นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 ก.ค.) ที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.30 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม ECB และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.40 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนลักษณะ sideway down หรือทยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 34.16-34.32 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าหลุดแนวรับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ หลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ก่อนที่จะเงินบาทจะกลับอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงที่เงินดอลลาร์รีบาวนด์แข็งค่าขึ้นบ้าง หลังถ้อยแถลงประธานเฟดยังสะท้อนว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทในวันก่อนหน้าอาจเริ่มถูกชะลอลงด้วยท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ยังไม่มั่นใจว่า เฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยได้จริงหรือไม่ (เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดได้ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายไปแล้วในการประชุมวันนี้) นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศจะยังคงส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่กล้าเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ทำให้เงินบาทยังขาดแรงหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนเราเริ่มเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้นำเข้า ทำให้เงินบาทอาจไม่แข็งค่าหลุดโซนแนวรับสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (หากแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวอาจแข็งค่าทดสอบระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ได้)
อนึ่ง ควรระมัดระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB เพราะในช่วงนี้ ปัจจัยหนุนเงินยูโร (EUR) อย่างตลาดหุ้นยุโรปเริ่มส่งสัญญาณผันผวน/ย่อตัวลง ทำให้เงินยูโรจะแข็งค่าขึ้นต่อได้ ต้องอาศัยความชัดเจนของประธาน ECB ที่จะย้ำจุดยืนพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ทั้งนี้ เงินยูโรอาจพอได้แรงหนุนจากการรีบาลานซ์สถานะ hedging ของนักลงทุนสถาบัน รวมถึงแรงซื้อเงินยูโรของบรรดาบริษัทเอกชนในช่วงปลายเดือน ซึ่งอาจจะพอช่วยหนุนค่าเงินยูโรไม่ให้อ่อนค่าแรง หาก ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจน พร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก กดดันโดยแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Microsoft -3.4% หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัท นอกจากนี้ ท่าทีของประธานเฟดที่แบ่งรับแบ่งสู้ในประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าฟันธงว่าเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย (จาก CME FedWatch Tool ตลาดยังให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งราว 36%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.02%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาลดลง -0.53% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH -5.2% Dior -4.0%) หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่าผลประกอบการของบริษัทกลุ่มดังกล่าวอาจออกมาไม่สดใสนัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุม ECB ในวันนี้
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก แต่ท่าทีของประธานเฟดที่ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เฟดพร้อมหยุดการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ต่างรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางหลักอื่นๆ ทั้ง ECB และ BOJ ได้ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 3.88% อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 3.85%-3.91% ในช่วงคืนก่อนหน้า) ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้นักลงทุนรอจังหวะบอนด์ยิลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นเพื่อทยอยเข้าซื้อ หลังสัญญาณเศรษฐกิจของบรรดาประเทศหลักๆ ต่างสะท้อนภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้น และทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางใกล้ถึงจุดจบดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นแล้ว
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย +25bps ตามคาด สู่ระดับ 5.25-5.50% ทำให้เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายลักษณะ sell on fact อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์รีบาวนด์ขึ้นมาได้บ้าง หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ หากข้อมูลเศรษฐกิจ/ตลาดการเงินสะท้อนถึงความจำเป็นในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 101 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 100.9-101.3 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าฟันธงว่าบรรดาธนาคารกลางจะถึงจุดจบรอบการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งสะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในลักษณะ sideway/sideway down (สำหรับเงินดอลลาร์) ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,972 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ทั้งนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุม ECB ซึ่งหากไม่มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย และบอนด์ยิลด์ระยะยาวเริ่มปรับตัวลดลง ภาพดังกล่าวอาจหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) +25bps สู่ระดับ 3.75% ทั้งนี้ ตลาดจะรอลุ้นว่า ECB จะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ในการประชุมครั้งถัดไป หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงมาก แม้ว่าจะชะลอลงต่อเนื่องก็ตาม
ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และนอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ในช่วงนี้