยให้ธนาคารสามารถเผชิญความเสี่ยงด้านสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนได้

สำหรับการเติบโตของสินเชื่อธนาคารจดทะเบียนทั้ง 9 แห่งในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 0.6% นำโดยธนาคารขนาดเล็ก กลุ่มธุรกิจการเงินทิสโก้ (TISCO อันดับเครดิต "A/stable") และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP อันดับเครดิต "A/stable") โดยทั้ง 2 ธนาคารมีการเติบโตประมาณ 5% จากปลายปีก่อน ในส่วนของ TISCO หลังจากการหดตัวของสินเชื่อนับตั้งแต่ปี 2561 ธนาคารพลิกกลับมาเติบโตในปี 2565 โดยได้รับแรงหนุนส่วนใหญ่จากสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อชะลอตัว ในทางกลับกัน KKP ที่ได้เร่งขยายสินเชื่ออย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก แต่ในปีนี้ดูเหมือนว่าธนาคารจะชะลอการปล่อยสินเชื่อใหม่ในกลุ่มดังกล่าวเพื่อหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์มากขึ้น

ในบรรดาธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ (D-SIBS) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY, อันดับ "AAA/stable") เป็นธนาคารเดียวที่รายงานการเติบโตของสินเชื่อที่เหมาะสมที่ 3% YTD แต่ปัจจัยหลักมาจากการรวมบัญชีสินเชื่อผู้บริโภค ธุรกิจการเงินในประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม หากตัดส่วนดังกล่าวการเติบโตของสินเชื่อภายในประเทศจะอยู่ที่เพียง 1% จากสิ้นปีก่อน

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียน 9 แห่งรายงานกำไรสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 2566 รวม 124,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรองแข็งแกร่งเช่นกันโดยสูงถึง 8.265 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยต่อปี (ROA) อยู่ที่ 0.74-2.71% โดย TISCO ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทอื่น แม้สินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่เติบโตต่ำในครึ่งปีแรกแต่ภาพรวมยังแข็งแกร่ง และรายได้จากการดำเนินงานรวมในครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5.09 หมื่นล้านบาท โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้น 19% จากปีก่อน การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของธนาคารส่วนใหญ่อ่อนแอในช่วงเลขหลักเดียว ซึ่งได้รับแรงกดดันจากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่ลดลง โดยอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้เฉลี่ยในปี 2566 อยู่ที่ 43% ลดลงเล็กน้อยจาก 44% ในไตรมาส 2/2565

ด้านตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยภาพรวมสามารถบริหารจัดการได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากมาตรการผ่อยปรน-การปรับโครงสร้างหนี้นับแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 2/26 NPL อยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ที่ 4.99 หมื่นล้านบาท เทียบกับสิ้นไตรมาส 1 ปี 66 และสิ้นไตรมาส 4 ปี 65 และในระยะกลาง เราคาดว่าธนาคารรายใหญ่ส่วนใหญ่จะสามารถจัดการคุณภาพสินทรัพย์และต้นทุนสินเชื่อของตนได้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างครอบคลุมสำหรับเงินให้สินเชื่อที่เหลืออยู่ภายใต้โครงการผ่อนปรน

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 66 ธนาคารที่มี NPL เพิ่มขึ้นได้แก่ KBANK, KKP, LHFG และ TISCO โดย KKP การปรับตัวเพิ่มขึ้นของ NPL เป็นผลมาจากการขยายตัวเชิงรุกในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ด้วยการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่ของ KKP คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์จะค่อยๆ ดีขึ้น ขณะที่ Coverage Ratio ที่สูงของธนาคารไทยตั้งแต่ 140-280% ณ สิ้นไตรมาส 2/66 ช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งสำรองสำหรับธนาคารทั้งหมดได้ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น