xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นกู้ทั้งปี 66 ทะลุ 1 ล้านล้าน เรตติ้ง A ยังขายดี-ไฮยิลด์ลำบาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลพวงหุ้นกู้ "สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น-ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์" ส่อกระทบกลุ่มไฮยิลด์อาจต้องลุ้นเหนื่อย ขณะกลุ่มเรตติ้ง A ยังขายดีเหตุนักลงทุนเชื่อมั่น พบเดือนกรกฎาคมดอกเบี้ยหุ้นกู้สูง 4.60-7.40% ต่อปี ด้านภาพรวมครึ่งปีแรกตลาดหุ้นกู้โต 6.17 แสนล้านบาท คาดทั้งปีมากกว่า 1 ล้านล้านบาท

ผลพวงของหุ้นกู้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) มูลค่ากว่า 9.1 หมื่นล้านบาท กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเฉพาะในตลาดไฮยิลด์ หลังจากการทุจริตภายในบริษัททำให้แทบไม่เหลือเงินในบัญชีมากพอจะจ่ายคืนหนี้หุ้นกู้ได้ หากใครคิดจะปิดตาข้างเดียวว่า “ปลาเน่าแค่ตัวเดียว” ตอนนี้คงต้องปิดตาทั้ง 2 ข้าง เพราะตอนนี้นอกจาก STARK พบว่า บมจ.ช ทวี (CHO) ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มยานยนต์เป็นอีกบริษัทที่ผิดนัดชำระรวม 745 ล้านบาท และล่าสุด บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) จดทะเบียนอยู่ในตลาด mai ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ตามมาติดๆ กับหุ้นกู้ 7 รุ่นรวม 2.33 พันล้านบาท

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การออกหุ้นกู้เพิ่มระดมทุนขยายกิจการของบริษัทจดทะเบียนเริ่มมีปัญหา นั่นเพราะทุกบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจ่ายต้นทุนดอกเบี้ยแพงขึ้น เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นต่อข้อมูลของนักลงทุน อาจทำให้ผู้จัดจำหน่ายและบริษัทมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการขายหุ้นกู้ที่จะออกมาจนทำให้ “ขายไม่หมด”


ดังนั้น เมื่อมีความเข้มข้นในการตรวจสอบ ย่อมทำให้ต้นทุนที่ใช้ในการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะค่าบริการ และค่าทำธุรกรรมต่างๆ ที่บริษัทจดทะเบียนต้องจำใจแบกรับต้นทุนเหล่านี้ไว้ และยังพบว่า ดอกเบี้ยหุ้นกู้ในทุกเรตติ้งได้ขยับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 0.10-0.25% โดยเฉพาะ “หุ้นกู้ไฮยิลด์” หรือหุ้นกู้ประเภทเครดิตเเรตติ้งได้ต่ำ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูง ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มผลตอบแทนสูงเป็นการล่อใจ หลังเห็นสัญญาณว่าขายหุ้นกู้อาจขายไม่หมด เพราะกำลังซื้อถดถอย

สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการสะท้อนเชิงจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นของหุ้นในตลาดทั้งหมด มีความเป็นได้ที่ต่อจากนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่เกิดขึ้นเพียงการเสนอขายหุ้นกู้ที่ยากขึ้น ต้นทุนค่าบริการที่สูงขึ้น แต่อาจรวมไปถึงการขอสินเชื่อแบงก์ การระดมทุนขายหุ้นไอพีโอ ด้วย

มีรายงานว่า ในเดือนกรกฎาคม 2566 มีบริษัทเสนอขายหุ้นกู้จำนวน 13 บริษัท มูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.01 หมื่นล้านบาท ไม่รวม บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) และ บมจ.ธีระมงคล อุตสาหกรรม (TMI) ที่ยังไม่ได้ระบุมูลค่าเสนอขาย โดยบริษัทที่ออกหุ้นกู้มีทั้งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์

สำหรับหุ้นกู้ที่ออกใหม่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 11 เดือนไปจนถึง 4 ปี จ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 3.50% ต่อปี จนถึง 7.40% ต่อปี และส่วนใหญ่ขายให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม มีหุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือจำนวน 8 บริษัท ซึ่งให้อัตราดอกเบี้ยสูง 4.60-7.40% ต่อปี


เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) แสดงความเห็นถึงหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งสูงๆ ระดับ A- ขึ้นไปว่า ยังคงสามารถดึงดูดนักลงทุนและขายได้อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก เช่น บมจ.ดุสิตธานี บมจ.ออริจิ้น หรือ บมจ.ไทยเบฟฯ ฉะนั้นถ้าเป็นหุ้นกู้จากบริษัทที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วยังมั่นใจว่าจะยังได้รับการตอบรับจากที่ดีจากนักลงทุน แต่อาจจะเป็นไปได้ในเรื่องของปริมาณการจองซื้อที่อาจจะลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนไม่ได้คึกคักด้วย

ส่วนกรณีของ STARK แม้ว่าอาจจะไม่ได้สร้างผลกระทบต่อหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งสูงๆ แต่จะส่งผลทำให้หุ้นกู้ในระดับเครดิตเรตติ้งได้ตั้งแต่ BB+ ลงมา รวมไปถึงหุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้งอาจจะขายได้ยากขึ้น

ปัจจุบัน บริษัทที่ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.เพื่อเสนอขายหุ้นกู้ในช่วงที่เหลือของปีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเรตติ้งได้ระดับ BB+ ขึ้นไป และบริษัทที่ดีเป็นที่รู้จัก ไม่นับรวมกลุ่มไฮยิลด์บอนด์และเรตติ้งได้ BB+ ลงมา

โดยการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีมูลค่า 6.17 แสนล้านบาท คิดเป็น 49% ของมูลค่าการออกทั้งปี 2565 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคาร ทั้งนี้ หุ้นกู้ระยะยาวที่ออกในช่วงครึ่งปีแรก เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป (PO : Public Offering) ในสัดส่วน 37% ของยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาว ซึ่งสูงขึ้นจากในปี 2565


ดังนั้น การประมาณการยอดการออกหุ้นกู้ในปี 2566 คาดว่าน่าจะได้เห็นยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ด้วยมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท ประกอบกับส่วนที่จะออกเพื่อทดแทนรุ่นที่ครบกำหนดไถ่ถอนในครึ่งหลังของปี และการออกเพื่อระดมเงินทุนใหม่รวมกันไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท

"ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดทุนนับจากต้นปีไล่มาตั้งแต่ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ บมจ.ช ทวี และ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น ที่มีการผิดชำระหุ้นกู้ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลมากขึ้น แต่เชื่อว่านักลงทุนไม่ได้เหมารวมว่าหุ้นกู้ทุกตัวจะแบบ STARK เพราะจะเห็นได้ว่า STARK เป็นการกระทำที่ผิดปกติ มีการตกแต่งบัญชี ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะบริษัท ซึ่งนักลงทุนจะต้องแยกแยะเป็นรายบริษัทและศึกษาเพิ่มมากขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุน" ดร.สมจินต์กล่าว

ส่วนมูลหุ้นกู้คงค้างที่มีปัญหาในช่วงก่อนโควิด-19 หรือในช่วงปี 2563 มูลค่า 14,401 ล้านบาท โดย Default จำนวน 5 บริษัท มูลค่า 12,874 ล้านบาท และอยู่ระหว่างขอผ่อนผันอีก 2 บริษัท มูลค่า 12,874 ล้านบาท


ขณะเดียวกัน มูลค่าหุ้นกู้คงค้างที่มีปัญหา ล่าสุด ณ วันที่ 5 ก.ค.2566 มีหุ้นกู้ Default จำนวน 6 บริษัท มูลค่ารวม 2.36 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้ที่อยู่ระหว่างขอผ่อนผันอีก 14 บริษัท มูลค่า 1.33 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 3.7 หมื่นล้านบาท หรือไม่เกิน 1% อยู่ในระดับต่ำของมูลค่า NPL ซึ่งมองว่าไม่น่าเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ และส่วนที่เข้าสู่แผนพื้นฟู จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.การบินไทย (THAI) บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) บมจ.ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (RICH) มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ พบว่าจะมีหุ้นกู้เอกชนที่จะครบกำหนดในช่วงที่เหลือของปีนี้อยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นครบกำหนดไตรมาส 3 มูลค่า 1.7 แสนล้านบาท และไตรมาส 4 มูลค่า 1.56 แสนล้านบาท โดยหากดูประเภทของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดพบว่า 90% ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในครึ่งปีหลังอยู่ในกลุ่มที่มีเครดิตเรตติ้งได้ที่ดี (Investment grade) โดยเป็นหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งตั้งแต่ A ขึ้นไปราวคิดเป็น 73% หรือ 2.4 แสนล้านบาท และเป็นหุ้นกู้เรตติ้งระดับ BBB อยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท หรือ 17% และหุ้นกู้ที่เรตติ้งต่ำกว่า BBB- อีกราว 1.1 หมื่นล้านบาท หรือราว 4% และสุดท้ายคือหุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้งได้ 2 หมื่นล้านบาท ที่คิดเป็นราว 6% ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในครึ่งปีหลังนี้

อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดและเตรียมออกเสนอขายเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม (Roll over) เชื่อว่าหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งที่ดี ตั้งแต่ A ขึ้นไป จึงเชื่อว่าอาจไม่มีปัญหาในการระดมทุน ทั้งการ Roll over หรือการออกตราสารหนี้ใหม่ แต่หุ้นกู้ที่มีเรตติ้งตั้งแต่ BBB ลงมา กลุ่มนี้อาจระดมทุนได้ยากขึ้นหากเทียบกับก่อนหน้านี้ เนื่องจากภาวะตลาดปัจจุบันไม่เอื้อ อีกทั้งนักลงทุนกังวล จากกรณี STARK ที่ผิด นัดชำระหนี้ (Default) ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนบางกลุ่มได้

นอกจากนี้ อาจกระทบต่อหุ้นกู้ที่เตรียมจะระดมทุนใหม่ด้วย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตเพื่อออกหุ้นกู้ ราว 3.5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง ไฮยิลด์ที่อาจระดมทุนยากขึ้น


ส่วนฝั่งผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ ล่าสุด “สุรศักดิ์ บุณยะชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคพีเอ็ม จำกัด หรือ KPM Securities กล่าวว่า ในไตรมาส 2/66 บริษัทได้เสนอขายหุ้นกู้แก่ผู้ลงทุนไปแล้วมากกว่า 2 พันล้านบาท สะท้อนภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อตัวบริษัทได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ มีรายงานว่าแนวโน้มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ประเมินว่าจะขยายตัวในกรอบบางๆ อยู่ที่ 0.5-2% หรือมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4.78 ล้านล้านบาท จากปี 2565 ที่มีอัตราการเติบโต -2.6% หรือยอดคงค้างอยู่ที่ 4.71 ล้านล้านบาท

"หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นในระยะข้างหน้า ภาคธุรกิจคงกลับมาขอสินเชื่อมากขึ้น ส่วนความเข้มงวดเรื่องปล่อยสินเชื่อมองว่าถ้าเศรษฐกิจยังไม่เอื้อและมีความเสี่ยง ธนาคารต้องระมัดระวังมากขึ้น"


อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวในไตรมาสที่ 2/66 เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว และภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมีผลต่อความต้องการบริโภคที่ลดลง ประกอบกับลูกค้าที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ระดับสูงจะระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มากขึ้น

ขณะที่ กรณี STARK นั้นภาคธนาคารเชื่อว่าไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ปกติจะพิจารณาครอบคลุมเรื่องวัตถุประสงค์ ความสามารถในการชำระหนี้ และประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ หากลูกค้ามีความเสี่ยงต้องบริหารร่วมกับลูกค้าให้อยู่ในกรอบมาตรฐานของธนาคาร

มีรายงานว่า สถานการณ์ของธุรกิจรายใหญ่ภายใต้การส่งออกชะลอตัว และทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้คาดว่าในแง่สินเชื่อรายใหญ่ของระบบ ธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะทรงตัว หรือหดตัวเล็กน้อย เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ลูกค้ารายใหญ่ที่มีเรตติ้งค่อนข้างดีหันไปออกตราสารหนี้ เช่น กลุ่มเรตติ้งที่มีระดับ มีศักยภาพ (investment grade) ระดับ A เป็นต้น ดังนั้นกลุ่มเหล่านี้มีสัดส่วนในการออกตราสารหนี้มากกว่าการใช้สินเชื่อของสถาบันการเงิน

สำหรับหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนที่กำลังเปิดจำหน่าย ณ ขณะนี้ได้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TURE) เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ เป็นครั้งแรกภายหลังการควบรวมทรูและดีแทค โดยบริษัทและหุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A+ แนวโน้ม "คงที่" (Stable) จำนวน 4 ชุด อายุหุ้นกู้ตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ระหว่าง 3.35-4.50% ต่อปี โดยคาดเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 20-21 และวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 โดยมีธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ซีไอเอ็มบี ไทย และทหารไทยธนชาต เป็นผู้จัดจำหน่าย และมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้


ด้าน บมจ.วิลล่า คุณาลัย (KUN) เสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/66 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 อายุ 2 ปี 9 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 7.10% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 1,000 บาท ราคาเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท จำนวนเสนอขายไม่เกิน 200,000 หน่วย มูลค่าไม่เกิน 200,000,000 บาท

สำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้อยู่ที่ระดับ "BB" แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" โดยบริษท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ บริษัทจะเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่าย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) บลูเบลล์ จำกัด โดยมีระยะเวลาการเสนอขาย วันที่ 15-17 สิงหาคม 2566

นอกจากนี้ บมจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) เตรียมออกหุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 2/66 จำนวน 2 ชุด มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 1,000 บาท ราคาเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท มูลค่าเสนอขาย 8 ล้านหน่วย คิดเป็น 8 พันล้านบาท และหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติม 2 ล้านหน่วย คิดเป็น 2,000 ล้านบาท รวมจำนวนเสนอขายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท โดยระยะเวลาการเสนอขายวันที่ 20-21 และ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2566

ด้าน บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (DOD) เตรียมออกหุ้นกู้มีประกัน ครั้งที่ 1/66 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2567 ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 7.00 ต่อปี อายุ 1 ปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ จำนวนเสนอขายไม่เกิน 100,000 หน่วย มูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองไม่เกิน 20,000 หน่วย มูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท รวมจำนวนเสนอขาย ไม่เกิน 120,000 หน่วย มูลค่าไม่เกิน 120 ล้านบาท ระยะเวลาจองซื้อระหว่างวันที่ 8-10 ส.ค.66

ขณะที่ บมจ.ศรีสวัสดิ์แคปปิตอล 1969 (SCAP) เสนอขายหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีมูลค่าตราไว้หน่วยละ 1,000 บาท ราคาเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท ประกอบด้วย ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568 (หุ้นกู้ชุดที่ 1) อายุ 1 ปี 6 เดือน และมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.75-4.00% ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้

ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 (หุ้นกู้ชุดที่ 2) อายุ 3 ปี และมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.50-4.70% ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ โดยมีระยะเวลาการจองซื้อ 3-4 และ 7 สิงหาคม 2566 สำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ "BBB+" แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น